เปิดข้อมูล 'การแข่งขัน E-commerce' ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ไตรมาส 3/2021

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ม.ค. 2565 | อ่านแล้ว 13238 ครั้ง

บริษัท iPrice Group รวบรวมเนื้อหาบางส่วนมาจากรายงาน e-Conomy SEA 2021 ของ Google, Temasek และ Bain & Company  ซึ่งเป็นรายงานวิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่กับข้อมูลบางส่วนจากงานวิจัย Map of E-commerce ของ iPrice Group ซึ่งมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ  ‘Shopee’ ยืนหนึ่ง ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ชาวมาเลเซีย เวียดนาม และไทย เข้าชมเว็บไซต์สูงสุด,  นักช้อปไทยมีส่วนร่วม (Engagement) ต่อโพสบน Facebook ของร้านค้าอีคอมเมิร์ซ ‘น้อย’ ที่สุด, ชาวไทย ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลสูงสุดใน SEA (ไม่รวมสิงคโปร์) และ ปี 2021 ฟิลิปปินส์ คือประเทศที่มีมูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นสูงสุดใน SEA

นับตั้งแต่ไวรัส COVID-19 ระบาดไม่จบสิ้น จวบจนตอนนี้เริ่มมีมาตราการผ่อนปรนให้สามารถ เดินห้างสรรพสินค้า นั่งร้านอาหารได้ปกติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนยังผูกติดกับการซื้อสินค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็วในสภาวะไวรัสระบาดนี้เช่นกัน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2021, iPrice Group บริษัทวิจัยการตลาด และเปรียบเทียบราคาสินค้าออนไลน์ ได้อัพเดตข้อมูลงานวิจัย The Map of E-commerce หรือสงครามอีคอมเมิร์ซ ที่รวบรวมข้อมูลจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์, อันดับการใช้งานแอพพลิเคชั่น และจำนวนผู้ติดตามบนโลกโซเชียล ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม - กันยายน ปี 2021 จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้ง 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย ซึ่งไฮไลท์สำคัญของตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และเวียดนาม มีดังนี้ 

‘Shopee’ ยืนหนึ่ง ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ชาวมาเลเซีย เวียดนาม และไทย เข้าชมเว็บไซต์สูงสุด

Shopee ได้ก้าวมาเป็นร้านค้าขวัญใจนักช้อปชาวไทย และตลาดเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย และเวียดนาม) จากการเปรียบเทียบร้านค้าอีคอมเมิร์ซประเภททั่วไปทั้งหมดบนงานวิจัย Map of E-commerce ในไทย, มาเลเซีย และเวียดนาม พบว่าส่วนแบ่งการตลาดของ Shopee ในมาเลเซียสูงถึง 71% ในขณะที่ตลาดไทย และเวียดนามมีส่วนแบ่งการตลาดเท่ากันที่ 57% 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ร้านค้าอีคอมเมิร์ซทั่วไปในเวียดนามดูจะมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น นอกเหนือจากสามอันดับแรกที่หยิบยกมาข้างต้น  ร้านค้าอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ในเวียดนามยังมีส่วนแบ่งการตลาดอีกกว่า 14% ในขณะที่ตลาดไทยมีเพียง 6% 

การศึกษาข้อมูล 
iPrice Group ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ทั้ง 3 ประเทศจาก SimilarWeb โดยใช้การจัดอันดับร้านค้าอีคอมเมิร์ซจากงานวิจัย Map of E-commerce (สงครามอีคอมเมิร์ซในแต่ละประเทศได้แก่ มาเลเซียไทย และเวียดนาม ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2021 (กรกฎาคม - กันยายนโดยเน้นร้านค้าประเภททั่วไปเท่านั้น และวิเคราะห์ส่วนแบ่งการตลาดจากผลรวมผู้เข้าชมเว็บไซต์ของร้านค้าประเภททั่วไป 

นักช้อปไทยมีส่วนร่วม (Engagement) ต่อโพสบน Facebook ของร้านค้าอีคอมเมิร์ซ ‘น้อย’ ที่สุด 

โลกโซเชียลคืออีกช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายและมีส่วนร่วม (Engagement) แสดงความเห็นโพสต่าง ๆ ซึ่งสามารถวัดความนิยมว่าตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไหนได้รับความนิยมสูงสุด 

จากการเก็บข้อมูลจำนวนการมีส่วนร่วมต่อโพสบน Facebook ร้านค้าอีคอมเมิร์ซชั้นนำ 3 อันดับแรกของตลาดอีคอมเมิร์ซในมาเลเซีย, เวียดนาม และไทย  พบว่านักช้อปชาวไทยมีส่วนร่วมของโพสต่อร้านค้าอีคอมเมิร์ซน้อยที่สุดเพียง 20 % แม้จำนวนผู้ติดตามบน Facebook เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย และไทย) มีจำนวนไล่เลี่ยกัน ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่กดติดตามเพื่อรับข่าวสาร อาทิ โปรโมชั่น และส่วนลดที่น่าสนใจเท่านั้น 

ในทางกลับกัน มาเลเซีย เป็นประเทศที่นักช้อปมีส่วนร่วมต่อโพสบน Facebook สูงสุดถึง 44% คาดเพราะเพจบน Facebook ของ Shopee, Lazada และ PG Mall สื่อสารภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งมีผลต่อการมีส่วนร่วมแก่นักช้อปต่างชาติในประเทศมาเลเซียด้วย 

การศึกษาข้อมูล   
iPrice Group ได้รวบรวมข้อมูลการมีส่วนร่วมต่อโพสบนแพลตฟอร์ม Facebook โดยใช้คำค้นหาเป็นชื่อร้านค้าอีคอมเมิร์ซ 3 อันดับแรก (ร้านค้าทั่วไปของแต่ละประเทศได้แก่ มาเลเซียไทย และเวียดนาม ข้อมูลทั้งหมดอ้างอิงจากการที่ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมต่อโพส เช่น ‘แสดงความคิดเห็น’, ‘ถูกใจ’, ‘ว้าว’ , ‘รักเลย’, ‘ฮ่าฮ่า’, ‘เศร้า’ และ ‘โกรธ’ บน Facebook ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา (15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 – 2021) 

ชาวไทย ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลสูงสุดใน SEA (ไม่รวมสิงคโปร์)

วิถีแบบ ‘New Normal’ คือปัจจัยหลักที่เพิ่มขึ้นของจำนวนการใช้งานแพลตฟอร์มดิจทัลในภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องกับ รายงานของ Google, Temasek และ Bain & Company หากนำตัวเลขผู้ใช้งานมาเปรียบเทียบจะเห็นว่า คนไทยมีการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลสูงสุดในภูมิภาคถึง 89.99% 

แบ่งอัตราส่วนเป็นก่อนการแพร่ระบาด 73.7%, ช่วงแพร่ระบาดจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2021  อีก 16.2% และผู้ที่ไม่ได้ใช้งานเพียง 10.1% โดยการเปรียบเทียบนี้จะไม่รวมประเทศสิงคโปร์เพราะจำนวนประชากรมีจำกัด ซึ่งดูจะเป็นเรื่องปกติสำหรับการช้อปปิ้งออนไลน์ 

ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘เทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น’ บวกกับความสะดวกสบาย เป็นเหตุทำให้ผู้คนหันมาใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะเน้นการช้อปสินค้าทั่วไป (65%), สินค้าเพื่อสุขภาพ และความงาม (62%), เสื้อผ้า (60%) และอิเล็กทรอนิกส์ (53%) นอกเหนือจากแพลตฟอร์มที่อ้างอิงข้างต้น จะมีในส่วนของการขนส่งอาหาร (64%), วิดีโอ (54%), และดนตรี (51%) 

ที่มา: Google-commissioned Kantar SEA e-Conomy Research 2021.  

หมายเหตุ: 'ผู้ใช้งานก่อนการแพร่ระบาด' หมายถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ชําระค่าบริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งบริการผ่านช่องทางดิจิทัลก่อนมี.ค. 2563 'ผู้ใช้งานรายใหม่ปี 2563' เริ่ม ชําระค่าบริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งบริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นครั้งแรกระหว่างมี.ค.-ธ.ค. 2563 'ผู้ใช้งานรายใหม่ครึ่งปีแรกของปี 2564' เริ่มชําระค่าบริการออนไลน์อย่างน้อย หนึ่งบริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างน้อย 1 รายการตั้งแต่ม.ค. 2564 เป็นต้นไป 

ปี 2021 ฟิลิปปินส์ คือประเทศที่มีมูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นสูงสุดใน SEA

COVID-19 ถือว่าป็นช่วงกอบโกยของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ด้วยมูลค่าธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Google, Temasek และ Bain & Company พบว่าฟิลิปปินส์ คือประเทศที่มีมูลค่าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึง 132% (เปรียบเทียบระหว่างปี 2020 - 2021) รองลงมาคือไทย และมาเลเซียที่มีมูลค่าเติบโตเท่ากันที่ 68% ตามมาด้วยเวียดนาม 53%, อินโดนีเซีย 52% และสิงคโปร์ 45%

มากไปกว่านั้น รายงานยังมีการคาดการณ์มูลค่าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2025 โดยประเทศ 3 อันดับแรกที่คาดว่ามีมูลค่าเติบโตมากสุด คือเจ้าประจำอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยปัจจัยประชากรที่มากกว่าประเทศอื่น ๆ เป็นข้อได้เปรียบในเชิงจำนวนผู้บริโภคมากที่สุด ถัดมาคือ เวียดนาม คาดจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่มีทั้งร้านค้าอีคอมเมิร์ซเจ้าถิ่น และต่างถิ่นแข่งขันกันอย่างร้อนระอุ สุดท้ายคือ ไทย คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นไปที่ 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

การศึกษาข้อมูล
iPrice Group ได้นำเสนอข้อมูลรายงานจากบริษัท Bain ในรายงาน e-Conomy SEA 2021 ของ Google, Temasek และ Bain & Company
เก็บข้อมูล เขียน และเรียบเรียงโดย อัดนาน ปูตีลา

*หมายเหตุ: รายงานชิ้นนี้บริษัท iPrice Group ประเทศมาเลเซีย ได้ส่งข้อมูลให้กองบรรณาธิการ TCIJ เผยแพร่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: