ถอดบทเรียน 3 โมเดลต้นแบบใช้ HIA ประเมินผลกระทบสุขภาพ สร้างสมดุล ‘ชีวมวล-แซนด์บ็อกซ์-เหมืองหิน’

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 2439 ครั้ง

ถอดบทเรียน 3 โมเดลต้นแบบใช้ HIA ประเมินผลกระทบสุขภาพ สร้างสมดุล ‘ชีวมวล-แซนด์บ็อกซ์-เหมืองหิน’

เปิดวง HIA Forum แลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” ดึงภาคีเครือข่าย 3 พื้นที่ร่วมถอดบทเรียนการใช้เครื่องมือ HIA ที่ได้ผลสำเร็จ ทั้งประเด็นโรงไฟฟ้าชีวมวลอีสาน-ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์-เหมืองหินตรัง ส่งผลให้สุขภาพ-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อมของชุมชนได้รับการดูแลควบคู่โครงการพัฒนา

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ.2565 ภายใต้หัวข้อ “HIA สู่การสร้างสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค. 2565 ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ คือเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของภาคีเครือข่ายในระดับต่างๆ (Best Practice) จากภาคีเครือข่ายหลายพื้นที่ ที่มีการสะท้อนถึงการดำเนินงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากกิจกรรม โครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชน จนได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี

ผศ.ดร.วลัญช์ชยา เขตบำรุง นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตรกุล เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานรวม 20 จังหวัด รวมทั้งภาควิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคอีสาน และหน่วยงานท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้อง ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) หลังจากเกิดข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ เพื่อขอใช้สิทธิในการคุ้มครองสุขภาพ และพัฒนานโยบายสารณะจากชุมชน เพื่อนำไปสู่การผลักดันเป็นข้อเสนอนโยบายระดับชาติ

ทั้งนี้ ข้อค้นพบของภาคประชาชนและภาควิชาการ ที่ร่วมกันประเมินกิจกรรมดังกล่าวที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน พบว่าการอนุมัติ อนุญาตให้มีโรงไฟฟ้าชีวมวล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูลรายงาน HIA อีกทั้งยังพบว่าไม่มีการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่คณะกรรมการติดตามทิศทางและเฝ้าระวังตรวจสอบผู้ที่ได้รับผลกระทบ ยังมีสัดส่วนที่น้อย อาจส่งผลให้ไม่เกิดการติดตามผลกระทบของกิจกรรมที่เกิดขึ้น

ผศ.ดร.วลัญช์ชยา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่ภาคประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันตกผลึก มีประเด็นสำคัญคือ ขอให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (SEA) และการวิเคราะห์ทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน อีกทั้งยังขอให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิในการนำเสนอรายงาน HIA และการประเมินผลกระทบสุขภาพในระดับชุมชน (CHIA) ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) นำรายงานนั้นมาประกอบการพิจารณา

“ผลของความเห็นจากภาคชุมชน นำไปสู่การขับเคลื่อนที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ประชุมเมื่อปี 2563 และมีมติให้ประสานหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย ให้เกิดการติดตามและประเมินผลข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยไม่ต้องรอกระบวนการสมัชชาเฉพาะประเด็น เนื่องจากกิจกรรมและโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างมาก” ผศ.ดร.วลัญช์ชยา กล่าว
ดร.ศิริพร เพ็งจันทร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในส่วนของการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลดำเนินการเปิดพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต เป็นเวลา 120 วันในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อกลางปี 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการของภาคธุรกิจในพื้นที่ ที่เห็นว่าหากปล่อยให้ จ.ภูเก็ต มีความซบเซาไปมากกว่านี้ จะกระทบห่วงโซ่เศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลัก

อย่างไรก็ตาม หลังกิจกรรมในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ได้มีการประเมิน HIA และผลกระทบทุกด้านที่เกิดขึ้น ทั้งประเด็นผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และด้านอื่นๆ ซึ่งจากการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การประเมินในแง่บวกพบว่า มีรายได้จากการท่องเที่ยวในโครงการนี้สูงถึง 4,260 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้ 435 ล้านบาท แต่ทั้งนี้การพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสุง อาจะส่งผลให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในพื้นที่ได้รับอานิสงส์อยู่ฝ่ายเดียว แต่ผู้ประกอบการรายเล็กไม่ได้ประโยชน์ เพราะมีประชาชนเพียง 27% ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ

“จึงทำให้เกิดวลีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็กในภูเก็ต มองว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้า เนื่องจากคนในระดับชุมชน รวมถึงธุรกิจตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้ประโยชน์จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อย่างทั่วถึง จึงเหมือนกับว่าโครงการนี้ได้ทิ้งคนไว้ข้างหลัง” ดร.ศิริพร กล่าว
ดร.ศิริพร กล่าวว่า นอกจากนี้ตามเงื่อนไขของรัฐบาลที่กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงแรมเข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต้องจดทะเบียนผ่าน SHA+ ที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงปลอดภัยด้านสุขอนามัย จากสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว แต่ปัญหาคือโรงแรมจำนวนมากไม่อยู่ในระบบทะเบียน อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยังทำหน้าที่เสมือนบุรุษไปรษณีย์ ที่ทำหน้าที่รับนโยบายจากส่วนกลางมาปฏิบัติ แต่ขาดการจัดการ การตัดสินใจในสถานการณ์ที่เหมาะสมของพื้นที่

ดร.ศิริพร กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนในพื้นที่จากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คือควรดำเนินการให้ จ.ภูเก็ต มีความปลอดภัย และที่สำคัญคือต้องกระจายรายได้ให้ถึงมือทุกคน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคม หรือมีแนวทางสนับสนุนท้องถิ่น ธุรกิจชุมชนต่างๆ ให้เชื่อมร้อยมายังภาคการท่องเที่ยวที่เป็นภาพใหญ่ของ จ.ภูเก็ต

ด้าน นายปิยะ วันเพ็ญ จากมูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งแห่งเอเชีย กล่าวว่า การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน กรณีเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเหมืองหินบริเวณเทือกเขาควนเหมียง ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้เป็นการประเมิน CHIA ที่เหมืองหินบริเวณเทือกเขาควนเหมียง ต.ปากแจ่ม อย่างมีส่วนร่วม โดยถูกวางเอาไว้ให้ครอบคลุมการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1. ผลกระทบด้านสุขภาพ 2. ผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรม 3. ผลกระทบของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ 4. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังมีความขัดแย้งของชุมชนเกิดขึ้นด้วย เพราะมีทั้งกลุ่มเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับอุตสาหกรรมเหมืองหิน

ทั้งนี้ หลังการประเมินทำให้พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ควรปกป้องและอนุรักษ์ อาทิ พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 26 ชนิด และยังมีบางสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น ค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณ หรือนอกจากนี้ยังมีการค้นพบพันธุ์พืชอีก 229 ชนิด และยังมีพืชพันธุ์ที่พบครั้งแรกในโลกอีก 4 ชนิด ซึ่งขณะนี้มีการยืนยันอย่างทางการแล้ว 2 ชนิดอีกด้วย รวมไปถึงการค้นพบแหล่งโบราณคดีถึง 35 แห่งในระยะเวลา 4 เดือนที่ได้ทำการสำรวจ และที่สำคัญแหล่งโบราณคดีบางแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ประกาศแหล่งหินเพื่อการอุตสาหกรรมด้วย โดยหลักฐานดังกล่าวทำให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ของพื้นที่ ซึ่งทุกฝ่ายต้องยอมรับด้วยกัน

“เราพบอะไรต่างๆ ในชุมชนมากมายที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ของชุมชนได้ ซึ่งท้องถิ่นมีความเข้มแข็งอย่างมากต่อการผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ อีกทั้งภาคเอกชนก็ต้องยอมรับข้อมูลเรื่องของชุมชนด้วย จึงนำไปสู่การถอนขออนุญาตสัมปทานเหมืองหินที่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยในพื้นที่ เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าชุมชนมีความสำคัญ ซึ่งท้ายสุดทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ และแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้ด้วย” นายปิยะ กล่าว

นายปิยะ กล่าวอีกว่า กระนั้นการดำเนินการต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ภาคีเครือข่ายได้เห็นตรงกันว่า นอกเหนือไปจากการอนุรักษ์ทรัพยากรและมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ควรเสริมการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน โดยให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมเป็นเป้าหมายที่จะสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: