เปิดเวทีประชุม ‘HIA Forum’ 2565 ผนึกกำลัง ‘ท้องถิ่น-วิชาการ-ชุมชน’ ร่วมขับเคลื่อนสุขภาพประชาชนยั่งยืน

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 1968 ครั้ง

เปิดเวทีประชุม ‘HIA Forum’ 2565 ผนึกกำลัง ‘ท้องถิ่น-วิชาการ-ชุมชน’ ร่วมขับเคลื่อนสุขภาพประชาชนยั่งยืน

เปิดประชุมวิชาการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ “HIA Forum” ปี 2565 ชูเป็นกลไกสำคัญตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ช่วยดูแลสุขภาพคนไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน ด้านวงเสวนาตอกย้ำบทบาทท้องถิ่น ผนึกพลังทางวิชาการ ร่วมยกระดับพัฒนาสุขภาวะคนในสังคมได้อย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ.2565 ภายใต้หัวข้อ “HIA สู่การสร้างสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค.2565 ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษและเปิดการประชุม

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ทำให้เกิดนโยบายสาธารณะจากภาคประชาชน เข้ามาผลักดันการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศมากมาย รวมถึงกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment (HIA) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเกิดการสนับสนุนและดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพอย่างครอบคลุม

“ต้องขอสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน HIA และเชื่อมั่นว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมพลังสร้างเครือข่ายทางสุขภาพที่มีความสมานฉันท์ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของประชาชน และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุม HIA Forum ถูกจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ พร้อมพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายและบุคลากรของหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้การขับเคลื่อน HIA ของไทยมีการพัฒนาให้กว้างขวางมากขึ้น และเป็นโอกาสในการสนับสนุนการขับเคลื่อน หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2564 ซึ่ง คสช. ได้ประกาศใช้เมื่อเดือน พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ให้เกิดพลังผลักดันไปสู่การปฏิบัติ ผ่านการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายต่างๆ ต่อไปในอนาคต

สำหรับการจัดประชุมวิชาการนี้ มีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ จากการปฏิบัติการ HIA และงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทเรียนการดำเนินงานในระดับต่างๆ 2. เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการใช้ HIA ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการในระดับต่างๆ 3. เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่าย HIA ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประสานงาน และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

“ตลอดระยะเวลา 15 ปีของการขับเคลื่อน HIA ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ HIA เติบโตขึ้นในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ในการประเมินหรือคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรม รวมทั้งสร้างทางเลือกและประเมินทางเลือกในการลดผลกระทบทางลบ เพิ่มผลกระทบทางบวก อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นผลดีต่อสุขภาวะของผู้คนและสังคมในระยะยาว นับเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามพันธะที่ประเทศไทยมีต่อองค์การสหประชาชาติ” นพ.ประทีป กล่าว

ศ.ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ขอนแก่น ในฐานะประธานอนุกรรมการจัด HIA Forum กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะฯ ได้มีความร่วมมือกับ สช. และเครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Consortium) ทั้งในภาคอีสาน และภูมิภาคต่างๆ ในการร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อน HIA ทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ การจัดการงานวิจัย การสนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านการทำ HIA ตลอดจนส่งเสริมการนำกระบวนการ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในระดับต่างๆ

ศ.ดร.วงศา กล่าวว่า การสนับสนุนการดำเนินงาน HIA ที่ผ่านมา ได้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น การศึกษาประเด็นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ จนสามารถยกระดับเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน ซึ่งได้นำเสนอต่อ คสช. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาควิชาการ ในการใช้องค์ความรู้สนับสนุนการดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชน

“ผู้บริหาร บุคลากรของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ จะเข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ โดยใช้ HIA เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบสุขภาพ และสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน จึงยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ ม.ขอนแก่น ได้รับเกียรติจากภาคี HIA Consortium ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้” ศ.ดร.วงศา กล่าว

ขณะที่ นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง “โอกาสและความท้าทาย: ทิศทางการขับเคลื่อน HIA ของหน่วยงาน ภาคียุทธศาสตร์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้หลักเกณฑ์ HIA ฉบับที่ 3” ระบุว่า ได้ประสานความร่วมมือ และบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในด้านบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยมุ่งไปที่ประเด็นการแก้ไขปัญหา 5 ด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ด้านสาธารณสุข 2. ด้านการศึกษา 3. ด้านรายได้ของประชาชน 4. การใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ และ 5. ด้านการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ซึ่งทุกด้านจะให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุข เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต และสุขภาวะของประชาชนในทุกด้าน และงานด้านสาธารณสุขยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ สถ. และของประเทศ ที่จะสร้างความมั่นคงทางสุขภาวะให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

“การแก้ปัญหาสุขภาพในชุมชน จะแก้ได้ตรงกับปัญหามากที่สุดก็ต้องเป็นประชาชนในพื้นที่ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้วย ซึ่งที่ผ่านมา สช. มีแนวทางการขับเคลื่อนและมีเครื่องมือในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนตัดสินใจนโยบายต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน โดยในส่วนของ สถ. ยังได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ นำองค์ความรู้ทางวิชาการมาปรับใช้ สร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน รวมถึงนำงานวิจัยไปสร้างประโยชน์ในด้านการดูแล การบริการสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม” นายกิตติพงษ์ กล่าว

ด้าน นายสมชาย ตู้แก้ว ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้วางแนวทางการดูแลสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยใช้กลไกเชื่อมโยงการทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งวางยุทธศาสตร์ดูแลสุขภาพไว้ที่ อปท. ที่เป็นหน้าด่านสำคัญของการดูแลประชาชน โดยกรมอนามัยทำหน้าที่สนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อไปดำเนินการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน

“ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมอนามัยและ สถ. ได้ขยายความร่วมมือและร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกลุ่ม ทุกวัย และทุกท้องถิ่น โดยมีความร่วมมือเกิดขึ้นหลายด้าน อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่นด้วยกัน การร่วมกันพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพมากขึ้น รวมถึงพัฒนาความรู้ความเข้าใจของประชาชน” นายสมชาย กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: