จับตา: ประสิทธิผลวัคซีน COVID-19 ใช้จริงในไทยช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ก.พ. 2565 | อ่านแล้ว 2926 ครั้ง


เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุขในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรคกล่าวว่าการประเมินประสิทธิผลใช้จริงของวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลระดับประเทศ และเชียงใหม่ โดยดำเนินการศึกษาในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ และตรวจสอบว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ติดเชื้อมีประวัติรับวัคซีนเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่ติดเชื้อมีประวัติรับวัคซีนและอาการรุนแรงอย่างไร

ผลเบื้องต้น ประสิทธิผลใช้จริงระดับประเทศช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และปลาย ธ.ค. 2564 ที่เจอสายพันธุ์โอมิครอนเล็กน้อย พบว่า

- ผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 65 % ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 88 %
- ผู้ที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 94 % ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 98 %

เมื่อแยกเป็นรายเดือน พบว่า

- ก.ค. 2564 ฉีด 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 81 % ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 89% ฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 82%
- ส.ค. 2564 ฉีด 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 69 % ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 89% ฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 97% ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 94%
- ก.ย. 2564 ฉีด 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 64% ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 88% ฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 95% ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 98%
- ต.ค. 2564 ฉีด 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 59% ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 89% ฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 92% ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 99 %
- พ.ย. 2564 ฉีด 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 57% ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 88% ฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 92%
- ธ.ค. 2564 ฉีด 2 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 50% ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 79% ฉีด 3 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 90% ป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย 96%

“ภาพรวมจะเห็นว่าในผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม การป้องกันติดเชื้อในช่วง ก.ค.-ธ.ค. จะลดลงจาก 81% เหลือ 50% ส่วนป้องกันป่วยรุนแรง/ตาย ลดลงเล็กน้อยจาก 89% เหลือ 79% ซึ่งการฉีด 2 เข็มจะเห็นว่าอาจป้องกันติดเชื้อได้สูงในช่วงแรก แต่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง กรณีป้องกันป่วยรุนแรงยังดีต่อเนื่อง ส่วนการฉีดเข็ม 3 การป้องกันติดเชื้อ ยังสูงต่อเนื่องเกือบ 90% ส่วนป้องกันป่วยรุนแรง/ตายยังสูงต่อเนื่อง 94-96% ซึ่งเป็นข้อมูลวัคซีนของประเทศไทย ตามสูตรที่สธ.แนะนำ” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวอีกว่าสำหรับผลเบื้องต้นประสิทธิผลใช้จริงวัคซีนโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นข้อมูลการศึกษาใน จ.เชียงใหม่ ที่เผชิญการระบาดช่วง ต.ค.-พ.ย. 2564 และคุมได้ในเดือน ธ.ค. 2564 และ ม.ค. 2565 ระบาดใหม่ส่วนใหญ่เป็นโอมิครอนโดยเปรียบเทียบกับช่วงที่เดลตาระบาด ต.ค.-ธ.ค. 2564 และโอมิครอนช่วง ม.ค. 2565 ในแง่ประสิทธิผลวัคซีน พบว่า

- ฉีด 2 เข็ม ต.ค.-ธ.ค. 2564 ช่วงเดลตา ป้องกันติดเชื้อ 71% ป้องกันเสียชีวิต 97% แต่ในเดือน ม.ค.2565 ช่วงโอมิครอน ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เลยหรือเป็น 0% ป้องกันเสียชีวิตได้ 89%
- ฉีด 3 เข็ม ต.ค.-ธ.ค. 2564 ช่วงเดลตาระบาด ทุกสูตรตามคำแนะนำของ สธ.ทั้งซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย แอสตร้าฯ, ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์, ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์, สูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย แอสตร้าฯ และแอสตร้าฯ 2 เข็มกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ 93% ป้องกันเสียชีวิต 99%

ช่วง ม.ค.2565 ช่วงโอมิครอนระบาด ป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉลี่ยทุกสูตรไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 68% แยกเป็น

- ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อ 78%
- ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ 63%
- ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ 66%
- ไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย แอสตร้าฯ ป้องกันติดเชื้อ 68%
- แอสตร้าฯ 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไฟเซอร์ ป้องกันติดเชื้อ 62%
- ป้องกันเสียชีวิตทุกสูตร 96%

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวอีกว่าโดยสรุปวัคซีนครบ 2 เข็มขึ้นไป มีประสิทธิผลป้องกันต่อการป่วยรุนแรง/การเสียชีวิตได้สูงมากต่อเนื่อง ส่วนประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และไม่เพียงพอที่จะป้องกันต่อการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จำเป็นต้องฉีดเข็ม 3 กระตุ้น ส่วนการฉีดเข็ม 3 กระตุ้น เพิ่มประสิทธิผลการป้องกันให้สูงขึ้น โดยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนสามารถป้องกันเสียชีวิตได้สูงมาก และป้องกันการติดเชื้อได้สูงพอควร โดยการกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดไวรัลแว็กเตอร์หรือmRNAมีผลไม่ต่างกัน

การควบคุมการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนให้มีประสิทธิผลสูงสุด ต้องใช้ร่วมกันใช้มาตรการผสมผสาน คือ การระดมฉีดวัคซีนเข็ม 3 สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และค้นหาบุคคลที่ไม่ได้วัคซีนเลยมารับบริการ การเฝ้าระวัง/ตรวจค้นหาการติดเชื้อที่รวดเร็ว และการติดตามกำกับจุด/สถานที่เสี่ยงระบาดใหญ่วงกว้าง และการร่วมมือต่อเนื่องในมาตรการ Universal Prevention, Covid-Free Settings และตรวจ ATK หากมีอาการหรือมีความเสี่ยง

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

COVID-19  

Like this article:
Social share: