งานวิจัยชี้การบริโภคเนื้อสัตว์ต้องลดลงอย่างน้อย 75% เพื่อสู้กับภัยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 มิ.ย. 2565 | อ่านแล้ว 2175 ครั้ง

งานวิจัยชี้การบริโภคเนื้อสัตว์ต้องลดลงอย่างน้อย 75% เพื่อสู้กับภัยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการเปลี่ยนถ่ายสู่ระบบอาหารแพลนต์เบสจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศและรับประกันความปลอดภัยด้านอาหาร

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2565 ซิเนอร์เจีย แอนิมอล รายงานว่า งานวิจัยใหม่ โดยมหาวิทยาลัย Bonn ประเทศเยอรมนีชี้ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ต้องลดลงอย่างน้อย 75% หากเราจะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศและรับประกันความปลอดภัยด้านอาหาร

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Bonn ทบทวนงานวิจัยใหม่ล่าสุดหลายฉบับเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ รวมถึงด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจของการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์ นักวิจัยได้ผลสรุปว่า ในประเทศที่คนบริโภคเนื้อสัตว์เป็นจำนวนมาก การลดการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างมีนัยสำคัญไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ยังจำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเกษตรกรรมสัตว์อีกด้วย

“การหันไปบริโภคอาหารแพลนต์เบส โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่อุดมไปด้วยธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่ว ผัก และเมล็ดพืชเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะรักษาสุขภาพของเรา โลก และความปลอดภัยด้านอาหาร” คุณจันจรี เชียรวิชัย ผู้จัดการโครงการมื้อนี้ เพื่ออนาคตกล่าว โครงการมื้อนี้ เพื่ออนาคตช่วยองค์กรและสถานศึกษาเสิร์ฟมื้ออาหารแพลนต์เบสโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

แข่งขันกับเวลา

“ภายในปี 2050 เราจะต้องเลี้ยงคนบนโลกกว่า 1 หมื่นล้านคน และเราจะทำเช่นนั้นไม่ได้เลยหากเรายังใช้ระบบอาหารปัจจุบัน ” คุณจันจรีกล่าว

รายงาน ที่ตีพิมพ์โดยคณะกรรมการ EAT-Lancet เผยว่าระบบอาหารที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและโภชนาการจะประกอบไปด้วยอาหารแพลนต์เบสมากกว่า 90% 

“กว่า 80% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกถูกใช้เพื่อเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม แต่ผลิตภัณฑ์จากสัตว์คิดเป็นเพียง 37% ของโปรตีนและ  20% ของแคลอรี่ที่ผู้คนบริโภคทั่วโลกเท่านั้น ซึ่งระบบดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์นี้เป็นสาเหตุของ 57% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตอาหารทั้งหมด” คุณจันจรีกล่าว

การค้นหาความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Bonn แนะนำโครงการเช่นการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และการเพิ่มหัวข้อ “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ในหลักสูตรของโรงเรียนเพื่อเป็นแนวทางลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง 75% ตามที่แนะนำ

“ในประเทศไทย โครงการมื้อนี้ เพื่ออนาคตช่วยโรงเรียน และองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างความตระหนักรู้ในหมู่นักเรียนและบุคลากร และผลักดันให้พวกเขาลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เราดำเนินงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและเชฟที่มีประสบการณ์เพื่อให้บริการสถานศึกษาและองค์กร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย” คุณจันจรีกล่าว เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการมื้อนี้ เพื่ออนาคตได้ที่ nourishingtomorrowthai.org/

 

เกี่ยวกับโครงการมื้อนี้เพื่ออนาคต

โครงการมื้อนี้เพื่ออนาคต เป็นโครงการนำร่องเพื่อช่วยเหลือและร่วมมือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับสถานศึกษาและองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนมาเสิร์ฟอาหารที่ทั้งดีต่อสุขภาพ ยั่งยืน และประหยัดมากกว่าเดิมในแคนทีนหรือห้องอาหารขององค์กร

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: