เมียนมา: ผู้ถูกควบคุมตัวถูกทรมานเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ส.ค. 2565 | อ่านแล้ว 4970 ครั้ง

เมียนมา: ผู้ถูกควบคุมตัวถูกทรมานเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่น แนลเผยในการเปิดตัวรายงานสรุปใหม่ พบเจ้าหน้าที่ในเรือนจำและสถานที่สอบปากคำของทางการเมียนมา มักควบคุมตัวบุคคลที่ต่อต้านการทำรัฐประหารในปี 2564 อย่างต่อเนื่องเพื่อทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายหรือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งหลังการยึดอำนาจที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองของพลเรือนต้องยุติลง

● แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบข้อมูลการเฆี่ยนตี ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และการจับกุมโดยพลการในเมียนมา
● เมียนมาต้องปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่เป็นธรรมทั้งหมดทันที
● มีการพบว่าผู้ที่ถูกปล่อยตัวแล้วได้รับผลกระทบด้านจิตใจอย่างรุนแรง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยในการเปิดตัวรายงานสรุปใหม่ พบเจ้าหน้าที่ในเรือนจำและสถานที่สอบปากคำของทางการเมียนมา มักควบคุมตัวบุคคลที่ต่อต้านการทำรัฐประหารในปี 2564 อย่างต่อเนื่องเพื่อทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายหรือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งหลังการยึดอำนาจที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองของพลเรือนต้องยุติลง

จากการสัมภาษณ์ 15 ครั้งในเดือนมีนาคม 2565 กับอดีตผู้ถูกควบคุมตัว ทนายความของนักโทษ และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการทบทวนรายงานใหม่กว่า 100 ฉบับ ในรายงานสรุปชิ้นนี้ที่ชื่อว่า  15 วันแต่เหมือนกับ 15 ปี” (15 Days Felt like 15 Years)  บันทึกข้อมูลประสบการณ์ที่โหดร้ายของบุคคล ตั้งแต่ขณะถูกจับกุม จนถึงการสอบปากคำและคุมขัง รวมทั้งหลังได้รับการปล่อยตัว

นับแต่รัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาจับกุมประชาชนกว่า 14,500 คน และสังหารอีกกว่า 2,000 คน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP)

ตั้งแต่การจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และการบังคับให้รับสารภาพ ไปจนถึงการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น การบังคับให้สูญหาย การตอบโต้สมาชิกในครอบครัว และการห้ามไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวติดต่อกับครอบครัวและทนายความ หน่วยงานทหารได้ละเมิดกฎหมายในทุกขั้นตอนของกระบวนการจับกุมและควบคุมตัว

สถานการณ์ที่โหดร้ายเช่นนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน จากการประหารชีวิตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อชายสี่คนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เป็นนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญและเป็นอดีต ส.ส. หลังจากศาลทหารมีคำสั่งประหารชีวิตพวกเขา การประหารชีวิตครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี โดยยังมีผู้ถูกคุมขังในแดนประหารอีกกว่า 70 คนในเมียนมา ขณะที่มี 41 คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ตามข้อมูลของ AAPP

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เมียนมาได้ตกต่ำลงอย่างไม่อาจจินตนาการได้ ทั้งการปฏิบัติที่โหดร้ายและโหดเหี้ยมต่อผู้ถูกควบคุมตัว โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่มีเจตนา เพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของพวกเขา และบังคับให้ประชาชนเลิกต่อต้านการทำรัฐประหารปี 2564

“แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม ประชาชนชาวเมียนมายังคงไม่ยอมแพ้ แม้จะถูกละเมิดอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ รวมทั้งการประหารชีวิตที่น่าละอายและน่ารังเกียจมากสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่เกิดขึ้นกับจ่อ มิน ยู หรือโก จิมมี, เพียว เซยา ตอร์, ถา เมียว อ่อง และอ่อง ทุรา ซอ”

“กองทัพเมียนมาต้องถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการปล่อยตัวประชาชนหลายพันคน ที่ยังคงถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิของตน และปล่อยให้เขากลับไปอยู่กับครอบครัว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องเพิ่มแรงกดดันต่อกองทัพเมียนมา โดยจะต้องส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องประกาศใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธระดับโลก และใช้มาตรการคว่ำบาตร”

การช็อตไฟฟ้าและการเฆี่ยนตี

งานวิจัยของแอมเนสตี้เผยให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำเตะและตบผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งยังทุบตีพวกเขาด้วยพานท้ายปืน สายไฟ และกิ่งของต้นปาล์ม

ผู้ถูกควบคุมตัวอ้างว่า ต้องตกเป็นเหยื่อการทรมานด้านจิตใจ ถูกขู่ว่าจะฆ่าและข่มขืน เพื่อบังคับให้รับสารภาพ หรือเพื่อรีดข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อต้านรัฐประหาร มีอยู่คนหนึ่งที่ได้รับพัสดุที่จัดส่งมา ซึ่งปรากฏว่าภายในกล่องเป็นระเบิดปลอม 

อดีตผู้ถูกควบคุมตัวที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้หลายคนได้สังเกตเห็นว่าผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ มีร่องรอยบาดเจ็บที่เห็นได้ชัดเจนบนร่างกาย ทั้งรอยเลือด แขนขาหัก และใบหน้าบวมปูด

“ตอนที่พวกเขา [ตำรวจ] เห็นเราหลับ พวกเขาก็เฆี่ยนตีเรา เวลาพวกเขาเห็นว่าเรานั่งอยู่ พวกเขาก็เฆี่ยนตีเรา....พวกเขาเอาปืนไรเฟิลแบบจี 3 จ่อที่หน้าผาก และขู่ว่าจะฆ่าพวกเราเมื่อไรก็ได้” นักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกจับกุมในตอนกลางของเขตมะกเวกล่าว

ผู้หญิงคนหนึ่งได้ยินเสียง ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารเอาหัวของผู้ถูกควบคุมตัวอีกคนหนึ่ง จุ่มลงไปในถังน้ำ และยังใช้กระบองช็อตไฟฟ้าหลายครั้งระหว่างการสอบปากคำ 

นักกิจกรรมที่เป็นนักศึกษาให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ว่า เขาเห็นตำรวจเอาหัวของเพื่อนเขากระแทกกับกำแพง ตำรวจยังใช้ไม้กระบองช็อตไฟฟ้าที่อวัยวะเพศ และขู่จะขว้างระเบิดใส่เขา

มาจูซึ่งถูกจับกุมที่รัฐคะเรนนี เนื่องจากการชุมนุมประท้วงรัฐประหารให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้ว่า ตำรวจได้บอกกับเธอตอนที่ถูกควบคุมตัวว่า 

“เราจะฆ่าพวกคุณเมื่อไรก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเอาไปเข้าคุกหรอก แค่ยิงทิ้งก็จบแล้ว”

‘พวกเขาถอดเสื้อผ้าฉันออก’

ผู้สอบปากคำยังได้ก่ออาชญากรรมทางเพศและอาชญากรรมด้วยเหตุแห่งเพศ

ซอ หาน เว อู หญิงข้ามเพศได้ถูกจับและควบคุมตัวเมื่อเดือนกันยายน 2564 เนื่องจากต้องสงสัยว่าเข้าร่วมฝึกยุทธวิธีป้องกันตนเอง เธอถูกนำตัวไปที่ศูนย์สอบปากคำที่พระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งขึ้นชื่อและมีรายงานว่าถูกใช้เป็นสถานที่ทรมาน

กว่าสามวันที่อยู่ที่นั่น เธอถูกสอบปากคำที่ศูนย์ดังกล่าวและที่โรงพัก เธอบอกว่าเจ้าหน้าที่จะใช้วัตถุแหลมคมขูดที่หัวเข่าของเธอจนเป็นแผล จากนั้นจะฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างแผลใส่บนแผลที่มีเลือดไหล เธอไม่ได้รับอาหารหรือน้ำเลยเป็นเวลาสามวัน 

“ในระหว่างการสอบปากคำ เวลาที่ฉันใช้สรรพนามแบบผู้หญิงเรียกตัวเอง พวกเขาก็จะบอกว่าฉันเป็นเกย์ แสดงว่าฉันต้องชอบแบบนี้ จากนั้นพวกเขาก็โชว์อวัยวะเพศชายใส่ฉัน”

พวกเขายังอ่านข้อความที่เธอเขียนถึงแพทย์ และสอบถามว่าเธอได้ผ่าตัดแปลงเพศหรือยัง จากนั้นยังได้จับเธอเปลื้องผ้า มองดูร่างกายที่เปลือยเปล่า และพูดจาล้อเลียนเธอ 

ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศคนอื่นยังต้องเจอกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดของอวัยวะในร่มผ้า เพื่อ “ให้แน่ใจว่าพวกเขาเป็นชายหรือหญิงกันแน่” ตามข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัวอีกคนหนึ่ง

การทำให้อับอายและการตรวจค้นร่างกายที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว อาจถือเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวเป็นคนข้ามเพศ

ถูกปิดตาและห้ามติดต่อกับโลกภายนอก

การจับกุมมักเกิดขึ้นช่วงกลางคืน ในระหว่างการบุกตรวจค้นช่วงกลางคืน ทหารและตำรวจจะพังประตูเข้าไป ทุบตีคนที่อยู่ในนั้น รื้อค้นในบ้าน ยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งโทรศัพท์และโน๊ตบุ๊ค และมักนำข้าวของที่มีค่าไปด้วย เช่น พวกเพชรพลอย

มาวิน แกนนำผู้ชุมนุมถูกจับระหว่างเดินทางในรถโดยสารไปเขตมัณฑะเลย์ เธอถูกตบที่หน้า ถูกใส่กุญแจมือ ถูกปิดตา และมีการนำตัวเธอไปยังสถานที่ที่ไม่มีผู้ใดทราบข้อมูล

ระหว่างการสอบปากคำกว่า 24 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ซึ่งสวมรองเท้าคอมแบท จะเฆี่ยนตีและเตะเธอ และขู่จะฆ่าเธอหลายครั้ง 

ทนายความที่ให้ข้อมูลกับแอมเนสตี้บอกว่า ต้องประสบกับปัญหาในการพยายามหาที่ควบคุมตัวลูกความของตนเอง หลายครั้ง พวกเขาต้องยอมจ่ายสินบนเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานบางอย่าง

เรือนจำกลายเป็นสถานที่แออัด มีอยู่คนหนึ่งบอกว่าในห้องขังที่ถูกออกแบบมาเพื่อคน 10 คนแต่กลับมีคนอยู่ถึง 50 คน และผู้ถูกควบคุมตัวยังพบว่าในอาหารมีแมลงและหนอนที่ตายแล้วด้วย

แม้ว่าประสบการณ์จากการควบคุมตัวจะส่งผลกระทบด้านจิตใจอย่างรุนแรงต่อผู้ที่รอดชีวิตมาได้ แต่นักกิจกรรมหลายคนก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านต่อไป

“เราจะไม่ยอมแพ้” ซอ หาน เว อู บอกกับแอมเนสตี้ “พวกเราก็เหมือนกับโทรศัพท์ พอแบตหมดก็ต้องชาร์จใหม่”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: