จับตา: ถอดบทเรียนการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2564

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 3862 ครั้ง


เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอสรุปผลการประชุมเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review: ARR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2564 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (1 ตุลาคม 2562) เรื่อง แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ให้ ทส. รวบรวมผลการดำเนินงานตามแผนฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปีละ 2 ครั้ง และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป] โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานการประชุมฯ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ในรูปแบบการประชุมออนไลน์  มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้  

1. ปัญหา สาเหตุ และสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ได้แก่ (1) ปัญหาและสาเหตุ มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกิดจากการจราจรและการเผาพื้นที่การเกษตร พื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเกิดจากการเผาพื้นที่การเกษตร ภาคใต้เกิดจากไฟไหม้ป่าพรุและหมอกควันข้ามแดนจากประเทศอินโดนีเซีย และภาคเหนือเกิดจากการลักลอบเผาป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ การบุกรุกพื้นที่ป่า การเผาพื้นที่การเกษตรและหมอกควันข้ามแดนในประเทศอนุภูมิภาคแม่โขง (2) สถานการณ์ในภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2564 พบว่า จำนวนจุดความร้อนภายในประเทศลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2563 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พบว่ามีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในบางช่วงเวลาและบางจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สระบุรี   

2. ภาพรวมของการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ในปี 2564 ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนผ่านกลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และต่อยอดขยายผลผ่านแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ [คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 พฤศจิกายน 2563) เห็นชอบแผนเฉพาะกิจฯ] ซึ่งได้มีการดำเนินการ เช่น (1) ผลักดันให้มีการบรรจุแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองไว้ในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (2) บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกในหลายระดับ ทั้งในระดับชาติ โดยมีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติร่วมกับ ทส. เป็นกลไกหลัก ระดับภาค โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือมีการจัดตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า (บก.คฟป.ทภ.3 สน.) ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และระดับจังหวัด ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองระดับจังหวัด (3) ดำเนินงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ได้จัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อบูรณาการและสื่อสารข้อมูลอย่างถูกต้อง (4) ดำเนินงานด้านการลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการเพื่อลดกำลังการผลิตและควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการตรวจวัดและจับรถยนต์ที่ปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน รวมทั้งดำเนินนโยบายส่งเสริมการตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้ ส่งผลให้ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 สามารถลดอ้อยไฟไหม้เหลือเพียงร้อยละ 26 (5) ดำเนินงานด้านการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคเอกชนในการดูแลป่าและเฝ้าระวังไฟป่า และ (6) ดำเนินงานด้านการดูแลสุขภาพประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ   

3. ปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการดำเนินงานที่ผ่านมา เช่น (1) ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ที่เกิดจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศทำให้ผลกระทบจากแหล่งกำเนิดข้ามแดนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ (2) ข้อจำกัดด้านกำลังพล อุปกรณ์เครื่องมือ และงบประมาณ โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับท้องถิ่นหรือชุมชน และ (3) การถ่ายโอนภารกิจควบคุมไฟป่าให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ 

4. ข้อเสนอแนะจากการสรุปผลและถอดบทเรียนในการดำเนินงาน เช่น (1) ใช้ระบบคาดการณ์ฝุ่นละอองเป็นเครื่องมือให้จังหวัดสั่งการ (2) จัดหาหรือสนับสนุนด้านอัตรากำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือ ยานพาหนะ และงบประมาณให้ทุกหน่วยงานบูรณาการกำลังพลและทรัพยากร (3) ปฏิบัติการเชิงรุกเพิ่มการลงพื้นที่เพื่อควบคุมและลดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ (4) ทุกจังหวัดจัดทำแผนที่เสี่ยงต่อการเผาเพื่อลดและควบคุมการเผาในที่โล่งควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรและลดการเผา ป้องกันการพัดพาฝุ่นละอองสู่จังหวัดข้างเคียง และ (5) จังหวัดต้องมีการวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ แหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาและควบคุมแหล่งกำเนิดที่สอดคล้องกับบริบทในแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งจัดทำแผนยกระดับมาตรการการดำเนินงาน และขอความร่วมมือประชาชนในการลดต้นเหตุของแหล่งกำเนิดในภาพรวม

5. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตรฯ) ได้มอบนโยบายในการดำเนินงานปี 2565 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ทส. กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ดำเนินการบนหลักการ “ขยายผล พัฒนา ขจัดปัญหา” เช่น

หน่วยงาน

การดำเนินการ

กห.

- สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดและควบคุมแหล่งกำเนิดทั้งจากภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง

อว.

- บูรณาการกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย นักวิจัย และภาคส่วนต่าง ๆ ทำการวิจัย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและครบวงจร 

กษ.

- เฝ้าระวัง ป้องปราม และประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม

- งดการสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรที่มาจากการบุกรุกป่าอย่างเด็ดขาด

คค., ตช.

- กำกับ ดูแล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะรถที่มีควันดำ ต้องสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้งานจนกว่าจะนำไปปรับปรุง 

ดศ.

- พัฒนาระบบคาดการณ์สภาวะอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่นละอองล่วงหน้า 3-7 วัน เพื่อให้หน่วยงานควบคุม กำกับดูแลแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวดในช่วงที่สภาวะอากาศปิดไม่เอื้อต่อการกระจายตัว 

ทส.

- ติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการฯ และแผนเฉพาะกิจฯ อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

- ประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันบริหารจัดการการเผา 

- ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ตามกลไกอาเซียนให้เป็นรูปธรรม

พน.

- สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงสะอาดและเชื้อเพลิงทางเลือกในภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมขนส่งอย่างจริงจัง โดยมีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจน

มท.

- ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยกระดับ Single Command ในการติดตามสถานการณ์และบูรณาการสั่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด

- วางแผน จัดกำลังพล อุปกรณ์เครื่องมือ และงบประมาณ ให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน

สธ.

- ยกระดับการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนความเสี่ยง ดูแลสุขภาพ และรักษาการป่วยของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ 

อก.

- ตรวจกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดไม่ให้ระบายสารพิษออกสู่บรรยากาศ

- ขอความร่วมมือชะลอหรือลดกำลังการผลิตในช่วงฝุ่นละอองสูง

- ส่งเสริม “การตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟไหม้” 

ทุกหน่วย

- ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างเคร่งครัดและให้ยกระดับการดำเนินงานให้เข้มงวดในช่วงวิกฤตโดยให้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

- สร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูลและการดำเนินงานเพื่อการสั่งการที่ถูกต้อง และลดความตื่นตระหนกของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 

- ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอนเพื่อนำมาซึ่งความเข้าใจและความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: