เตือนระวังระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคเอกชนเจอวิกฤตปิดกิจการและเลิกจ้างรุนแรงขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 5045 ครั้ง

อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษาแห่งชาติ เตือนระวังระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคเอกชนเจอวิกฤตปิดกิจการและเลิกจ้างรุนแรงขึ้นอีก มีการเลิกจ้างบุคลากรการศึกษาจำนวนมากในโรงเรียนระดับปฐมวัย ประถมและมัธยม ขณะนี้มีการเลิกจ้างไปแล้วประมาณ 20,000 คน คาดว่าถ้าไม่มีการเข้ามาแก้ปัญหาจำนวนเลิกจ้างอาจแตะ 35,000 คน คุณภาพการศึกษาทรุดหนักจากการศึกษาออนไลน์ไม่ได้มาตรฐานส่งผลต่อความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะปานกลางและระยะยาว พร้อมข้อเสนอ 6 ข้อ ทางออกจากวิกฤตการศึกษา | ที่มาภาพประกอบ: manginwu (CC BY-SA 2.0)

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษาแห่งชาติ และ อดีตประธานอนุกรรมการจัดทำแผนการศึกษาชาติฯ เปิดเผยว่าประเทศจะเผชิญปัญหาวิกฤติทางการศึกษาพร้อมกับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันลดลง การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น ผลิตภาพแรงงานลดลง และคุณภาพชีวิตลดลงในระยะกลางและระยะยาว ในส่วนของวิกฤติเศรษฐกิจนั้นหากสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่าวันละ 600,000 รายและจำนวนติดเชื้อลดลงต่อเนื่องอย่างในปัจจุบัน และสามารถเดินหน้าทยอยเปิดประเทศได้ในเดือนตุลาคม ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ส่วนปัญหาวิกฤติการศึกษานั้นจะแก้ไขยากกว่าและจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมยาวนาน ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานอย่างมากและจะทำให้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมรุนแรงขึ้นจากโอกาสในการเข้าถึงคุณภาพการศึกษาแตกต่างกันอย่างมากในช่วงการ “ล็อกดาวน์” และ “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19” 

ประเมินในเบื้องต้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในระยะ 4-5 ปีแรกของแผนการศึกษาแห่งชาตินั้น ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย แผนการดำเนินการล้วนสะดุดมาอย่างต่อเนื่องทั้งจากความไม่ชัดเจนของนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีแต่ละท่านที่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง และสดุดลงอย่างหนักสุดจากวิกฤตการณ์โควิด ตัวชี้วัดต่างๆที่อยู่ในแผนระยะ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2560-2565) ของแผนการศึกษาชาติ (พ.ศ. 2560-2569) จึงบรรลุตามเป้าหมายไม่ถึง 40% ไม่ว่าจะเป็นมิติการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ (Access) มิติความเท่าเทียมทางการศึกษา (Equity) มิติคุณภาพการศึกษา (Quality) มิติประสิทธิภาพ (Efficiency) มิติการตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy) ในส่วนการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ 10 ข้อ (หากพิจารณาจากแผนเดิม 15 ปี) และ ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ (ตามแผนที่มีแก้ไขเพิ่มเติมเป็น 20 ปี) นั้นพบว่ามีเพียงยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย มีแผนการดำเนินการที่มีความคืบหน้าระดับหนึ่ง 

ส่วนยุทธศาสตร์อื่น ๆ เช่น ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคทางการศึกษาก็ดี ยุทธศาสตร์การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษาก็ดี ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ดี ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลงคนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ดี ล้วนไม่มีความคืบหน้าและยังห่างไกลการบรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลา และหากนำเอาแผนเดิมก่อนปรับปรุงจาก 20 ปีเป็น 15 ปี ยิ่งเห็นถึงความอ่อนแอลงของระบบการศึกษาไทยอย่างชัดเจนและจะเป็นปัจจัยสำคัญในการถ่วงรั้งให้ประเทศไทยรั้งท้ายที่สุดในเอเชียตะวันออก (ยกเว้น พม่า เขมรและเกาหลีเหนือ) หลังยุคโควิดภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจบนฐานความรู้และการวิจัยนวัตกรรม 

นอกจากปัญหาวิกฤติคุณภาพการศึกษาแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากขณะนี้ คือ การปิดตัวลงของสถานศึกษาเอกชนขนาดเล็กและขนาดกลางจากปัญหาสภาพคล่องจำนวนมาก เพราะผู้ปกครองไม่สามารถจ่ายค่าเทอมได้และบางส่วนไม่ยอมจ่ายเนื่องจากไม่ได้มีการจัดการศึกษาตามที่คาดหวัง เด็กๆเกือบทั้งหมดเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านเนื่องจากมีการ “ล็อกดาวน์” ยาวนาน มีโรงเรียนและครอบครัวจำนวนมากไม่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาทางออนไลน์ การศึกษาทางไกล และ การศึกษาที่เด็กๆต้องถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน และ มีการเลิกจ้างบุคลากรการศึกษาจำนวนมากในโรงเรียนระดับปฐมวัย ประถมและมัธยม ขณะนี้มีการเลิกจ้างไปแล้วประมาณ 20,000 คนคาดว่าถ้าไม่มีเข้ามาแก้ปัญหาจำนวนเลิกจ้างอาจแตะ 35,000 คนได้ในภาคการศึกษาหน้า ขณะที่ สถานศึกษาเอกชนที่ยังประคับประคองตัวเองไปได้ก็ใช้วิธีลดเงินเดือนบุคลากรลงมาประมาณ 10-70% ทำให้ครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานประสบปัญหาทางการเงินและมีหนี้ส่วนบุคคลจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ จึงทำให้มีบุคลากรทางการศึกษาจำนวนไม่น้อยขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาอ่อนแอลงอย่างมาก ประเทศย่อมอ่อนแอลงและผลกระทบจะยาวนานกว่า วิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติการเมืองใด ๆ 

รศ.ดร.อนุสรณ์ คาดการณ์ว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดและเร่งด่วน จะมีสถานศึกษาระดับการศึกษาพื้นฐาน (ปฐมวัย จนถึงมัธยม) เอกชนปิดกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก “การล็อกดาวน์” “การปิดสถานศึกษา” “การแพร่ระบาดของโควิดในหมู่บุคลากรทางการศึกษา” รัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหาและรัฐบาลต้องจัดการให้ พลเมืองทุกคนให้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน จากการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาบ่งชี้ชัดเจนว่า การลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าที่สุดเมื่อพิจารณาจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม คือ การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัย เด็กประถมจำนวนมากในหลายประเทศรวมทั้งไทยกลับไปอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางด้านสังคมอ่อนแอลงเพราะหยุดเรียนในชั้นเรียนไปนานจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด ซึ่งจะนำสู่ปัญหาการศึกษาอีกมากที่จะตามมา ความรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สุขอนามัยศึกษา สังคมศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับทุกระดับในการศึกษาขั้นพื้นฐานอ่อนแอลงหมด ซึ่งโรงเรียนของรัฐและเอกชนต้องใช้เวลาเสริมสร้างทักษะชดเชยที่ขาดไป เด็กนักเรียนจะมีปัญหาทางการศึกษาในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไปในระดับอุดมศึกษา เด็กเหล่านี้จะมีความ “อ่อนแอ” ในวิชาพื้นฐานต่างๆที่ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อในขั้นสูงได้เลย และ ประเทศไทยก็จะขาดกำลังทั้งที่มีความรู้พื้นฐานและความรู้ขั้นสูงและการวิจัยด้านต่าง ๆ 

ทางกระทรวงศึกษาธิการน่าจะต้องจัดตารางการเรียนการสอนใหม่เพื่อให้เด็กสามารถตามบทเรียนที่ขาดพร่องไปจากการเรียนออนไลน์เป็นเวลานานในวิชาที่ต้องใช้ “ทักษะ” เหล่านี้ในภาคปฏิบัติในชั้นเรียน โดยจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงเรียนภาษาและคณิตศาสตร์ และตัดชั่วโมงเรียนของวิชาที่จำเป็นน้อยหรือสามารถเรียนรู้ในภายหลังได้ออกไปก่อน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา กล่าวอีกว่า เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการศึกษาดังกล่าว จึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 

ข้อเสนอที่หนึ่ง จัดสรรเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (ดอกเบี้ยไม่ควรเกิน 1%) สำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีปัญหาสภาพคล่องและเตรียมปิดกิจการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และ ต้องมีการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนเอกชน 

ข้อเสนอที่สอง ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนเพื่อให้มีการควบรวมสถานศึกษาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อสามารถบริหารทรัพยากรทางการศึกษาและการเงินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น 

ข้อเสนอที่สาม จัดตั้งกองทุนขนาด 2,000 ล้านบาทใหม่หรือใช้กลไกกองทุนทางการศึกษาที่มีอยู่แล้วเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้ชะลอการเลิกจ้าง หรือกรณีถูกเลิกจ้างให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพอย่างอื่นหากไม่ประสงค์ทำงานในระบบการศึกษาอีกต่อไป และ ให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ในการให้ “ทุนการศึกษา” ให้กับบรรดาครูอาจารย์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในการศึกษาในขั้นสูงขึ้น 

ข้อเสนอที่สี่ มีความจำเป็นต้องทบทวนแผนการศึกษาชาติใหม่ โดยนำเอายุทธศาสตร์จากแผนการศึกษาชาติฉบับ 15 ปีที่ถูกตัดทิ้งไปให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ ไม่ว่า จะเป็น ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการศึกษา ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา ในยุทธศาสตร์มีการเสนอแผนดำเนินการให้ โรงเรียนของรัฐ มีสภาพเป็น “นิติบุคคล” ได้ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม ยุทธศาสตร์การปรับระบบและกลไกในการบริหารงานบุคคล มีเสนอให้มี ระบบครูสัญญาจ้าง ที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมากขึ้น 

ข้อเสนอที่ห้า ใช้งบประมาณที่มีอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ใน การจัดการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อชดเชยการปิดโรงเรียนหรือการเรียนออนไลน์อย่างไม่มีคุณภาพ หลังจากการแพร่ระบาดโควิดมีทิศทางดีขึ้นอย่างชัดเจน ทางกระทรวงศึกษาธิการน่าจะต้องจัดตารางการเรียนการสอนใหม่เพื่อให้เด็กสามารถตามบทเรียนที่พร่องไปจากการเรียนออนไลน์เป็นเวลานานในวิชาที่ต้องใช้ “ทักษะ” และการปฏิบัติจริงในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน โดยจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ภาษา คณิตศาสตร์ และการทักษะทางด้านอาชีพ รวมทั้ง วิชาหน้าที่พลเมืองและสังคมศาสตร์ 

ข้อเสนอที่หก จัดการฉีดวัคซีนคุณภาพสูงให้บุคลากรทางศึกษาให้ได้ 100% และ จัดสรรงบเพื่อให้โรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนสามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์กร Unicef สหประชาชาติ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ให้ความเห็นตรงว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในไทยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา บทบาทของ กยศ ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนนักศึกษาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ยากจนมีประสิทธิภาพและครอบคลุมกว้างยิ่งขึ้น มีความจำเป็นในการต้องปฏิรูประบบการเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาอย่างมียุทธศาสตร์และบูรณาการผ่านระบบการให้ทุนการศึกษา และต้องเพิ่มงบทุนการศึกษาให้เพียงพอโดยเฉพาะทุนการศึกษาในการเรียนสาขาวิชาชีพต่าง ๆ 

แผนการศึกษาแห่งชาติในฉบับที่ตนเป็นประธานกรรมการยกร่าง (แผนการศึกษาชาติ 15 ปีซึ่งต่อมาปรับเป็น 20 ปี) นั้นได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้นและถือเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนการศึกษาชาติ ในส่วนของแผนการศึกษาชาติที่เป็นแผนปฏิบัติการ ได้เสนอ สวัสดิการการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากจนหรือการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในครอบครัวที่ยากจนโดยให้ “แต้มต่อ” ให้กับเด็กยากจนด้วยมาตรการ CCT (Conditional Cash Transfer) เงินโอนที่มีเงื่อนไขให้เด็กได้เรียน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปเป็น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา อย่างไรก็ตาม โอกาสเรียนระดับอุดมศึกษาของเด็กยากจนมีไม่มากเปรียบเทียบกับเด็กในครัวเรือนรวยหรือฐานะปานกลาง ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่า การลงทุนในเด็ก Investment in Children ครัวเรือนรวยลงทุนในเด็กสูงกว่าครัวเรือนยากจน หลายเท่าตัว 5-10 เท่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการผลิต สังคมและชีวิตของผู้คน 

นอกจากนี้ Disruptive Technology ยังส่งผลต่อระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวพลิกโฉมครั้งใหญ่และสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อพลวัตดังกล่าว กองทุนต่างๆในระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัวตามพลวัตเหล่านี้ด้วย งบประมาณควรถูกกระจายไปที่สถานศึกษาโดยตรงมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรเงินจากด้านอุปทาน มาเป็น ด้านอุปสงค์มากขึ้น โดยจะจัดสัดส่วนที่เหมาะสม จัดตั้งกองทุนเงินให้เปล่า ผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางด้านการบริหารและจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศ ปรับโครงสร้างการบริหารราชการตามแนวทางการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา เปลี่ยนสถานศึกษาที่มีความพร้อมให้เป็นนิติบุคคล แยกบทบาทของรัฐในฐานะผู้กำกับและบทบาทในฐานะผู้จัดการการศึกษาให้ชัดเจน ปรับระบบให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวที่สะท้อนคุณภาพมาตรฐาน ส่งเสริมสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในลักษณะ Chartered School มากขึ้น จัดตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา ปรับหลักสูตร กระบวนการการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย เพิ่มการเรียนรู้ จัดตั้งสถาบันพัฒนากรรมการสถานศึกษา การยกระดับคุณวุฒิกำลังแรงงาน เป็นต้น 

“การสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกลไกหลักของการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของทุนมนุษย์ และรองรับการศึกษา การเรียนรู้ และความท้าทายที่เป็นพลวัตของโลกศตวรรษที่ ๒๑” ต้องการได้พลเมืองของประเทศและของโลกที่เป็น คนเก่ง คนดี และมีความสุข ซึ่งมีเป้าหมายของการพัฒนาการศึกษา 5 ประการ ได้แก่ 1) การเข้าถึง (Access) 2) ความเท่าเทียม (Equity) 3) คุณภาพ (Quality) 4) ประสิทธิภาพ (Efficiency) และ 5) ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ที่พลเมืองส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ภายใต้บริบทของการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) รวมทั้งการสร้างสังคมแห่งปัญญา (Wisdom – Based Society) การส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (Lifelong Learning) และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (Supportive Learning Environment) เพื่อให้พลเมืองสามารถเรียนรู้และแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งสามารถยกฐานะและชนชั้นทางสังคม อันนำไปสู่การสร้างความผาสุขร่วมกันในสังคมของชนในชาติ และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมให้มีความทัดเทียมกันมากขึ้น 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การศึกษาเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน การพัฒนาการศึกษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 มิติใหญ่ ๆ ได้แก่

1. มิติด้านปริมาณ ซึ่งหมายรวมถึง การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา (Mankiw, Romer and Weil, 1992) และการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยให้กับนักเรียน/นักศึกษา เพื่อที่จะได้รับความรู้ที่มากเพียงพอในการสนับสนุนการทำงานในอนาคต (Barro and Lee, 1993)

2. มิติด้านคุณภาพ ซึ่งหมายถึง คุณภาพการเรียน การสอน ที่ทำให้เด็กมีทักษะที่เข้มข้น และสอดคล้องกับการที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในอนาคต (Hanushek and WoBmann, 2007)

3. มิติด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายถึง ความแตกต่าง ในผลลัพธ์ของการศึกษา ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มากกว่าแค่คุณภาพของการเรียนการสอน แต่ครอบคลุมไปถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ปัจจัยเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน ปัจจัยทางด้านครอบครัว ไปจนถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา

แนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาที่ดี ควรที่จะต้องมีการพัฒนาในทั้ง 3 มิติไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว โดยไม่เน้นคุณภาพอาจจะได้แรงงานที่จบมาแล้วมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน การทุ่มทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการตัดโอกาสในการพัฒนากลุ่มเด็กที่มีศักยภาพที่สูง เช่นเดียวกัน การพัฒนาในมิติเชิงคุณภาพโดยไม่ได้พิจารณาในมิติความเหลื่อมล้ำ เช่น การพัฒนาคุณภาพของแต่ละโรงเรียนอย่างเป็นเอกเทศ อาจจะทำให้เกิดความแตกต่างของผลการเรียนของแต่ละโรงเรียน ซึ่งทำให้คุณภาพของผลลัพธ์ทางการศึกษามีความแตกต่าง กันมาก และนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในที่สุด

เมื่อย้อนกลับมาดูสถิติและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของไทย จะพบว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาทั้ง 3 มิติ โดยข้อมูลสถิติจากธนาคารโลก บ่งชี้ถึงช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นปฐมศึกษา โดยมีเพียงร้อยละ 93 ของ เด็กในวัยเรียนที่เข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นดังกล่าว งานวิจัยของ Prasartpornsirichoke and Takahashi (2013) บ่งชี้ถึงความสำคัญของการขยายการเข้าถึงการศึกษาให้ครอบคลุม ถึงระดับชั้นมัธยม ข้อมูลจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรของประเทศจากฐานข้อมูลของ Barro and Lee (2013) พบว่าประชากรวัยทำงานของไทยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 ปี ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (ซึ่งมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.05 ปี) ถึง 3.75 ปี

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่างทิ้งท้ายว่าในด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ข้อมูลผลการประเมินความรู้ของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ภายใต้โครงการ TMISS (The Trends in International Mathematics and Science Study) ในหลายปีที่ผ่านมา พบว่าความสามารถของเด็กนักเรียนไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาต้น จำนวนมากถูกจัดในระดับแย่ (Poor) และ ในปีนี้และปีหน้าคงจะแย่ลงกว่าระดับที่เป็นอยู่อีกจากการเรียนออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ สำหรับปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของไทยนั้นรุนแรงกว่าที่เราคิดมาก และเรายังไม่มีองค์ความรู้ในการเข้าใจมันเพราะยังไม่พบว่ามีงานวิจัยที่มุ่งเน้นในการทำความเข้าใจถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยตรง งานวิจัยที่พบโดยมากจะมุ่งเน้นที่ความเหลื่อมล้ำในแง่ของการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งได้ถูกสะท้อนเป็นประเด็นทางด้านเชิงปริมาณเป็นหลักเท่านั้น 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: