Rocket Media Lab: สำรวจความสัมพันธ์ทางการทหารไทย-สหรัฐฯ ผ่านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และเงินสนับสนุน

Rocket Media Lab 16 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 5882 ครั้ง

'Rocket Media Lab' สำรวจความสัมพันธ์ทางการทหารไทย-สหรัฐอเมริกา ผ่านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และเงินสนับสนุนทางการทหารที่ผ่านมา

จากกระแสข่าวการเดินทางไปร่วมฝึกการฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operations) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาของทหารไทยจำนวน 109 นาย โดยทำการฝึกที่ Fort Bragg นอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงวันที่ 10 – 26 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ภายใต้การฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ในปี 2565 โดยค่าใช้จ่ายในครั้งนี้มาจากงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา 

Rocket Media Lab จึงชวนมาสำรวจความสัมพันธ์ทางการทหารไทย-สหรัฐ ผ่านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และเงินสนับสนุนทางการทหารที่ผ่านมา 

ความสัมพันธ์ทางการทหารไทย-สหรัฐฯ

ประเทศไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อปี 2376 และในส่วนความสัมพันธ์ทางการทหารนั้น ในปี 2493 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหารกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเน้นเรื่องความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงเป็นหลัก โดยเมื่อปี 2546 สหรัฐฯ ได้ประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต (Major Non NATO Ally – MNNA) ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กองทัพไทยสามารถจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และเข้าถึงเทคโนโลยีทางการทหารต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้ และในเวลาต่อมายังมีการเพิ่มความร่วมมือทางการทหาร โดยผ่านโครงการ IMET (The International Military Education and Training) และโครงการ Foreign Military Sales (FMS) รวมไปถึงการฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์ (Cobra Gold) ซึ่งเป็นการฝึกร่วมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอีกด้วย 

การฝึกซ้อมทางทหารคอบร้าโกลด์เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2499 โดยเป็นการฝึกผสมยกพลขึ้นบกระหว่างกองทัพเรือของไทยกับกองทัพเรือและหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสหรัฐฯ จากนั้นในปี 2525 กองทัพอากาศของไทยได้จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกด้วย ซึ่งมีการฝึกร่วมหลายรหัส จึงกำหนดเป็นรหัสการฝึกใหม่ เรียกว่า “คอบร้าโกลด์ 82” และต่อมาในปี 2526 กองทัพบกก็ได้จัดหน่วยรบพิเศษเข้าร่วมการฝึกอีกเหล่าทัพหนึ่ง อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกร่วมและผสมครบทั้ง 3 เหล่าทัพ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

งบประมาณอุดหนุนจากสหรัฐฯ สู่กองทัพไทย

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายต่อต้าน (anti) และปิดล้อม (containment) การแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และได้เข้ามามีบทบาทโดยตรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา ความมั่นคง การทหารและการป้องกันประเทศของประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทยด้วย และเมื่อครั้งที่เกิดสงครามเกาหลี ประเทศไทยได้ส่งข้าวจำนวน 20,000 ตัน และทหารจำนวน 4,000 นาย ไปช่วยเหลือสหประชาชาติในสงครามเกาหลี และให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋ของเวียดนามที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน นอกจากนี้ยังจัดส่งทหารจำนวนประมาณ 12,000 นาย ไปร่วมรบในเวียดนามด้วย โดยสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายของกำลังพล ในปี 2511 สหรัฐให้ความช่วยเหลือด้านการทหารของไทยสูงถึง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และระหว่าง 2508 – 2513 สหรัฐฯ ยังได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปรับปรุงฐานทัพในไทย รวมไปถึงความช่วยเหลือด้านอื่นๆ อีก 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยในการต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท 

จะเห็นได้ว่างบประมาณจำนวนมหาศาลจากสหรัฐอเมริกานั้น มาในช่วงสงครามเย็นและภัยคอมมิวนิสต์ โดยในปี 2508 นั้น เกิดเหตุการณ์สำคัญในประเทศไทยก็คือในวันที่ 7 สิงหาคม 2508 เป็นวันที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ปะทะด้วยกำลังอาวุธปืนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นครั้งแรกที่บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จังหวัดนครพนม หรือที่เรียกกันว่าวันเสียงปืนแตก ต่อมา สงครามเย็นได้สิ้นสุดลงในช่วงปี 2534 หลังจากนั้นงบประมาณการสนับสนุนทางการทหารของสหรัฐอเมริกาต่อไทยก็ลดลงเรื่อยๆ และเปลี่ยนจากงบฯ ต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นอย่างอื่น เช่น กองทุนต่อต้านอิทธิพลจากประเทศจีน (CCIF)ในปี 2564 

นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยังไม่ระเบิดอันเป็นผลจากความขัดแย้งในอดีตที่ชายแดนกับกัมพูชา ลาว มาเลเซีย และเมียนมา ประเทศไทยได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2536 เป็นจำนวนเงิน 18.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมและการทำลายอาวุธตามแบบแผน อันเป็นการทำงานร่มกันระหว่างโครงการวิจัยและพัฒนาการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งประเทศไทย

ประเทศไทยยังได้รับเงินสนับสนุนจาก International Military Education and Training (IMET) เพื่อใช้ในปี 2562 และปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐและในปี 2564 อีก 2.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึงเงินสบับสนุนจากจาก Foreign Military Financing (FMF) ผ่านโครงการ SAMSI และ Advanced Targeting Development Initiative (ATDI) สำหรับความมั่นคงทางทะเลและโครงการอื่นๆ จำนวน 34.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 อีกด้วย 

และในปี 2564 สหรัฐฯ ยังได้มอบเงิน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่ประเทศไทยในกองทุนต่อต้านอิทธิพลจากประเทศจีน (CCIF) สำหรับการฝึกอบรมภาษาอังกฤษ การปฏิบัติงานด้านเทคนิค และวิชาชีพอีกด้วย

การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางการทหารของไทย-สหรัฐฯ

จากความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการทหารของไทย สหรัฐฯ อันดีที่ผ่านมา ทำให้ไทยสามารถซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ ผ่านความร่วมมือทางการทหารผ่านโครงการ Foreign Military Sales (FMS) ได้ ถึงแม้ว่าภายหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 สหรัฐฯ จะลดความสัมพันธ์ทางทหารกับไทย ระงับการขายอาวุธ และลดขนาดการฝึกทางทหาร ทำให้กองทัพไทยได้หันไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน และรัสเซียก็ตาม เริ่มตั้งแต่การซื้อรถถัง VT-4 มูลค่า 4,985 ล้านบาทจากจีนในปี 2558 ตามมาด้วยเฮลิคอปเตอร์ Mi17VS จำนวน 6 ลำ มูลค่า 5,083 ล้านบาท จากรัสเซีย ในปี 2559 และเรื่อยมาหลังจากนั้น 

แต่จากข้อมูลของสำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหม สหรัฐอเมริกา พบว่าไทยได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ เรื่อยมาโดยใช้งบประมาณกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังพบรายการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร ย้อนหลัง 10 ปี ดังนี้ 

วันที่ 6 ส.ค. 2552  ไทยสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ UH-60L Black Hawk จำนวน 3 ลำ ราคา 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

วันที่ 30 ก.ย. 2553 ไทยสั่งซื้อเครื่องบิน F-16A/B Block จำนวน 18 ลำ และอากาศยาน จำนวน 15 ลำ (รวม Mid-Life Upgrade (MLU) ราคารวม 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

วันที่ 20 มิ.ย. 2556 ไทยสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ UH-72A Lakota จำนวน 6 ลำ ราคา 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

วันที่ 29 ก.ย. 2557 ไทยสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ UH-72A Lakota จำนวน 9 ลำ ราคา 89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

วันที่ 26 ก.ค. 2562 ไทยสั่งซื้อรถถังสไตรเกอร์ Stryker infantry carrier vehicles จำนวน 60 คัน ราคา 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จัดซื้อเอง 37 คัน และ สหรัฐฯ ให้เปล่า 23 คัน)

วันที่ 24 ก.ย. 2562 ไทยสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ AH-6i จำนวน 8 คัน ราคา 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2562 สหรัฐอเมริกายังอนุญาตให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศไปยังประเทศไทยมูลค่ากว่า 140.7 ล้านดอลลาร์ผ่านกระบวนการขายตรง (DCS) อันได้แก่ อาวุธปืน เครื่องบินและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง กระสุนและอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ และยังมีรายการที่ไม่ปรากฏงบประมาณการซื้อขาย ได้แก่ มิสไซล์ RGM-84L Harpoon Block II และ มิสไซล์ Evolved Sea Sparrow อีกด้วย

 

ข้อมูลจาก
สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหม สหรัฐอเมริกา
thaiarmedforce https://thaiarmedforce.com/2021/07/07/rta-to-send-paratrooper-to-train-in-us-2564/
เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน [1][2]
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
The National Archives

 

 

เกี่ยวกับ Rocket Media Lab

Rocket Media Lab คือแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อต่อยอดในงานข่าว

เอกลักษณ์ของ Rocket Media Lab คือการคัดเลือกโจทย์วิจัยจากประเด็นที่มีคุณค่าข่าว (newsworthy) นำเสนอเป็นสองส่วน คือ 1) ฐานข้อมูลดิบ เป็นฐานข้อมูลสาธารณะให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจสามารถอ้างอิงได้ และ 2) บทวิเคราะห์ เป็นบทความความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูล

Rocket Media Lab ออกแบบการวิจัยด้วยระเบียบวิธีหลากหลาย อาทิ การค้นคว้าสอบทานจากฐานข้อมูลสาธารณะ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่รวบรวมขึ้นใหม่ การสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมของคน ผ่านแบบสอบถามหรือเครื่องมือติดตามบทสนทนาในสื่อสังคม การทบทวนวรรณกรรม และการสัมภาษณ์

Rocket Media Lab ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก National Endowment for Democracy (NED) เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 จนถึง 30 ก.ย. 2564

https://rocketmedialab.co
https://www.facebook.com/rocketmedialab.co
https://twitter.com/rocketmedialab
contact.rocketmedialab@gmail.com

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: