ม.ค.-มิ.ย. 2564 ยอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ 1,156,290 บัญชี เพิ่มขึ้น 188.04%

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 7030 ครั้ง

ม.ค.-มิ.ย. 2564 ยอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ 1,156,290 บัญชี เพิ่มขึ้น 188.04%

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยสถิติ ม.ค.-มิ.ย. 2564 พบว่ามียอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่อยู่ที่ 1,156,290 บัญชี เพิ่มขึ้น 188.04% ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งหมด 4,670,287 บัญชี นับตั้งแต่ ก.พ. 2563 นักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 16 โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 การซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 47.18%

เมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. 2564 ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่านายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 64) พบว่ามียอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่อยู่ที่ 1,156,290 บัญชี เพิ่มขึ้น 188.04% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอดเปิดบัญชีใหม่แค่ 401,439 บัญชี ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งหมด 4,670,287 บัญชี

ทั้งนี้เทรนด์เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่เป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดทั่วโลก มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ 1.ภาวะดอกเบี้ยต่ำทำให้คนสนใจสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น 2.การทำงานที่บ้าน (Work from Home : WFH) หนุนให้คนมีความคุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลมากขึ้น อาทิ เรียนออนไลน์, หาข้อมูลออนไลน์, ช็อปปิ้งออนไลน์ และทำให้การเปิดบัญชีหุ้นทำได้ง่ายขึ้น 3.บริษัทจดทะเบียนมีการกระจายหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก เช่น บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ซึ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นทำให้มีการเปิดบัญชีหุ้นใหม่เพิ่มขึ้น

นายศรพลกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ไม่แนะนำให้นักลงทุนเปิดเพื่อมาเล่นแค่ระยะสั้น แต่อยากให้มีความรู้และศึกษาข้อมูลหุ้นให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน และจุดแข็งที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ คือการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนมีมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลวงกว้าง และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมาก

นายศรพลกล่าวว่า นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2563 ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 นักลงทุนรายย่อยมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 16 โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2564 การซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 47.18% ของมูลค่าการซื้อขายรวม เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากต้นปี’64 ที่อยู่ระดับ 40% ต้น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนหลักที่ช่วยพยุงตลาดหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ปัจจุบันอยู่ที่ 37.71% และสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนสถาบัน 6.38% และสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของบัญชีหลักทรัพย์ 8.73% โดยปีนี้นักลงทุนต่างชาติ “ขายสุทธิ”หุ้นไทยไปแล้ว 77,817 ล้านบาท เป็นการขายหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่นักลงทุนรายย่อยมีสถานะซื้อสุทธิกว่า 111,276 ล้านบาท

ด้าน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่า (value investor : VI) กล่าวว่ายอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่ที่สูงขึ้นนั้น สะท้อนถึงเม็ดเงินทั่วโลกรวมถึงไทยล้นระบบ และไม่มีช่องทางลงทุนอะไรที่ดี ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ทำให้คนต้องอยู่บ้าน มีเวลา ไม่ค่อยได้ทำงาน จึงนำเงินออกมาลงทุนในตลาดหุ้นและคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งถือเป็นเทรนด์ทั่วโลก แม้กระทั่งตลาดหุ้นเวียดนามที่ล้าหลังกว่าตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก แต่จำนวนนักลงทุนหน้าใหม่ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (สิ้นเดือน มิ.ย. 2564) พบว่ายอดเปิดบัญชีผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รวมอยู่ที่ 1,177,937 บัญชี เพิ่มขึ้น 708,807 บัญชี หรือประมาณ 151.09% นับจากเดือน ม.ค. 2564 ที่มียอดเปิดบัญชี 469,130 บัญชี

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของยอดเปิดบัญชีของผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความต้องการแสวงหาผลตอบแทนในการลงทุน เมื่อมีสินทรัพย์ทางการเงินที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงเกิดขึ้น จึงมักจะสนใจเข้าไปลงทุน เช่น คริปโทเคอร์เรนซี ประกอบกับการเปิดบัญชีซื้อขายได้อย่างรวดเร็วและง่ายกว่าในอดีต ก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้มีจำนวนผู้ซื้อขายให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงโซเชียลมีเดียที่เป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการโพสต์เกี่ยวกับผลตอบแทนก็เป็นตัวเร่งให้มีการเข้ามาซื้อขายกันมากขึ้นและโดยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: