ทำไมถึงมีการคัดค้าน การขึ้นทะเบียนมรดกโลก กลุ่มป่าแก่งกระจาน

มานพ คีรีภูวดล 28 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2305 ครั้ง


ทำไมถึงมีการคัดค้าน การขึ้นทะเบียนมรดกโลก กลุ่มป่าแก่งกระจาน

การประกาศให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกนับเป็นเรื่องที่ดี ถ้าหาก ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยเฉพาะต่อพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม และหากหน่วยงานภาครัฐมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทต่างๆ และไม่ต้องมีคนเสียชีวิต เพียงเพราะออกมาต่อสู้เรียกร้อง 'สิทธิมนุษยชน'

หากเราย้อนดูความเป็นมา

จากหลักฐานที่มีอยู่ของชุมชนใจแผ่นดิน ซึ่งพบในแผนที่ทหารปี 2455 แสดงว่า ชุมชนดังกล่าวอยู่มานับร้อยปี อยู่ก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

มีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2515 ปรากฎร่องรอยการอยู่อาศัย หรือทำประโยชน์ในที่ดิน

ช่วงปี 2513 - 2520 มีหลักฐานชัดเจนว่า มีนายอำเภอเข้าไปทำชุมชนสัมพันธ์มีการแจกเหรียญชาวเขามีตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นไปแจกยา

ปี 2538 หัวหน้าอุทยานในขณะนั้น นายสามารถ ม่วงไหมทอง ได้เจรจา ให้ชาวบ้านลงมาอยู่ในพื้นที่่ที่รัฐจัดสรรให้ ซึ่งก็คือ หมู่บ้านบางกลอยล่างในปัจจุบัน สัญญาว่า จะจัดสรรที่ดินทำกินให้ แต่เมื่อลงมา หลายครอบครัวไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ส่วนที่ดินที่จัดสรรให้ ก็ไม่สามารถทำกินได้ เนื่องจากมีลักษณะเป็นหิน

ปี 2553 ยุทธการตะนาวศรี นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานในขณะนั้นได้มีการ เผายุ้งฉางข้าว บ้านเรือน ของชาวบ้าน จนนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง

3 สิงหาคม ปี 2553 มีมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง 'แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง' ซึ่งมีข้อหนึ่งคือ ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม

แต่มติดังกล่าว กลับถูกละเลยมาตลอด

10 กันยายน 2554 อาจารย์ป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม ถูกลอบสังหาร

อาจารย์ป๊อด เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดเพชรบุรี ผู้คลุกคลีกับพี่น้องกระเหรี่ยง ในพื้นที่แก่งกระจาน และร่วมต่อสู้ปกป้องพี่น้อง และไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐผลักดันพี่น้องลงมา

ปี 2554 บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกอุ้มหาย และพบกระดูกมนุษย์และถังน้ำมัน บริเวณสะพานแขวน ในพื้นที่อุทยาน และ 3 ก.ย. 2562 เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า กระดูกดังกล่าว คือ บิลลี่

5 ตุลาคม 2561 ปู่คออี้ เสียชีวิตในวัย 107 ปี ความฝันของปู่ที่ขอตายที่บ้านเกิด ใจแผ่นดิน ก็ไม่สามารถเป็นไปได้จริง คำพูดของปู่ที่ว่า 'น้ำนมหยดแรกที่ดื่มกิน ก็ที่ใจแผ่นดิน เราอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่เกิด' ก็ยังเป็นหลักฐานและคำพูดที่ติดในใจของคนในสังคม

มกราคม 2564 ชาวบ้านได้เดินทางกลับไปที่ ใจแผ่นดิน อีกครั้ง ประมาณ 70-80 คน แต่แล้วก็เดินทางครั้งนี้ก็จบลง ด้วยยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร ที่มีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ ขึ้นไปกดดัน บังคับชาวบ้าน ให้ลงมา มีการละเมิดสิทธิสิทธิขั้นพื้นฐานในการจับกุม เช่นการไม่ให้ทนายหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมในการสอบสวน มีการบังคับให้ลงชื่อ เป็นต้น

มีชาวบ้านถูกดำเนินคดี 28 ราย ในข้อหาบุกรุกแผ้วทางป่า ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2562 , พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 , พ.ร.บ.ป่าสงวน ปี 2507
ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 4-20 ปี และ 4 แสน- 2 ล้านบาท

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เราจะพบว่าปัญหาในพื้นที่ของพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยนั้น ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง หรือมีกระบวนการมีส่วนร่วมใดๆ

ซึ่งสวนทางกับการที่ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในอนุสัญญามรดกโลก แถลงในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 44 ที่จีนเป็นเจ้าภาพ ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการจัดการดูแลความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เป็นอย่างดี

การประชุมดังกล่าวจบลง ด้วยมติเห็นชอบให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก โดยเห็นชอบ 12 ประเทศ จากทั้งหมด 21 ประเทศ

ประเทศนอเวย์ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ หรือ IUCN ได้เสนอให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกออกไปก่อน เพื่อให้ประเทศไทย ไปจัดการปัญหาเรื่อง ชนเผ่าพื้นเมือง ที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

เราจะเป็นมรดกโลก ท่ามกลางปัญหา และมีพี่น้องชาติพันธุ์ถูกดำเนินคดีอยู่ ได้อย่างไร

สุดท้าย เราต้องจับตาการทำงาน ของทางรัฐบาล และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าหลังจากการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วนั้น จะมีมาตรการดำเนินการหรือมีความจริงใจ ในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมอย่างไร หรือจะยิ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือใช้ความรุนแรงกับพี่น้องชาติพันธุ์มากขึ้น ดังที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต

 

*เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊ค Manop Keereepuwadol-มานพ คีรีภูวดล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: