รายงานชี้โอกาสสำคัญของภาคเอกชนอาเซียน ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติ

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4792 ครั้ง

รายงานฉบับใหม่เมื่อปลายปี 2020 ขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (Conservation International) และเครือข่าย ชี้โอกาสสำคัญของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติในด้านการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายในการลงทุนด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติ และโอกาสในการทำธุรกิจแบบเจาะจงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ | ที่มาภาพประกอบ: Joel Vodell on Unsplash

เมื่อช่วงปลายปี 2020 องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (Conservation International), ธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ (DBS Bank), มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) และบริษัทเทมาเส็ก (Temasek) ได้ร่วมกันตีพิมพ์รายงานเรื่อง กรณีธุรกิจกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติ: ข้อมูลเชิงลึกและโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Business Case for Natural Climate Solutions: Insights and Opportunities for Southeast Asia) โดยมีการนำเสนอรายงานฉบับนี้ในช่วงหนึ่งของการประชุมเสมือนจริงที่เรียกว่า การเจรจาอีโคสเปอริที (Ecosperity Conversations) ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดการอภิปรายที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืน จัดขึ้นโดยบริษัทเทมาเส็ก

รายงานนี้เป็นงานวิจัยที่จัดทำเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชี้ให้เห็นโอกาสที่ธุรกิจต่าง ๆ จะลงทุนในการแก้ไขปัญหา สภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติ (Natural Climate Solutions: NCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่ควบคุมกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อลดหรือกำจัดก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นการนำ NCS ไปใช้ในวงกว้าง นอกจากนี้ รายงานยังนำเสนอประเด็นที่ธุรกิจต่าง ๆ นำไปปฏิบัติได้ เพื่อประเมินโอกาสของ NCS และมีส่วนร่วมกับภาครัฐในภูมิภาค

"เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติในวงกว้าง เราต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนในการปรับใช้เงินทุน และรักษาทุนทางธรรมชาติ รายงานฉบับนี้รวบรวมมุมมองต่าง ๆ จากผู้มีบทบาทในหลายภาคส่วนเพื่อกำหนดกรณีการลงทุนสำหรับ การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคหนึ่งที่เป็นอ่างเก็บคาร์บอนทั้งทางพื้นดิน และทะเลที่มีปริมาณมากที่สุด" โรบิน ฮู หัวหน้ากลุ่มความยั่งยืนและการให้การดูแลจากเทมาเส็กกล่าว

กรณีทางธุรกิจสำหรับ NCS

จากข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าอุณหภูมิทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในระหว่างปี พ.ศ. 2573 ถึง 2595 ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในระยะยาวต่อระบบธรรมชาติและมนุษย์ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและมีอัตราการเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงและเลวร้ายเพิ่มขึ้น [1]

งานวิจัยหลายฉบับแสดงให้เห็นว่า NCS มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาผลกระทบที่ร้ายแรงเหล่านี้ ด้วยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากการบรรเทาปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.1 หมื่นล้านตันต่อปี NCS สามารถบรรเทาผลกระทบที่จำเป็นได้กว่าหนึ่งในสาม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของความตกลงปารีสภายในปี พ.ศ. 2573 [2] แต่กระนั้น การเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่ NCS ได้รับกลับมีไม่ถึง 3% ซึ่งเป็นสัญญาณให้ทราบว่าต้องมีการลงทุนเพื่ออุดช่องว่างทางการเงินที่จำเป็นสำหรับ NCS ในการยกระดับและไปให้ถึงเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เป็นผู้กำหนด เพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลงจนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 รายงานฉบับใหม่เน้นย้ำถึงบทบาทที่ธุรกิจต่าง ๆ สามารถมีส่วนช่วยลดช่องว่างนี้ควบคู่ไปกับ

ผลประโยชน์ที่ธุรกิจต่าง ๆ จะได้รับ

ภาคเอกชนได้รับผลประโยชน์ที่สำคัญและโดดเด่นในฐานะผู้ลงทุนใน NCS เมื่อเทียบกับภาครัฐ ภาคเอกชนมักจะสามารถ ปรับใช้กลุ่มการลงทุนขนาดใหญ่กว่าได้อย่างรวดเร็วมากกว่าและมีความเสี่ยงจะกระทบกระเทือนทางการเมืองน้อยกว่า นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังมีทักษะในการพัฒนาแบบจำลองที่คุ้มค่าซึ่งในด้านการเงินพึ่งพาตนเองได้

ด้วยความเร็วและขนาดของความสามารถในการปรับใช้เงินทุน ธุรกิจต่าง ๆ จึงอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นในการเร่งให้เกิด การลงทุนใน NCS และกระตุ้นตลาดคาร์บอนที่เฟื่องฟูโดยการซื้อสิ่งชดเชย นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดคาร์บอน ที่เกิดขึ้นได้ผลจริง ธุรกิจต่าง ๆ ควรให้เครดิตคุณภาพสูงและราคาที่เป็นธรรม สนับสนุนการออกแบบ และต้นทุนการพัฒนา รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาและให้ความช่วยเหลือด้านนโยบาย

โครงการ NCS ต่าง ๆ เทียบได้กับตัวเลือกทางวิศวกรรม (เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บ คาร์บอน) ในแง่ของต้นทุนและผลตอบแทนการลงทุน แต่ดีกว่ามากเมื่อพิจารณาจากประโยชน์ด้านอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ คาร์บอน เช่น ผลลัพธ์ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โครงการ NCS ต่าง ๆ จะสร้างผลกระทบเชิงบวกได้มาก อันนอกเหนือจากประเด็นด้านคาร์บอนเพียงอย่างเดียว เมื่อมีการนำใช้พร้อมการป้องกันที่เหมาะสม เช่น การอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และนิเวศบริการแก่ชุมชนในท้องถิ่น เช่น การจัดหาน้ำจืด อาหาร และการบรรเทาความเสี่ยง จากภัยพิบัติ

"เราจะพบว่าระบบนิเวศที่มีคาร์บอนสูงที่สุดในโลกหลายแห่ง ทั้งป่าเขตร้อน พื้นที่ดินพรุ และป่าชายเลน อยู่ในเอเชียนี่เอง ธรรมชาติมอบเทคโนโลยีที่ดีที่สุดและคุ้มค่าที่สุดสำหรับกำจัดคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ แต่กลับมีเงินทุนไม่มาก แม้ว่าจะมีการจัดทำข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศระดับองค์กรใหม่ ๆ ขึ้นทุกวัน รายงานฉบับนี้มอบแนวทางการดำเนินงาน ที่ชัดเจนสำหรับการลงทุนโดยตรงในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศแบบธรรมชาติ" ดร. ริชาร์ด โจ รองประธานอาวุโสของ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ฝ่ายพื้นที่เอเชีย-แปซิฟิก กล่าว

โอกาสของ NCS ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลประโยชน์จาก NCS ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเป็นที่จับตามอง เนื่องจากภูมิภาคแห่งนี้มีป่าดิบชื้นที่กว้างใหญ่ รวมทั้งมีจำนวนต้นโกงกางและหญ้าทะเลที่หนาแน่น ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้จึงมีเงื่อนไขที่ดียิ่งในการลงทุนด้าน NCS และการนำไปใช้ทั้งกับคาร์บอนทางพื้นดินและทางทะเล รวมถึงศักยภาพมหาศาลสำหรับคาร์บอนที่ลงทุนได้ อาทิ งานวิจัยฉบับใหม่จากศูนย์การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอิงตามธรรมชาติของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS Centre for Nature-based Climate Solutions) ในปีนี้แสดงให้เห็นว่า การปกป้องป่าเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจทำให้เกิด ผลตอบแทนการลงทุนได้สูงถึง 2.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในหนึ่งปี

มีความคืบหน้าอย่างมากในการใช้และปลุกเร้าให้เกิด NCS ในประเทศต่าง ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศ กำลังพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการสนับสนุนให้มีการผนวก NCS ไว้ในระเบียบเหล่านั้น โดยในหน้าที่ 61-64 ของรายงานระบุถึงการวิเคราะห์ระดับของแต่ละประเทศ ที่ประเมินนโยบายการลงทุนด้าน NCS ที่สำคัญที่สุด รวมถึงโอกาสการมีส่วนร่วมทางนโยบายในการยกระดับ NCS

นอกจากการปกป้องป่า การปลูกป่าก็เป็นการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอีกประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นไปได้มากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้กระทั่งหลังจากที่พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ข้อจำกัดทางชีวกายภาพ การเงิน และการใช้ที่ดินแล้ว การปลูกป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เป็นไปได้ระหว่าง 0.4 ถึง 0.5 พันล้านตันต่อปี [3] ในบรรดาระบบนิเวศต่าง ๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่ามีความหนาแน่นสูงด้านการคาดการณ์ทางคาร์บอน สำหรับการลงทุนด้าน NCS รวมถึงคาร์บอนทั้งทางพื้นดินและทางทะเล

"การบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เป็นไปได้และการผลตอบแทนทางการเงินของ NCS เทียบได้กับการแก้ไขปัญหา โดยการบรรเทาทางวิศวกรรม หากพิจารณาผลประโยชน์ร่วมอื่น ๆ ที่มาจาก NCS เช่น อากาศและน้ำที่สะอาด ความสามารถในการฟื้นตัวของชายฝั่ง การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองความมั่นคงทางอาหาร และการป้องกันน้ำท่วม จะเห็นว่า NCS ให้ผลประโยชน์มากกว่า" ศาสตราจารย์โกห์ เหลียน ปิน ผู้อำนวยการศูนย์การแก้ไขปัญหา สภาพภูมิอากาศอิงตามธรรมชาติของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าว

การผลักดัน NCS ให้มีบทบาท

รายงานชี้ให้เห็นการดำเนินการห้าด้านที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ นำ NCS ไปใช้ โดยการลงทุนใน NCS และสิ่งชดเชยควรเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่กว้างขึ้น ซึ่งรวมถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยมุ่งเป้าที่จะทำให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 ตามความตกลงปารีส

ภาคเอกชนมีบทบาทที่ไม่เหมือนใครและสำคัญในการยกระดับ NCS โดยประกอบด้วยการซื้อและการให้เครดิต คาร์บอนคุณภาพสูง การสนับสนุนการพัฒนาแบบจำลองทางธุรกิจ และนวัตกรรมทางเทคนิคสำหรับการออกแบบการดำเนินการ และการตรวจสอบความถูกต้องของโครงการ รวมทั้งการสนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาล ในระดับชาติและเขตอำนาจศาล นั่นรวมถึงการปรับให้สอดคล้องกับกรอบการทำงานระดับประเทศซึ่งเป็นกรอบ ที่เกิดขึ้นใหม่สำหรับ NCS และการให้ความชัดเจนด้านการเป็นเจ้าของเครดิตเพื่อไม่ให้มีการนับซ้ำ

บริษัทต่าง ๆ ควรใช้ราคาต่อเมตริกตันที่โปร่งใสซึ่งสนับสนุนโครงการที่ยั่งยืนและ "คุณภาพสูง" การลงทุนในการวิเคราะห์เชิงพื้นที่เชิงลึกตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อหาขอบเขตทั้งหมดของทั้ง NCS และผลประโยชน์ร่วมที่ได้รับ จะช่วยรับรองถึง ROI ที่ดีขึ้นและตรงเป้าหมายมากขึ้น ช่วยประเมินผลกระทบ และอาจเรียกราคาที่สูงขึ้นได้

คาร์บอนทางทะเลเป็นโอกาสหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็ยังมีการนำเสนอในตลาดคาร์บอนอยู่น้อย เนื่องจากมีศักยภาพในการยกระดับที่จำกัดและข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ธุรกิจต่าง ๆ จึงควรค้นหาและกำหนดพื้นที่ เป้าหมายที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมได้มากที่สุด

มิคเคิล ลาร์เซน ประธานกรรมการด้านความยั่งยืนของธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า "การแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ แบบธรรมชาตินำเสนอวิธีการที่ดึงดูดในการจัดการกับแนวโน้มที่เป็นภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความพยายามโดยรวมในกลุ่มผู้มีบทบาททั้งภาครัฐและเอกชนเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้เรื่องนี้บรรลุผล ด้วยวิทยาศาสตร์ นักลงทุน และหน่วยโครงสร้างอื่น ๆ ของระบบนิเวศที่กำลังเข้าที่เข้าทางนี้ ตอนนี้เราจึงมาถึงจุดเปลี่ยนที่เราสามารถกระตุ้นการเติบโตและผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากโดยมีการผสานการลงทุน นวัตกรรม และความเชี่ยวชาญของภาคเอกชน ภาคเอกชนจำเป็นต้องพิจารณาผลประโยชน์ของชุมชนที่ตนรับใช้มากกว่าที่เคย แทนการมุ่งเน้นไปที่ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก สิ่งนี้ไม่เพียงเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ยังทำให้ธุรกิจต่าง ๆ อยู่ในจุดที่เหมาะสม ต่อการบรรเทาความเสี่ยงที่เป็นเป็นไปได้ และคว้าโอกาสในเขตแดนใหม่นี้ ที่ธนาคารแห่งชาติสิงคโปร์ เรามุ่งมั่นสนับสนุน การพัฒนาความร่วมมือและกรอบการทำงานทางอุตสาหกรรม ที่จะช่วยปูทางไปสู่อนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนยิ่งขึ้น"

ดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://bit.ly/3lTaBuz

อ้างอิง
[1] IPCC. (2018). IPCC, 2018: Summary for Policymakers (Global Warming of 1.5°C. An IPCC Special Report on the Impacts of Global Warming of 1.5°C above Pre-Industrial Levels and Related Global Greenhouse Gas Emission Pathways, in the Context of Strengthening the Global Response to the Threat of Climate Change, Sustainable Development, and Efforts to Eradicate Poverty)
[2] Griscom, B. W., Busch, J., Cook-Patton, S. C., Ellis, P. W., Funk, J., Leavitt, S. M., Lomax, G., Turner, W. R., Chapman, M., Engelmann, J., Gurwick, N. P., Landis, E., Lawrence, D., Malhi, Y., Schindler Murray, L., Navarrete, D., Roe, S., Scull, S., Smith, P., ... Worthington, T. (2020). National mitigation potential from natural climate solutions in the tropics. Philosophical Transactions of the Royal Society B: Biological Sciences, 375(1794), 20190126. https://doi.org/10.1098/rstb.2019.0126
[3] Y. Zeng, T.V. Sarira, L.R. Carrasco, K.Y. Chong, D.A. Friess, J.S.H. Lee, P. Taillardat, T.A. Worthington, Y. Zhang, L.P. Koh. 2020. Economic and social constraints on reforestation for climate mitigation in Southeast Asia. Nature Climate Change 10:842--844.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: