ถอดความจากงานเสวนา ‘ลุกขึ้นเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม’ (ช่วงบ่าย)

นิสากรม์ ทองทา | 10 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1617 ครั้ง


“มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า การทำไร่หมุนวนเวียนของน้องชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการยอมรับ ได้รู้แล้วว่าวิธีนี้เป็นมิตรมากกับสิ่งแวดล้อม แล้วถ้ามอง ในเมืองไม่มีป่านะ ป่ามีแต่อยู่บนดอยที่พี่น้องเราอยู่ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นหลักฐานแล้วว่าการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองต่างหากคือรากเหง้าของปัญหา”

จากเหตุการณ์บางกลอยที่เกิดขึ้น เราต่างพบว่านี่ไม่ใช่เพียงปัญหาข้อครหาการบุกรุกพื้นที่ป่าของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองเท่านั้น ปมอันซับซ้อนหยั่งรากลึกบนแผ่นดินไทยมาเนิ่นนาน  ดังที่มัจฉา พรอินทร์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กร​​​​​สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ผู้ประสานงาน V-Day Thailand และประธาน ​​​International Family Equality Day (I-FED) ได้กล่าวไว้ข้างต้น

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองคุกรุ่น ปัญหามากมายถูกแบ่งแยก ฉีกขาดออกจากกัน เวทีเสวนา ‘ลุกขึ้นเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม’ เมื่อ 6 มีนาคมที่ผ่านมาจึงเกิดขึ้น โดยองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ได้ร่วมมือกับ V Day Thailand, Feminista,  Thaiconsent ซึ่งเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง School of Feminist: Feminist Theory and Practice รวมทั้งภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนความเป็นธรรมในสังคมอีกมากมาย ได้แบ่งปันบทสนทนาในประเด็นความไม่เป็นธรรมอันหลากหลาย

บนผืนดินไทย มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

แอร์ สายรุ้นยามเย็น นักเคลื่อนไหวเยาวชน จากกลุ่มเยาวชนเพื่อนการพัฒนาอย่าง​​​​ยั่งยืน(IY4SD), องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน คือบุคคลหนึ่งผู้เติบโตมาใบบริบทการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่สงคราม ในฐานะการเป็นคนเผ่าพื้นเมือง LGBT+ และผู้หญิง “เมืองไทยไม่ยอมรับว่ามีชนพื้นเมือง พอไม่มีสัญชาติเราก็จะไม่มีสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการศึกษาที่เราเข้าไม่ถึง สิทธิ์ในการประกอบอาชีพ  แม้กระทั่งการรักษาพยาบาล เมื่อไหร่ที่เราไปโรงพยาบาล นอกจากจะถูกเลือกปฎิบัติแล้ว เรายังไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ ของภาครัฐเลย” นักเคลื่อนไหวเยาวชนกล่าว

“ยิ่งกว่านั้นเรายังมีปัญหาสิทธิครอบครองที่ดินของบรรพบุรุษของเราเอง บวกกับมีกฎหมายที่มาควบคุมคนในชุมชน บ้านตัวเองถูกประกาศเป็นเขตอุทยาน คนชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไม่ถึงสิทธิ์การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แม้เราจะอยู่กับป่า เป็นป่าที่เป็นจิตวิญญาณของเรา เราไม่สามารถไปหาผักในป่าได้ ถึงแม้ว่าป่าเราจะอุมสมบูรณ์แค่ไหนคนในชุมชนไม่สามารถไปจะใช้ได้ มีแม่น้ำขนาดใหญ่แต่เราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแม่น้ำตรงนั้น คนในชุมชนขาดแคลนน้ำสะอาด ยิ่งกว่านั้นเราในชุมชนยังถูกขับให้ไปก่อตั้งในพื้นที่เสี่ยง แน่นอนว่าบ้านของทุกคนต้องป็นพื้นที่ปลอดภัยแต่สำหรับคนในชุมชนบ้านเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อชีวิตและจิตใจของพวกเราโดยเฉพาะผู้หญิง เราต้องนอนอย่างหวาดกลัว นี่คือปัญหาที่เราเผชิญ”

แอร์ยังเล่าต่อไปอีกว่า  การมีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิงและมีความหลากหลายทางเพศจะได้รับความรุนแรงจากการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา ถูกบังคับให้แต่งงาน และต้องเข้าไปเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัว ในรูปแบบความเป็นสามีภรรยา ขณะที่การเป็นเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศจะไม่ถูกยอมรับนับแต่ในระดับครอบครัวจนถึงชุมชน แอร์เจอการคุมคามตลอดเวลา

“ในวิกฤตโควิด เราเจอปัญหาซับซ้อน เจอวิกฤตด้านอาหาร เจอความรุนแรงจากครอบครัวมากกว่าเดิม นี่คือผลจากบริบทที่เราเติบโตมาในพื้นที่สงคราม เป็นชนเผ่าไม่มีสัญชาติ เป็นผู้หญิง แล้วก็มีความหลากหลายทางเพศ” 

ในสถานการณ์โควิด ไม่ใช่เพียงกลุ่มชาติพันธุ์โดยทั่วไป ​​​​ปสุตา ชื่นขจร ทนายความผู้ทำงานในมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการ​​​​พัฒนา และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เพจ HRDM กล่าวถึงประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิที่แรงงานข้ามชาติต้องพบเจอเช่นกัน “คนที่เราทำงานด้วยส่วนมากเป็นพี่น้องประเทศเพื่อนบ้าน คนที่เข้าไม่สิทธิบางอย่าง เขาไปอยู่ตรงไหนบ้างเราไม่รู้ รวมๆ ทั้งหมดเกือบห้าล้านคนในประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นคือรัฐมีการสร้างชาติด้วยวิธีการสร้างศัตรู ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเรานี่เอง วาทกรรม(การสร้างชาติ)เหล่านั้นถูกหยิบยกเข้ามา สื่อกระแสหลักมักตีความอย่างนั้น ล่าสุดสถานการณ์โรคระบาดกลุ่มแรงงานก็ตกเป็นแพะ คนที่ถูกตีตราว่าคุณลักลอบเข้าเมือง คนเห็นแก่ตัว แต่เรื่องนี้ตบมือข้างไม่ดัง โครงสร้างรัฐไทยทำให้คนต้องกลายเป็นคนผิดกฎหมายเสมอ” เมื่อข้อมูลยากที่จะเข้า คนที่มีความรู้ก็จะนำเพื่อนบ้านเราเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ก่อเกิดความเปราะบางด้านสถานะ ทั้งยังพบเจอการขูดรีด ดังจะเห็นชัดเจนในสถานการณ์โควิดจังหวัดสมุทรสาคร  กลุ่มแรงงานถูกทำให้หลายเป็น Super Spreader นี่คือภาพมายาคติต่อกลุ่มคนที่ถูกผลักให้กลายเป็นชายขอบของประเทศ

ในประเด็นกฎหมาย ปุสตาบอกเล่าถึงบริบทของช่องโหว่งอันใหญ่โต “ตัวกฎหมายเหมารวมทุกคน ทั้งที่แรงแต่ละเชื้อชาติ  แต่ละภูมิภาคเขาไม่เหมือนกัน ในปัจจุบัน รัฐก็ไม่ได้ช่วยเรื่องการเข้าถึงข้อมูลแรงงาน ไม่มีล่ามแรงงาน แรงงานจึงประสบปัญหาด้านการสื่อสาร และต้องออกจากบริการขั้นพื้นฐาน พวกเขาเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะสถานีตำรวจ หรือสำนักงานสวัสดิการก็ตาม”

           

ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ไล่ลามจนถึงกลุ่มคนผู้ทำงานแรงงาน ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดเร็วๆ นี้ ทั้งหมดคาราคาซังมาตั้งแต่เริ่มมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ป่าในเมืองไทย กระบวนการละเมิดสิทธิดำเนินมายาวนาน ดังที่ อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหาร เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานเครือข่าย “เริ่มตั้งแต่ปี 2534 เราจะเห็นว่าปัญหาที่ดินมักถูกโยงเข้าเรื่องความมั่นคง ตอนนั้น พลเอกสุจินดาทำการรัฐประหาร มีนโยบายโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้พี่น้องในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ‘รัฐได้ป่า ประชาได้ที่ดินทำกิน’ แต่สุดท้ายชาวบ้านถูกขับไล่ออกจากที่ดิน คล้ายๆ กับพี่น้องบางกลอย สุดท้ายพอเกิดกระบวนการต่อสู้ พี่น้องก็ต่อสู้จนได้กลับคืน ในยุคสมัยของ รสช.

และเป็นอีกครั้งเมื่อมีการยึดอำนาจในปี 2557 นโยบายของรัฐว่าด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ  กลับกลายเป็นการไล่ที่ทำกินชาวบ้าน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขบวนการช่วงชิงพื้นที่กลับคืนมาของชาวบ้านเองก็ได้รับความไม่เป็นธรรม  จนมีพี่น้องของพวกเขาถูกบังคับให้สูญหาย ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขาตระหนักในความไม่เป็นธรรม

อรนุชกล่าวถึงกรณีบังคับสูญหาย ที่หาสาเหตุไม่เจอ หาคนทำก็ไม่ได้ “ล้มเหลวในเรื่องความยุติธรรมที่โยงถึงสิทธิมนุษยชนในปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาส่วนนึงเกิดมาจากมติครม.ที่รัฐพยายามอ้าง ปัญหายิ่งทวีความรุนแรง อย่างสิ่งที่รัฐพูดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่พูดถึงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมหรือเข้ามามีบทบาทเลย ที่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับพี่น้องบางกลอยด้วย” เสียงของประชาชนผู้อยู่ภายใต้กฎหมาย คือสิ่งที่รัฐจำเป็นต้องหันมาฟังอย่างตั้งใจ

พฤ โอ่เดชา ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ​ อีกเสียงสำคัญที่ขอเล่าขานความไม่เข้าใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย “ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐไทยตั้งใจจะไม่ให้สิทธิพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นสตรี หรือเพศสภาพต่างๆ กฎกติกาออกแบบโดยไม่รับรองพวกเรา ไม่เขียนกฎหมายให้คนชายขอบได้มีสิทธิ์ เราลำบากในการส่งเสียง กลุ่มคนชาติพันธุ์ หรือคนภาคอีสานก็อยู่ในสภาพเดียวกัน”

พฤเล่าว่าเขาเดินทางไปถึงจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหญ่ จรดชายแดนต่างๆ และได้พบว่ากฎหมายที่ควรปกป้องคุ้มครองมนุษย์ทุกคนกลับถูกเขียนขึ้นมาเพื่อครอบพฤติกรรมของพวกเขาเอาไว้ กฎหมายอุทยาน กฎหมายป่าสงวน และอื่นๆ ทับถมผู้คน บุกรุกบ้านของคนในประเทศเดียวกันเอง กฎหมายที่เขาเจอ เขียนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ ต้นไม้ และสัตว์ป่า และเมื่อไปถึงชั้นศาล การไม่มีโฉนดที่ดิน คือส่งที่ตัดสินว่าพวกเขาผิดกฎหมาย

 “เขาบอกว่าทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย แต่กฎหมายไม่ยุติธรรมกับพวกเราทุกคน กรณีบางกลอยเนี่ย ชาวบ้านเขาอยู่ของเขามานาน แต่มาบอกว่าผิดนะ แล้วไล่เขาลงไป บอกว่าข้างล่างมีข้าว มีน้ำ มีโรงเรียน พอลงไปจริงกลับไม่มี เขาบอกให้ชาวบ้านทำงานรับจ้าง ชาวบ้านก็พยายามจะทำ แต่พอไม่มีข้าวกินก็อยู่ไม่รอด คนส่วนนึงอาจอยู่รอด แต่คนอีกส่วนไม่รอด นี่คือระบบที่รัฐไทยบอกว่าเป็นประชาธิปไตย คือฟังเสียงคนส่วนใหญ่รักษาคนส่วนน้อย แล้วตอนนี้ที่ทิ้งคนส่วนน้อยไปเลยเรียกว่าระบบอะไร”

รากเง้าที่แท้จริง

โครงสร้างสังคมขนาดใหญ่ที่หลากหลาย และทุกสิ่งถักทอร้อยเรียงเชื่อมต่อกัน ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต้นธารของปัญหาเหล่านี้ช่างยุ่งเหยิง รัดพันกันจนยากจะมองออกว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากสิ่งใด มัจฉา พรอินทร์ ได้มอบคำตอบให้พวกเราเอาไว้ ในฐานะของคนอีสาน ซึ่งบางส่วนถูกผลักให้เป็นคนชายขอบ นักเคลื่อนไหวคนนี้ต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ ภายใต้ความเป็นเฟมินิสต์และ LGBT+

“เราต่อสู้กับรากฐานชายเป็นใหญ่ ครอบครัวเราก็ใช้ความรุนแรง เคยตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมแม่ไม่ถูกสนับสนุนให้ออกจากความรุนแรง เราสู้กับระบบทุนนิยม ในการแย่งชิงที่ดิน เราอยากเห็นความเป็นธรรมทางด้านเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่แค่เพศ หลายคนไม่เชื่อว่าประเทศไทยมีการทำร้ายคนที่มีความหลากหลายทางเพศ​ และเราเองก็ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ มีคนมาเผาบ้านเราเพราะเราเป็นเลสเบี้ยน เราต่อสู้กับระบบความเชื่อความคิด วัฒนธรรม ศาสนา ทำไมกฎหมายสมรสเท่าเทียมมันยังไม่ประสบความสำเร็จ  เราต่อสู้กับความรุนแรง อาวุธ ระบบทหารนิยม เราทำงานเพื่อสร้างกฎหมาย สร้างนโยบายคุ้มครองคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ระบบการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมเราก็ไม่ยอมรับ เราต้องการนักการเมืองที่ฟังประชาชน เรื่องใหญ่คือเรื่องของการมีอธิปไตยในเรื่องร่างกายตัวเอง เราเชื่อว่า เรื่องทั้งหมดนี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และถ้าเราทำได้มันคือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง” มัจฉาขับเคลื่อนองค์กรและโครงการมากมายโดยยึดมั่นว่าสิทธิมนุษยชนคือพื้นฐานสำคัญของโครงสังคม 

 เช่นเดียวกับกัน แน่งน้อย แซ่เซ่ง ประธานเครือข่ายผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองแห่ง​​​​​ประเทศไทย ผู้มีวิสัยทัศน์ต่อคนในชนเผ่าพื้นเมืองว่าทุกคนมีศักยภาพในการเสริมสร้างครอบครัว เพราะว่าสตรีในชนเผ่าจะถูกกดทับในหลายระดับ ทั้งในครอบครัว ชุมชน ผู้หญิงในชนเผ่าไม่สามารถที่พูดหรือเสนอความต้องการของตนเอง แม้แต่ร่างกายของตนเองก็ยังเป็นขอผู้ชาย แน่งน้อยเล่าว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับผู้หญิงชนเผ่าคือนับแต่วินาทีแรกเกิด ทุกคนถูกเลือกปฏิบัติ ถามว่าผิดด้วยหรอที่เกิดเป็นผู้หญิง แต่คำถามนี้คือคำถามที่ไม่มีใครตอบได้ ไม่ว่าจะเอ่ยถึงรัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎจารีต กฎวัฒนธรรม และบรรทัดฐานของสังคม ไม่ว่าบทลงโทษจากความแตกต่างหลากหลายจะสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้หรือไม่ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการกดทับความเป็นมนุษย์ด้วยกันเองทั้งสิ้น

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ถึงแม้ต้นสายของปัญหาจะหยั่งลึก และปลายเหตุจะเบ่งบานมากเพียงใด เราก็ยังมองเห็นแสงสว่างได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับรู้เรื่องราวการขับเคลื่อนของพวกเขา นักเคลื่อนไหว ในงานเสวนาครั้งนี้ ด้วยความเชื่อมั่นของการต่อสู้จากหลายๆ ฝ่าย  อย่างที่พฤ โอ่เดชา ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคเหนือ​กล่าว “ถ้าเราเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มต่างๆ เราขับเคลื่อนอย่างเข้าใจกัน มันน่าจะเกิดผล แต่ตอนนี้เราแยกกันทำ แล้วระบบรัฐก็เอื้อให้เราแยกกันทำ และมันกลายเป็นไม่มีพลัง”

สิ่งที่พวกเขาอยากเห็น คือ ความเป็นธรรมทางเพศและสังคม ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การกระจายอำนาจที่เป็นธรรม และให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การมีเสรีภาพ ไม่ใช่เอารัดเอาเปรียบ แล้วเมื่อมีประชาธิปไตยเต็มใบ ทุกคนจะพัฒนาไปพร้อมกัน 

กระบวนการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือแรงงานข้ามชาติ และการกดขี่ทางเพศ อาจต้องเริ่มจากการสร้างความกระหนักรู้ให้ทุกคนในสังคมได้เข้าใจสิทธิและความเสมอภาคที่ตนเองมี รวมทั้งทำงานกับคนที่มีอำนาจเพื่อผลักดันนโยบาย และสุดท้ายนำไปสู่ผลักดันด้านกฎหมายในระดับประเทศและนานาชาติ สิ่งสำคัญคือ นอกเหนือไปจากกฎหมายแล้ว เรายังต้องเท่าทันกฎจารีต อย่างที่มัจฉาว่า “เพราะระบบกฎหมายบังคับคน และเรามักจะมองเห็นสิ่งที่เขียนขึ้นเท่านั้น แต่อีกระบบที่ควบคุมคนในชุมชน เราอาจเรียกว่าบรรทัดฐานสังคม หรือวัฒนธรรมก็ได้ มันไปบังคับคนให้อยู่ในวัฒนธรรม มันคล้ายกฎหมาย คือมีวิธีการโบยตีคนที่ไม่อยู่ในร่องในรอย” และกฎหมายใหญ่ควรจะมองเห็นรากลึกเพื่อลงมือแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

“อย่าคิดว่าปัญหาพวกนี้ไม่สำคัญ ไม่อย่างนั้นจะมีคนฆ่าตัวตายได้อย่างไร” ถ้อยคำของ แอร์ สายรุ้นยามเย็น “เราอยากให้รัฐแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและจริงจัง รัฐต้องยอมรับว่าคนชนเผ่าพื้นเมืองในเมืองไทยมีอยู่จริง กลุ่มผู้หญิงและเยาวชนต้องมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือ เราต้องการมีเสียงมีพื้นที่มีตัวตนโดยพื้นที่ตรงนั้นต้องปลอดภัย ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่พูดเรื่องของตัวเองก็มีสิทธิ์ที่จะถูกจับ ต้องมีคนที่เสียหายต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ถ้าไม่มีเสียงของเจ้าของปัญหา การแก้ไขปัญหาไม่ว่ากฎหมายกี่ฉบับก็ไม่สามารถออกจากปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน”

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
นิสากรม์ ทองทา ผู้ผ่านการอบรม School of Feminist: Feminist Theory and Practice 2021 ชอบเขียนหนังสือ วางแผนจะท่องเที่ยวในทุกวัน และชื่นชอบงานศิลปะเป็นที่สุด แม้จะวาดภาพไม่เก่งก็ตามที

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: