ที่ดินกองทัพ ดินแดนลึกลับในระบบงบประมาณ

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย 27 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 5867 ครั้ง


เคยสงสัยไหมว่าที่ดินและทรัพย์สินของหลวงในประเทศไทยใครเป็นเจ้าของ? ใครเป็นผู้ดูแล?

เกริ่น: สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ที่ดินในราชอาณาจักรนั้นเป็นของกษัตริย์ ที่จะเวนคืน บริหารจัดการ หรือจะยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ตามพระราชประสงค์ เพราะอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของพระเจ้าแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียว แต่ต่อมามีการยินยอมให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยเฉพาะหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ไอเดียเรื่องความเป็นเจ้าของของทรัพย์สินของรัฐนั้นเปลี่ยนจากกษัตริย์ไปเป็นของประชาชนส่วนรวม หรือของสาธารณะ ที่มีหน่วยงานองค์กรของรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังคงมีปัญหาในเชิงข้อกฎหมายและในเชิงปฏิบัติจริงอยู่หลายประการตลอดมาจนถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะมาเล่าถึงปัญหาเพียงแค่แง่มุมหนึ่งเท่านั้น....

1. ในปีงบประมาณ 2565 กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้งบประมาณ 3,858 ล้านบาท

2. กรมธนารักษ์ มี 4 ภารกิจ คือ 2.1) บริหารที่ราชพัสดุ 2.2) ประเมินราคาที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 2.3) ผลิตเหรียญกษาปณ์ 2.4) ดูแลทรัพย์สินมีค่า เช่น เหรียญกษาปณ์โบราณ

3. ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงไม่ใช่แค่หน่วยรับงบ แต่เป็นหน่วยงานจัดเก็บรายได้ด้วย
โดยปีนี้ตั้งเป้าเก็บรายได้ “ค่าเช่าที่ราชพัสดุ” 7,700 ล้านบาท

4. แต่ที่ราชพัสดุมีอยู่ประมาณ 12.5 ล้านไร่
- 96% เป็นหน่วยงานรัฐถือครอง
- อีก 4% กรมธนารักษ์บริหารเอง เป็นที่มาจัดเก็บรายได้ค่าเช่า

5. แต่ที่ผ่านมามีปัญหาหน่วยงานรัฐไม่ยอมส่งคืนที่ดินราชพัสดุทั้งที่ไม่ใช้ประโยชน์ ตามเงื่อนไขที่กรมธนารักษ์กำหนด

6. กระทรวงกลาโหมคือหน่วยงานที่ถือครองที่ราชพัสดุมากที่สุด โดยถือครองที่ดินรวมกัน 6.25 ล้านไร่ หรือ 50% ของที่ราชพัสดุทั้งประเทศ หรือคิดง่ายๆ คือขนาดพื้นที่ประมาณ 5 เท่าของกรุงเทพมหานคร

7. นอกเหนือจากที่ดิน ที่ตั้งเป็นหน่วยงานทหารแล้ว ยังมีที่ดินที่เรียกว่า “ที่ราชพัสดุเพื่อสวัสดิการ”

8. ซึ่งกรมธนารักษ์แบ่งออกเป็น

8.1 สวัสดิการเชิงธุรกิจ
- เปิดให้ประชาชนภายนอกมาใช้บริการได้
- ต้องทำสัญญาเช่า และจ่ายค่าเช่าและผลประโยชน์ให้กรมธนารักษ์
(เป็นกิจการที่แสวงหากำไร ก็ควรจะแบ่งกำไรกับเจ้าของที่)
- เช่น สนามมวย สนามม้า

8.2 สวัสดิการภายใน
- เป็นไปเพื่อข้าราชการและครอบครัวโดยตรง
- ไม่ต้องทำสัญญาเช่า และไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์กับกรมธนารักษ์
- เช่น บ้านพัก ร้านค้าสวัสดิการ
- รวมถึงปั๊มน้ำมันด้วย แม้มีประชาชนภายนอกไปเติมก็ตามแต่กฎหมายอ้างว่า หากข้าราชการใช้บริการมากกว่าประชาชน ก็ให้ถือว่าเป็น สวัสดิการภายใน

9. ครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุอยู่ในมือกลาโหม ทำให้เกิดคำถามว่า
- ใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง?
- สวัสดิการต่างๆ ที่จัดให้มีความจำเป็นมากแค่ไหน?
- ตรงกับความต้องการของบุคลากรกระทรวงกลาโหมหรือไม่?
- เหตุใดจึงไม่นำที่ดินคืนกรมธนารักษ์ แล้วของบสวัสดิการโดยตรงจากสภา?

10. จากรายงานข่าวของ The Matter กิจการเชิงธุรกิจของกองทัพได้แก่
- สนามกอล์ฟ 36 แห่ง
- สถานพักตากอากาศ 5 แห่ง
- สนามมวย 1 แห่ง
- สนามม้า 1 แห่ง

รายได้ของทุกกิจการรวมกันเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 724 ล้านบาท/ ปี รายจ่ายเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 649 ล้านบาท/ ปี
- แปลว่ามีกำไรเพียง 75 ล้านบาทเท่านั้น

11. ตามรายงานข่าวบอกว่ากองทัพบกมีที่ดินสวัสดิการเชิงธุรกิจ 3 แสนไร่
- แปลว่าที่ดินสวัสดิการเชิงธุรกิจของกองทัพ 1 ไร่ สร้างประโยชน์ได้แค่ 250 บาท/ ไร่/ ปี เท่านั้น

12. จะคุ้มกว่าไหม?
- ถ้าเอาที่ดินเชิงธุรกิจของกองทัพมาให้เอกชนบริหาร ส่งรายได้เข้ารัฐเต็มเม็ดเต็มหน่วย
- และถ้ากองทัพต้องการเงินสนับสนุน ค่อยมาของบประมาณ
- หรือยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาแล้วพบว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ หรือมีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควรจะเป็น เราควรดึงกลับมาบริหารจัดการใหม่ กระจายให้แก่หน่วยงานองค์กรสาธารณะที่มีความต้องการจำเป็นมากกว่านี้หรือไม่?!?

13. ยังไม่นับรวม “สนามกอล์ฟ” อีก 33 แห่ง ที่ถูกนับเป็นสวัสดิการภายใน
“ถ้าเราลองนึกดูว่าข้าราชการระดับไหนถึงจะมีเวลาว่างไปตีกอล์ฟแล้ว เราก็คงจินตนาการถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรสวัสดิการในกองทัพได้”

14. ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี กรมธนารักษ์ตอบคำถามเกี่ยวกับความคืบหน้าในการทำ MOU กับกองทัพบกว่า

"กองทัพบกไม่ยอมส่งงบการเงินย้อนหลัง 5 ปีของกิจการสวัสดิการเชิงธุรกิจที่เหลือ ส่วนกองทัพเรือ และกองทัพอากาศยังไม่ได้เริ่ม ด้านกรมธนารักษ์กล่าวว่าถ้ายังไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง จะส่งเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)"


*เผยแพร่ครั้งแรกในเพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: