ทุนไทยเผย 'โรงไฟฟ้ามินบู' รับชำระค่าไฟต่อเนื่อง 3 งวดติดจากรัฐบาลเมียนมา ไร้ปัญหาการเมือง

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 เม.ย. 2564 | อ่านแล้ว 1922 ครั้ง

ทุนไทยเผย 'โรงไฟฟ้ามินบู' รับชำระค่าไฟต่อเนื่อง 3 งวดติดจากรัฐบาลเมียนมา ไร้ปัญหาการเมือง

บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ผู้ร่วมลงทุนหลัก 'โรงไฟฟ้ามินบู' โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมา เผยรับชำระค่าไฟต่อเนื่อง 3 งวดติดจากรัฐบาลเมียนมาแล้ว ชี้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแต่อย่างใด | ที่มาภาพ: ASEAN Skyscraper & Infrastructure

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 ว่านายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยว่าบริษัทรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้ามินบูให้กับรัฐบาลเมียนมาเข้ามาเป็นงวดที่ 3 แล้ว ซึ่งเป็นการได้รับการชำระเต็มจำนวนและตรงตามกำหนด สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแต่อย่างใด โดยโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินไปได้ตามปกติและสามารถรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง

โรงไฟฟ้ามินบู มีกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกกะวัตต์ ภายหลังจากการจำหน่ายไฟฟ้าโครงการเฟสที่ 1 ขนาด 50 เมกกะวัตต์ก็สามารถทำกำไรได้สูงถึง 180 ล้านบาท ขณะที่โรงไฟฟ้าเฟสที่ 2-4 เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีความพร้อมอย่างมากในด้านทีมงานวิศวกรและวัสดุสำหรับการก่อสร้าง คาดว่าเฟส 2 จะแล้วเสร็จพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าได้ภายในปี 64 และเฟส 3-4 ทยอยต่อเนื่องในปีถัดไป ซึ่งเมื่อโรงไฟฟ้ามินบูดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จครบทั้ง 4 เฟส บริษัทฯ จะรับรู้รายได้อย่างมหาศาลกว่า 45 ล้านเหรียญสหรัฐ สนับสนุนผลประกอบการให้ SCN ได้อย่างมีนัยสำคัญ

"โรงไฟฟ้ามินบู เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมา เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญระดับประเทศ สร้างความเจริญให้เข้าสู่พื้นที่ห่างไกล เรามั่นใจว่าโครงการมินบูจะได้รับการดูแลและสนับสนุนที่ดีทั้งจากประชาชนและทุกชุดรัฐบาลอย่างต่อเนื่องไปอีกยาวนาน ด้วยโรงไฟฟ้ามินบูคือหัวใจสำคัญ ที่ตั้งแต่เริ่มต้นจ่ายไฟจนถึงปัจจุบันได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาการดำเนินธุรกิจในประเทศให้พัฒนาขึ้นอย่างมาก มีความแข็งแกร่งและจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการเมืองอย่างแน่นอน"นายฤทธี กล่าว

เมื่อปี 2562 ผู้จัดการออนไลน์ เคยรายงานว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย. 2562 ซึ่งโครงการจะรับรู้รายได้ตั้งแต่วันที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในอัตราค่าไฟที่ 0.1275 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง โครงการโรงไฟฟ้ามินบูเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของเมียนมาที่ได้รับการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานระดับสากลโดยเป็นโครงการที่ริเริ่มและลงทุนโดยกลุ่มนักลงทุนคนไทย ที่เข้ามาศึกษาถึงความเป็นไปได้และโอกาสในการเข้ามีส่วนร่วมพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญให้แก่ประเทศเมียนมาซึ่งยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมากจึงเป็นที่มาของการได้เข้าก่อสร้างดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับElectric Power Generation Enterprise (“EPGE”) ภายใต้การดูแลของกระทรวงไฟฟ้าและพลังงานMinistry of Electricity and Energy (“MOEE”) เป็นระยะเวลา 30 ปี โครงการโรงไฟฟ้ามินบูมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งออกเป็น 4 เฟส ซึ่ง 3 เฟสแรกจะมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งเฟสละ 50MW และ 70 MW สำหรับเฟสสุดท้าย

โครงการโรงไฟฟ้ามินบูมีผู้ร่วมลงทุนหลักคือ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) ถือหุ้น 30%, บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) ถือหุ้น 12%, บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทคจำกัด (มหาชน) (ECF) ถือหุ้น 20% และ Noble Planet Pte. Ltd. (NP) ถือหุ้น 38% ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายแรกที่ได้รับอนุมัติให้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และทำโครงการนี้จนประสบความสำเร็จ

ดร.ฤทธีกิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCN กล่าวว่า “รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบูจนประสบความสำเร็จและได้เริ่ม COD อย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2562 ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และถือเป็นความภาคภูมิใจของทั้งชาวเมียนมาและพันธมิตรทางธุรกิจทุกคนซึ่งเป็นโครงการที่บุกเบิกการพัฒนาธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเมียนมาและพร้อมที่จะนำประเทศเมียนมาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกๆ ด้านทั้งนี้บริษัทฯมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการร้อยละ 30 โดยมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นกว่า 292 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 10,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯจะทยอยรับรู้รายได้ส่วนแบ่งตามสัดส่วนการถือหุ้นในไตรมาส 4/2562 นอกจากนี้ยังได้เล็งเห็นโอกาสในการขยายตัวทางด้านธุรกิจพลังงานในประเทศจึงได้เข้าไปศึกษาและลงทุนในธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป (สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชนหรือ Private PPA) ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยโดยมีส่วนลดค่าไฟฟ้าเมื่อเทียบกับค่าไฟฐานโดยลงทุนในบริษัทสแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) คาดว่าปลายปี 2562นี้จะมีสัญญา Private PPA รวมกว่า 10 MW ซึ่งตั้งเป้าถึงปี 2565 บริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในสัญญา Private PPA รวมทั้งสิ้นกว่า 110 MW คิดเป็นมูลค่าลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นผู้ประกอบการที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันอาทิภาคธุรกิจโรงแรม, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงพยาบาลและโรงเรียน เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: