ผู้ตรวจการแผ่นดินพบ 'โครงการอาหารกลางวันเด็ก' ยังบกพร่อง-ไม่มีประสิทธิภาพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 23 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 5444 ครั้ง

รายงานผู้ตรวจการแผ่นดินชี้หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของ รธน. 2560 กรณีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็ก ชี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพราะเบิกจ่ายให้โรงเรียนล่าช้า-ขาดนักโภชนาการชุมชน-ค่าเฉลี่ยอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาลดลงต่ำกว่า 20 บาท-ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ค่าอาหารกลางวันเฉลี่ยต่อรายเพิ่มสูงขึ้น-หลักเกณฑ์ ก.คลัง ไม่สอดคล้องกับของ อปท. | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กรณีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็ก ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอและมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข รับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกับการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 (เรื่อง ขอปรับค่าอาหารกลางวันเด็ก) แล้วรายงานต่อผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รายงาน กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กรณีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันยังไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจาก (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันให้แก่สถานศึกษาหลายแห่งล่าช้า (2) การขาดนักโภชนาการชุมชนครบทุกท้องถิ่น (3) ค่าเฉลี่ยอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาลดลงต่ำกว่า 20 บาท (4) การนำวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับกรณีการใช้จ่ายงินอุดหนุนอาหารกลางวันเด็กที่เกินกว่า 500,000 บาท ทำให้ค่าอาหารกลางวันเฉลี่ยต่อรายเพิ่มสูงขึ้นจากการบวกกำไรเพิ่มของผู้ประมูล และ (5) หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันกรณีเงินเหลือจ่ายที่กระทรวงการคลังและสถานศึกษาหลายแห่งถือปฏิบัติไม่สอดคล้องกับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงมีข้อเสนอแนะต่อประเด็นดังกล่าวมาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป

2. กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้วมีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อประเด็นข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่น

ประเด็นข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

1. กรณีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีประเภทเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันแก่สถานศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศล่าช้า

 

กค. และ มท. ชี้แจงว่า ปัจจุบันได้กำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับกรณีอาหารกลางวันเพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเป็นไปในแนวทางเดียวกันแล้ว

ศธ. ชี้แจงว่าการขอรับการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กจาก อปท. บางแห่งล่าช้าเนื่องจากมีรายละเอียดขั้นตอนค่อนข้างมาก

2. กรณีการขาดนักโภชนาการชุมชนครบในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ

ศธ. มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า หากรัฐบาลสามารถจัดหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือนักโภชนาการหรือผู้มีความรู้ความสามารถในการจัดการด้านโภชนาการสำหรับเด็กให้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง จะเป็นผลดีแก่ทั้งโรงเรียนและนักเรียน

3. กรณีค่าเฉลี่ยอาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาลดลงต่ำกว่า 20 บาท เนื่องจากงบประมาณโครงการอาหารกลางวันเด็กไม่ครอบคลุมถึงเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา

ศธ.ชี้แจงว่า เด็กนักเรียนขยายโอกาสระดับมัธยมศึกษาเป็นนักเรียนที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนอาหารกลางวันและโรงเรียนไม่สามารถละเลยได้

สงป. เห็นควรพิจารณาการใช้จ่ายเงินให้ครอบคลุมจากทุกแหล่งเงิน เช่น จากดอกผลของเงินกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา และเงินรายได้ของ อปท. มาสมทบค่าอาหารกลางวัน

4. กรณีการนำวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาบังคับใช้แก่กรณีการใช้จ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนที่เกินกว่า 500,000 บาท

 

กค.  มท. และ ศธ. ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีการกำหนด            แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดอาหารกลางวันที่มีความครอบคลุม ครบถ้วน และชัดเจนแล้ว

5.หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันกรณีเงินเหลือจ่ายที่ กค. และสถานศึกษาหลายแห่งยึดถือไม่สอดคล้องกับที่ อปท. ยึดถือ

กค. และ มท. ชี้แจงว่า หน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุนจาก อปท. มีเงินเหลือจ่าย ต้องส่งคืนให้ อปท. อย่างไรก็ตาม ศธ. เห็นว่า ควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีปรับแก้ไขแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันเด็กให้โรงเรียนสามารถเก็บเงินเหลือจ่ายหรือที่ได้รับเงินดอกผลจากการนำเงินฝากธนาคารให้คงไว้ในบัญชีเพื่อสมทบเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารกลางวันตามความจำเป็นและเหมาะสม


นอกจากนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณมีความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มติมเกี่ยวกับประเด็นปริมาณและคุณภาพของอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน เช่น ควรมีระบบกำกับติดตามอาหารกลางวันที่มีคุณภาพควบคู่กับระบบเฝ้าระวัง คัดกรอง และส่งต่อภาวะโภชนาการ

รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันแก่เด็ก  ซึ่งสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบการปรับค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนให้สอดรับกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแนวทางและมาตรการในการดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุนหรือขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและผู้ปกครองนักเรียนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารกลางวันที่เหมาะสม เพียงพอและถูกหลักโภชนาการ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินโครงการอาหารกลางวันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กนักเรียนตามเจตนารมณ์ของโครงการดังกล่าวต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: