ก.ค. 2564 ผู้ประกันตนว่างงาน 308,295 คน วิจัยกรุงศรีชี้แรงงาน 9.3 ล้านคน เสี่ยงถูกเลิกจ้าง-ลดเงินเดือน

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 6354 ครั้ง

เดือน ก.ค. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,127,233 คน ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 308,295 คน ถูกเลิกจ้าง 90,957 คน - ศูนย์วิจัยวิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาชี้แรงงาน 9.3 ล้านคน เสี่ยงถูกเลิกจ้าง-ลดเงินเดือน | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ก.ค. 2564 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าเดือน ก.ค. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,127,233 คน ลดลงร้อยละ -0.37 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,168,914 คน) และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,097,986 คน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.26

สถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม) เดือน ก.ค. 2564 มีผู้ว่างงานจำนวน 308,295 คน ลดลงร้อยละ -24.82 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 410,061 คน) แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 307,883 คน) ร้อยละ 0.13 ดังแผนภาพที่ 3 ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาส 2/2564 เท่ากับร้อยละ 1.9

ด้านสถานการณ์การเลิกจ้าง เดือน ก.ค. 2564 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 90,957 คน ลดลงร้อยละ -48.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 177,770 คน) แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 90,744 คน) ร้อยละ 0.23 และอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคม ในเดือน ก.ค. 2564 เท่ากับร้อยละ 0.80 [1]

วิจัยกรุงศรีชี้แรงงาน 9.3 ล้านคน เสี่ยงถูกเลิกจ้าง-ลดเงินเดือน

ช่วงต้นเดือน ก.ย. 2564 ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ วิจัยกรุงศรี ประเมินเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของปีนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาติดลบจากไตรมาสก่อน ซึ่งจะนับเป็นการติดลบครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีที่แล้ว จากการระบาดที่รุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายรวดเร็วตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. และลากยาวกว่าคาด ทำให้ต้นเดือน ส.ค. ทางการประกาศขยายมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด เพิ่มเป็น 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม

ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หากไม่มีมาตรการรัฐเพิ่มเติม คาดว่าธุรกิจราว 27.6% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด จะประสบปัญหาสภาพคล่อง จนนำไปสู่ความเสี่ยงของการเลิกกิจการ ทำให้แรงงาน 9.3 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างหรือลดเงินเดือน

ล่าสุด แม้ทางการจะได้เริ่มปรับมาตรการควบคุมการระบาดในบางกิจการ กิจกรรม กลับมาดำเนินการได้บ้างภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่โดยภาพรวมแล้วยังต้องอยู่ภายใต้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอยู่ จึงคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคธุรกิจและการจ้างงานยังคงซบเซา แม้อาจเห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ปรับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ สะท้อนการมุ่งเน้นใช้นโยบายการเงินที่ตรงกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ ล่าสุด ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยชี้แจงมาตรการสนับสนุนการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้นในสถานการณ์ที่การระบาดยังคงยืดเยื้อ โดยมาตรการเพิ่มเติมประกอบด้วย

1.มาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย อาทิ การปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเป็นการชั่วคราว ในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล

2. มาตรการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวที่เหมาะสมแก่ลูกหนี้แต่ละราย เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.

ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด เป็นผลให้เศรษฐกิจซบเซาลงมาก กระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยในวงกว้าง ซึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พบว่าธุรกิจใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีทั้งหมด 615,813 ราย หรือคิดเป็น 76.6% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด และสร้างรายได้ประมาณ 93% ของรายได้รวมทั้งประเทศ

ส่วนด้านแรงงานใน 29 จังหวัดนั้น มีประมาณ 18 ล้านคน โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 8.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 24% ของแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้ มาตรการทางการเงินที่เพิ่มเติมดังกล่าว คาดว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง นอกจากนี้ ยังสะท้อนการดำเนินนโยบายการเงินของทางการที่เน้นการแก้ปัญหาที่เฉพาะเจาะจงสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น [2]


ที่มาข้อมูล
[1] รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ก.ค. 2564 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
[2] วิจัยกรุงศรี คาดแรงงาน "9.3 ล้านคน" เสี่ยงถูกเลิกจ้าง-ลดเงินเดือน (Thai PBS, 8 ก.ย. 2564) 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: