'เพิ่มอีก 1 บาท' ปีงบฯ 65 อาหารกลางวันนักเรียนจะเพิ่มเป็น 21 บาท จากเดิม 20 บาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.พ. 2564 | อ่านแล้ว 14492 ครั้ง

ครม. เห็นชอบปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน เด็กเล็ก - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็น 21 บาท/คน/วัน (จากปัจจุบันที่ 20 บาท/คน/วัน) ในปีงบประมาณปี 2565 เป็นต้นไป ใช้งบฯ จำนวน 25,436 ล้านบาท แบ่งเป็นงบอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และจัดสรรสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นักเรียนเอกชน) ทำให้ อปท. มีงบประมาณเพิ่มจากปี 2564 จำนวน 823 ล้านบาท ส่วนที่จัดสรรให้นักเรียนเอกชนประมาณ 32 ล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: สสส.

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ระบุว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบปรับค่าอาหารกลางวันนักเรียน เป็น 21 บาทต่อคนต่อวัน ในปีงบประมาณปี 2565 เป็นต้นไป จำนวน 25,436 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็นงบอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดสรรสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (นักเรียนเอกชน) ทำให้ อปท. มีงบประมาณเพิ่มจากปี 2564 จำนวน 823 ล้านบาทเศษ ส่วนที่จัดสรรให้นักเรียนเอกชนประมาณ 32 ล้านบาทเศษ

ในเอกสารสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 9 ก.พ. 2564 ระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการของการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย และค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีราคาสูงขึ้น โดยให้ปรับอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนทุกคน ตั้งแต่เด็กเล็ก - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป และเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวันปรับมาใช้ในอัตราดังกล่าวด้วยเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนดังกล่าว มีค่าบริหารจัดการในการประกอบอาหารในสัดส่วนที่เพียงพอที่หน่วยงานจะสามารถบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้มีคุณภาพ มีความคุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยแต่ละหน่วยงานสามารถบริหารจัดการได้ตามความเหมาะสมสอดคล้องกับขนาดโรงเรียนและจำนวนนักเรียนในขั้นตอนการบริหารงบประมาณ

โดยการขอปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนในครั้งนี้ จะมีผลต่อภาระงบประมาณรายจ่ายประจำเพิ่มสูงขึ้น และสัดส่วนเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความคุ้มค่า โดยคำนึงถึงความเสมอภาคตามความจำเป็นของกลุ่มเป้าหมายในทุกสังกัด และความซ้ำซ้อนกับการจัดสวัสดิการของรัฐในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการใช้จ่ายให้ครอบคลุมจากทุกแหล่งเงิน อาทิ ดอกผลของเงินกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา การสนับสนุนจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา และรายได้/เงินสะสม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาสมทบค่าอาหารกลางวันในส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการกำหนดแนวทางให้ชัดเจนในทุกขั้นตอนสำหรับการบริหารโครงการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพทางโภชนาการ มีความปลอดภัย มีการวางแผนการผลิตทางการเกษตร เพื่อใช้ในทุกหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ตลอดจนให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติสำหรับการสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งงบประมาณ พิจารณาปรับเพิ่มการเสนอขอจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนโรงเรียน 51,637 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 6,147,469 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ส.ค. 2563) ค่าอาหารกลางวันที่เสนอเพิ่มขึ้นตามจำนวน และขนาดโรงเรียน จำนวน 200 วัน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สถ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา และจำนวน 252 วัน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สถ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเมืองพัทยา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เนื่องจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนที่ใช้ในการประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราค่าอาหารกลางวันที่รัฐบาลสนับสนุนอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนจะต้องคำนึงถึงปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญ

ปรับแก้ พ.ร.บ.กองทุนโครงการอาหารกลางวัน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ครม. มีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

3. ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

4. ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดเกี่ยวกับการจัดตั้งทุนหมุนเวียน โดยให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อประโยชน์ในการรักษาวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน พ.ศ. .... ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน โดยปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 และให้โอนบรรดากิจการของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาที่สังกัดกระทรวงการคลัง (กค.) เป็น จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้การบริหารงานเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกำหนดวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนให้ครอบคลุมอาหารนักเรียนนอกเหนือจากอาหารกลางวันและให้รวมถึงโรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดนิยามคำว่า “กองทุน” “โรงเรียน” “นักเรียน” “อาหาร” “คณะกรรมการ” “ประธานกรรมการ” “ผู้บริหารกองทุน” และ “รัฐมนตรี”

2. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียกว่า “กองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน” โดยมีวัตถุประสงค์ (1) แก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ การขาดแคลนอาหาร และส่งเสริมภาวะโภชนาการในโรงเรียน (2) สนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารสำหรับนักเรียนในโรงเรียน (3) ส่งเสริมผลผลิตโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน (4) ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการ (5) ส่งเสริมพัฒนาการดำเนินงานกองทุน (6) ประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนและการดำเนินงานของกองทุน

4. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย (1) เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานกรรมการ (2) ผู้แทน กค. ผู้แทนสำนักงบประมาณ (สงป.) ผู้แทน สพฐ. เป็นกรรมการ (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ กค. จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ และให้ผู้บริหารกองทุนเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้บริหารกองทุนแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองทุนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ไม่เกิน 2 คน

5. กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจหน้าที่ (1) กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของกองทุน (2) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้บริหารกองทุนและพนักงานโดยความเห็นชอบของ กค. (3) พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณรายรับและรายจ่ายประจำปีและแผนการดำเนินงานของกองทุน (4) พิจารณาจัดสรรเงินช่วยเหลือหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่โรงเรียนตามระดับอายุของนักเรียนโดยคำนึงถึงเด็กเล็กและพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสม ฯลฯ

6. กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ภาระผูกพัน พนักงาน และลูกจ้างของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 ไปเป็นของกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียนตามพระราชบัญญัตินี้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดเทอม​ 2562​ อาหารกลางวันนักเรียน​ มท.ยังตรึงงบให้ อปท.จัดสรร​ 20 บาท
ตามดู 'อาหารกลางวัน' ในโรงเรียน พบ 'สพฐ.-อปท.' คุณค่าทางโภชนาการสู้ 'ตชด.' ไม่ได้
จับตา: อปท.อุดหนุนค่า‘นม-อาหารกลางวัน’ให้โรงเรียนเท่าไร?

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: