ป.ป.ช. สอบ 'โครงการโซลาร์เซลล์แม่สะเรียง' ของ กอ.รมน. พบใช้ได้ 1 จุดจากทั้งหมด 6 จุด

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1556 ครั้ง

ป.ป.ช. สอบ 'โครงการโซลาร์เซลล์แม่สะเรียง' ของ กอ.รมน. พบใช้ได้ 1 จุดจากทั้งหมด 6 จุด

ป.ป.ช.แม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการโซลาร์เซลล์ แก้ปัญหาภัยแล้งอำเภอแม่สะเรียง 6 แห่ง ใช้การได้ 1 แห่ง เตรียมรวบรวมข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ว่าพ.ต.ท. ดร.ศิระปรุฬห์ ปวเรศจิรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ป.ป.ช.จ.แม่ฮ่องสอน) บูรณาการกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สะเรียง เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรแม่สะเรียง และ สวท.แม่สะเรียง เข้าตรวจสอบโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในหน่วยงานภาครัฐ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ซึ่งเป็นงานติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แก้ปัญหาภัยแล้งพร้อมระบบกรองน้ำ ทั้งหมด 6 แห่ง ในพื้นที่ตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถใช้การได้ 1 จุด

จุดที่ 1 เข้าตรวจสอบ บ้านแม่ลิดป่าแก่ ไม่สามารถใช้งานได้ ไม่มีกระแสไฟฟ้า ระบบปั๊มน้ำและเครื่องกรองน้ำใช้ไม่ได้

จุดที่ 2 บ้านแม่สลี แผงโซลาร์เซลล์ถูกต้นไม้ขนาดใหญ่บดบัง มีหญ้าปกคลุมหนาทึบ ไม่มีผู้ดูแลรักษา เครื่องกรองน้ำและเครื่องสูบน้ำไม่สามารถใช้งานได้ ตู้ควบคุมระบบดูดน้ำเสีย ตู้ระบบจ่ายน้ำไม่เสียแต่ไม่มีน้ำจ่าย มีฝุ่นเกาะที่แผงโซลาร์เซลล์

จุดที่ 3 บ้านกิ่วลม เป็นหมู่บ้านเดียวที่ระบบสามารถใช้การได้ โดยชาวบ้านใช้ 2 ระบบ คือ ระบบดีเซลและระบบซับเมิร์สจากโซลาร์เซลล์ โดยใช้เครื่องสูบน้ำระบบดีเซลร่วมในฤดูฝนที่บางวันไม่สามารถใช้โซลาร์เซลล์ได้ การใช้งานหลักจะใช้ปั๊มน้ำดูดขึ้นมาที่บ่อพักน้ำกระจายใช้งานได้ทั่วทั้งหมู่บ้าน

นอกจากนี้ มีชาวบ้านที่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าเข้ามาช่วยดูแลอย่างสม่ำเสมอ ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เป็นครั้งคราว ชาวบ้านที่มีบ้านใกล้เคียงเฝ้าระวังไม่ให้น้ำแห้ง หากระบบไฟฟ้าทำงานเองโดยไม่มีน้ำ ต้องคอยปิดเพื่อไม่ให้ระบบเสียหาย

จุดที่ 4 บ้านแม่กะไน ในระยะแรกยังสามารถใช้การได้ แต่เมื่อมีอุปกรณ์บางส่วนชำรุด ชาวบ้านไม่สามารถซ่อมแซมเองได้ เนื่องจากไม่ทราบการทำงานของระบบ จึงทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ แผงโซลาร์เซลล์มีหญ้าปกคลุม รกร้าง ไม่มีผู้ดูแล

จุดที่ 5 บ้านแม่จ๊าง ในระยะแรกยังสามารถใช้การได้ แต่หลังจากนั้นอุปกรณ์ชำรุดเสียหายภายหลัง ไม่มีผู้เข้ามาดำเนินการแก้ไข ส่วนพื้นที่การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เดิมทีมีบ่อน้ำอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาจากบ่อนั้นได้ จึงให้นำโครงการดังกล่าวไปดำเนินการในพื้นที่ตรงนั้น แผงโซลาร์เซลล์อยู่ใกล้แหล่งน้ำ แต่ระบบกักเก็บน้ำอยู่ห่างไกล ทำให้ระบบไม่เสถียร ใช้การได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การใช้งานของระบบสูบน้ำ ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ ตู้คอนโทรลระบบบางส่วนใช้งานไม่ได้ ชาวบ้านไม่ทราบว่าหลังจากหมดประกันสัญญาแล้ว หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลต่อ จึงไม่สามารถแจ้งให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขได้ ส่วนการติดตั้งตู้กดน้ำ ชาวบ้านเป็นคนชี้ให้ติดตั้งกลางหมู่บ้านเพื่อให้มีการใช้ได้ครอบคลุม

จุดที่ 6 บ้านห้วยปลากั้ง ระบบใช้งานไม่ได้ แต่เครื่องกรองน้ำใช้การได้ ใช้ระบบประปาภูเขาเข้ามาทดแทน แต่ระบบโซลาร์เซลล์เพื่อดึงน้ำเข้ามาใช้การไม่ได้

สาเหตุหลักจากการประเมินสภาพพื้นที่จริง พบว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง บางหมู่บ้านไม่แน่ใจว่าสามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง ส่วนใหญ่สภาพบริเวณจุดที่ตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีสภาพรกร้าง แผงมีฝุ่นเกาะหนาทึบ บางจุดมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูเป็นครั้งคราว ในช่วงแรกของการติดตั้งผู้รับจ้างแจ้งว่าหากพบว่ามีปัญหาให้โทรแจ้งจะมีผู้เข้ามาดำเนินการ แต่เมื่อหมดระยะประกันสัญญาจึงทำให้ไม่มีผู้เข้ามาดำเนินการแก้ไข และด้วยชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีความรู้เรื่องระบบไฟฟ้า และระบบการใช้งานของโซลาร์เซลล์ จึงเป็นเหตุให้โครงการดังกล่าวไม่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานและชำรุดเสียหายในที่สุด

สำหรับผลการตรวจสอบวันนี้ ป.ป.ช.จ.แม่ฮ่องสอน จะนำข้อมูลที่ได้ไปตรวจรายละเอียดเชิงลึกว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณจากส่วนใด วัตถุประสงค์ของโครงการมีการศึกษาพื้นที่หรือไม่ ในส่วนของการดูแลรักษาเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานใด การทำ TOR การจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ การติดตั้งเป็นไปอย่างไร การใช้งานเหมาะสมกับงบประมาณหรือไม่ ซึ่งจะมีงบประมาณลงมาอีกประมาณ 2,000 กว่าล้าน ในลักษณะเดียวกัน หากใช้งานไม่ได้เห็นควรทบทวนเรื่องการจัดสรรงบประมาณใหม่อีกครั้ง เน้นผลประโยชน์ที่ชาวบ้านควรจะได้รับว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่จัดสรรไปหรือไม่ ซึ่งต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: