ปัญหาจากฝั่งประชาชนต่อการผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ | 17 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2862 ครั้ง


ปัญหาใหญ่ของการผลักดันและเสนอ ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ  ประการแรก  คือ  นิยามองค์กรภาคประชาสังคมกว้างขวางเกินจริง  โดยกำหนดนิยามความหมายของ ‘องค์กรภาคประชาสังคม’ เข้าไปครอบ ‘ขบวนประชาชน’ จนหมดสิ้น[1]  ทั้ง ๆ ที่พฤติกรรมจำนวนมากของประชาสังคม/องค์กรภาคประชาสังคมในบริบทของสังคมและการเมืองไทยมักปฏิเสธหรือมีทัศนคติเป็นลบต่อ ‘การเคลื่อนไหว’ บนท้องถนนของขบวนประชาชนที่เรียกร้องความเป็นธรรมด้านต่าง ๆ  หรือต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนา  นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม  มาโดยตลอด  แต่พยายามให้ขบวนประชาชนเน้นที่ ‘การเจรจาต่อรอง’ กับรัฐและทุนเป็นหลัก

ประการที่สอง  คือ  การเลือกผลักดันและเสนอร่างกฎหมายแบบหวังพึ่งบารมีผู้มีอำนาจที่ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมมากเกินไปของเอ็นจีโอ ประชาสังคมและนักวิชาการกลุ่มหนึ่งซึ่งมีวาระซ่อนเร้น/แอบแฝงที่ทำกันเป็นขบวนการต่อเนื่องมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่รัฐประหาร ๒๕๔๙ ที่พยายามจะควบคุมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้เป็นเด็กดีของรัฐให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น

พฤติกรรมหวังพึ่งบารมีผู้มีอำนาจที่ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมมากเกินไป  ก็คือ  ด้านหนึ่งคบหาสมาคมกับเพื่อนพี่น้องในแวดวงเอ็นจีโอ  ประชาสังคม  นักวิชาการ  นักกฎหมาย  องค์กรชุมชน  ขบวนประชาชน  และองค์กรอื่นใดก็ตามที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ  ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม  ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของชุมชน  ท้องถิ่น  สังคมหรือส่วนรวมโดยไม่แสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน  เพื่อขายฝันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมี ‘กองทุนส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม’ ที่ได้เงินบางส่วนจากการขายลอตเตอรี่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล  และงบประมาณจากแหล่งอื่น ๆ ของรัฐและเอกชน  มาให้แก่ขบวนประชาชนดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้นจากกองทุนที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นแล้วในสององค์กรอย่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

อีกด้านหนึ่งก็เอาตัวเองเข้าไปเป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.  โดยรัฐบาลดังกล่าวออกระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ๒๕๕๘  ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๘  และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๔๔/๒๕๕๙  เรื่อง แต่งตั้งกรรมการและเลขานุการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ รองประธานกรรมการคนที่สอง ในคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.)  สั่ง ณ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙  รวมถึงเข้าไปร่วมมือกับองค์กรอิสระอย่างสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีหัวหน้าองค์กรเป็นพวกขวาตกขอบอย่างพลเดช ปิ่นประทีป ให้ก่อตั้งสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) ขึ้นมา  เพื่อให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานกับ คสป. ที่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. แต่งตั้งขึ้นตามระเบียบและคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ได้กล่าวมา

ความสัมพันธ์แบบหวังพึ่งบารมีผู้มีอำนาจที่ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมมากเกินไปแบบนี้ที่หวังว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ จะถูกตราเป็นกฎหมาย/พระราชบัญญัติใช้บังคับในยุคที่เผด็จการทหารมีอำนาจ  เพื่อจะทำให้ขบวนประชาชนมีกองทุนเพิ่มขึ้นมาอีกกองทุนหนึ่งนั้น  สุดท้ายกลับโดนตลบหลังด้วยการที่รัฐบาลประยุทธ์ ๒ (ซึ่งเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๖๒ ที่วางกลไกสืบทอดอำนาจต่อเนื่องมาจากรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช.) มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ๒๓ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบ ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....’ ขึ้นมาแทน  ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีพัฒนาการมาจาก ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อนั่นเอง

 

ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็ต้องบอกว่า ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....’ เกิดขึ้นจากการคบหาสมาคมระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มเอ็นจีโอ ประชาสังคมและนักวิชาการที่เข้าไปเป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐบาลโดยเข้าไปเป็นกรรมการ อนุกรรมการและที่ปรึกษาใน คสป. ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบและคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว (และรวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอ ประชาสังคมและนักวิชาการที่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่โน้มน้าวเพื่อนพี่น้องในแวดวงเอ็นจีโอ  ประชาสังคม  นักวิชาการ  นักกฎหมาย  องค์กรชุมชน  ขบวนประชาชน  และองค์กรอื่นใดก็ตามที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ  ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม  ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของชุมชน  ท้องถิ่น  สังคมหรือส่วนรวมโดยไม่แสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน  ให้เกิดการเชื่อมประสานกับ คสป. ด้วย)

ความเลวร้ายของ ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....’ (ร่างฯองค์กรไม่แสวงหารายได้)  เมื่อเทียบกับ ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....’ (ร่างฯองค์กรภาคประชาสังคม)  ซึ่งมีเนื้อหาต่างกันราวฟ้ากับเหวตรงที่ร่างฯองค์กรภาคประชาสังคมมีเนื้อหาเพียงว่าขบวนประชาชนใดที่ต้องการได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและปัจจัยดำเนินงานอื่น ๆ จากรัฐจะต้องจดทะเบียนตามที่กฎหมายกําหนด (ไม่ได้บังคับให้จดทะเบียน  แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ  และไม่มีบทลงโทษใด ๆ)  แต่ร่างฯองค์กรไม่แสวงหารายได้กำหนดเงื่อนไขบังคับ  ดังนี้

(๑) ต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันกับกรมการปกครองซึ่งเป็นผู้รับจดแจ้ง  ถ้าไม่ยอมจดแจ้งจะมีบทลงโทษสูง  โดยจำคุกไม่เกินห้าปี  หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๒) กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันจะดำเนินกิจกรรมในราชอาณาจักรไม่ได้ถ้าไม่ยอมจดแจ้งตามหลักเกณฑ์  วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

(๓) ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี  และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี

(๔) ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี  โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วัน  นับแต่วันสิ้นปีบัญชี  และให้ผู้รับจดแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณะ

(๕) กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันจะรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา  นิติบุคคล  หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย  หรือไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในไทย  มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในไทยไม่ได้ถ้าไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมนั้น ๆ

ประเด็นที่ข้อเขียนนี้ต้องการชี้ให้เห็นไม่ใช่เรื่องของความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความปรารถนาดีที่ยังมีอยู่ของกลุ่มเอ็นจีโอ ประชาสังคมและนักวิชาการที่เข้าไปเป็นเครื่องมือและกลไกให้กับรัฐบาล (ถึงแม้จะเข้าไปแบบหวังพึ่งบารมีผู้มีอำนาจที่ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้องมากเกินไปก็ตาม) เพื่อหาช่องทางนำเสนอและผลักดันร่างกฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อขบวนประชาชนโดยรวม  แต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นก็คือ  หนึ่ง-การเข้าไปเป็นเครื่องมือและกลไกให้กับรัฐบาลเพื่อต้องการนำเสนอและผลักดันร่างกฎหมายอันเป็นประโยชน์ (และมีผลกระทบด้วย) ต่อขบวนประชาชนอย่างกว้างขวางกลับมีแต่บุคคลที่มีทัศนคติคับแคบต่อประชาธิปไตย  สิทธิมนุษยชน  สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นส่วนใหญ่  เพราะส่วนใหญ่ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวล้วนสนับสนุนรัฐประหารทั้งสองครั้งที่ผ่านมา  นิ่งเฉยต่อการลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชน  สิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จากความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา  และ  สอง-เป็นร่างกฎหมายที่มีกระบวนการปรึกษาหารือกันในขบวนประชาชนไม่กว้างขวางหรือไม่ได้สัดส่วนกับขนาด/จำนวน/ปริมาณของขบวนประชาชนเท่าที่ควร  เมื่อเทียบกับการผลักดันและเสนอร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการที่มีกระบวนการผลักดันและเสนอร่างกฎหมายจากขบวนประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและครอบคลุมมากกว่า 

และเมื่อมองดูปรากฎการณ์ ณ เวลานี้ของขบวนประชาชน  ข้อสังเกตุประการหนึ่งก็คือกลุ่มเอ็นจีโอ ประชาสังคมและนักวิชาการที่ชักนำขบวนประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างฯองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อขบวนประชาชนโดยรวมกลับไม่เคยแสดงท่าทีสนับสนุนการเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกจับกุมคุมขังทางการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแม้สักครั้งเดียว  คำถามคือ  เงินทุนหรือการสนับสนุนอื่น ๆ ที่ขบวนประชาชนต่าง ๆ จะได้จากร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นขบวนประชาชนแบบไหน อย่างไร ?  หรือขบวนประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชน  สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกกันออกจากขบวนประชาชนตามร่างกฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร ? 

ดังนั้น  ถ้าจะต้องสรุปและถอดบทเรียนในเรื่องนี้  ก็ควรสรุปและถอดบทเรียนให้เห็นถึงความผิดพลาดจากฝ่ายเราด้วย  ไม่ใช่สรุปและถอดบทเรียนเพื่อให้เห็นแต่ความผิดพลาดจากรัฐฝ่ายเดียว  ซึ่งจะทำให้เห็นข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน


 

[1] ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ....  ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อ  มาตรา ๓ ระบุว่า “องค์กรภาคประชาสังคม” หมายความว่า องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของชุมชน ท้องถิ่น สังคมหรือส่วนรวมโดยไม่แสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงนิติบุคคล องค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งและดําเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมือง องค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: