เตรียมเปิดให้ 6 โครงการ ERC Sandbox ทดลองซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 2885 ครั้ง

เตรียมเปิดให้ 6 โครงการ ERC Sandbox ทดลองซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่ง

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดให้ 6 โครงการใน ERC Sandbox ได้เริ่มทดสอบระบบซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้จริง เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยมีอัตราค่าเชื่อมต่อและใช้สายส่ง (Wheeling Charge) ที่ 1.151 บาทต่อหน่วย | ที่มาภาพประกอบ: egat.co.th

Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 ว่าที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาแผนปฏิบัติการ (Action Plan) สำหรับ “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) การทดสอบนวัตกรรมในโครงการที่มีการซื้อขายไฟฟ้าจริง” แล้ว ซึ่งจะมีการ ผ่อนปรนกฎระเบียบตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

โดยภายใต้ ERC Sandbox มีโครงการที่จะได้เริ่มทดสอบระบบซื้อขายไฟฟ้ากันได้จริงทั้งสิ้น 6 โครงการ แบ่งเป็น โครงการประเภทกิจกรรม Peer-to-Peer และ Bilateral ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตไฟฟ้าและขายตรงให้กับเพื่อนบ้าน จำนวน 3 โครงการ โครงการประเภทกิจกรรม Microgrid System จำนวน 1 โครงการ และ โครงการประเภทกิจกรรม อัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering, Net Billing จำนวน 1 โครงการ และ โครงการประเภทกิจกรรม รูปแบบทางธุรกิจใหม่ เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง (Supply and Load Aggregator) จำนวน 1 โครงการ

ซึ่งแต่ละโครงการจะมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี แต่จะเปิดให้ดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าจริงระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยที่ กกพ.จะมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. ผ่อนปรนระเบียบการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เรื่องกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid code) พ.ศ. 2558 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เดินขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมมิให้เกิดการจ่ายไฟฟ้าไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า

2. ผ่อนปรนระเบียบ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ว่าด้วยกำหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid code) พ.ศ. 2559 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องออกแบบระบบไม่ให้เกิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า รวมทั้งต้องไม่รับกระแสไฟฟ้าจนทำให้ระบบของ PEA เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น และ

3. ให้ทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าจริง ตามระเบียบ PEA ว่าด้วยการนำข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม พ.ศ. 2562 และใช้ร่างข้อกำหนดว่าด้วยการเปิดให้ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้า แก่บุคคลที่ 3 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ในนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. …. ของ กฟน. มาปรับใช้ พร้อมทั้งให้ใช้อัตราค่าบริการในการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่ กกพ. กำหนด ในอัตรา 1.151 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ผู้ดำเนินโครงการจะต้องรายงานข้อมูลการซื้อ–ขาย เช่น Load Profile ปริมาณการผลิต ผู้เข้าร่วมโครงการ และการใช้ไฟฟ้าของลูกค้า ต้นทุนค่าใช้จ่าย และผลประกอบการทางการเงิน เป็นต้น ต่อสำนักงาน กกพ. ทุกๆ 3 เดือน และเมื่อสิ้นสุดการดำเนินโครงการ ผู้ดำเนินโครงการจะต้องซื้อขายไฟฟ้าไม่เกินกำลังการผลิตที่จะใช้ทดสอบตามที่ระบุไว้ทุกช่วงเวลาด้วย

โดยการให้ทดลองซื้อขายไฟฟ้าจริงดังกล่าว จะช่วยให้ กกพ.รับทราบอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสมและแนวทางปฏิบัติงานของหน่วยงานการไฟฟ้าที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับธุรกิจรูปแบบใหม่ รวมถึงแนวทางการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเอกชนและภาครัฐในการจัดหาพลังงานในอนาคต เพื่อนำไปสู่การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ ที่จะส่งผลให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาถูกลง

ในส่วนของหน่วยงานการไฟฟ้า ก็จะได้ประโยชน์จากการทดสอบระบบโครงข่ายไฟฟ้าปัจจุบัน ในการรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำไปสู่ การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริม ให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมพลังงานให้มากขึ้น ในอนาคต

สำหรับภาพรวมโครงการ ERC Sandbox ที่ กกพ. เปิดให้เอกชนดำเนินการมาตั้งแต่ 30 ส.ค. 2562 และมีระยะเวลาทดสอบไม่เกิน 3 ปี หรือสิ้นสุดประมาณปี 2565 นั้นมีเอกชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 34 โครงการ

โดยโครงการทั้งหมด แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer to Peer Energy Trading 2.การศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ เช่น Net Metering, Net Billing 3.การศึกษาเทคโนโลยีใหม่เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) 4.การศึกษาการจัดการและการปฏิบัติการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ระบบไมโครกริด 5. การศึกษารูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน เช่น การซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลาง (Supply and Load Aggregator) และ 6. ก๊าซธรรมชาติ

โดยโครงการที่เริ่มทดสอบระบบและเห็นผลแล้วคือ กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการ Regional LNG Hub ภายใต้ ERC Sandbox โดยเริ่มทำการทดสอบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ ม.ค. 2564 ด้วยการทดลองส่งออก LNG ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบ Iso Tank และทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยส่งออกไปประเทศกัมพูชาและจีน ซึ่งการส่งออกในช่วงดังกล่าวเป็นฤดูหนาวที่มีความต้องการ LNG สูง ราคาตลาดโลกจึงสูงตาม ปตท. จึงได้มีการนำ LNG จากสัญญาระยะยาวไปขายในต่างประเทศ ทำให้เกิดประโยชน์จากการขายเป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้ได้มีการส่งคืนให้รัฐเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ปตท.ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox 2 โครงการ คือ โครงการ Regional LNG Hub และโครงการศึกษาและพัฒนาศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวผ่านสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: