ไทยเปิดเผย Open Data ดีขึ้นเเต่ยังไม่เป็นไปตามเป้า-เลี่ยงให้ข้อมูลด้านการเมือง

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 5073 ครั้ง

เครือข่ายองค์กรด้านข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนสังคมชี้รัฐเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ได้ดีขึ้นเเต่ยังไม่เป็นไปตามเป้า เลี่ยงให้ข้อมูลด้านการเมืองทั้งที่ควรเปิดโดยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอ นักกฎหมายย้ำกฎหมายไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อปกปิดข้อมูลของรัฐ ด้านนักวิชาการติงโครงสร้างของรัฐไม่ออกเเบบให้เปิดเผยข้อมูล มองความลับเป็นมูลค่าเเต่ไม่ช่วยขับเคลื่อนชาติ เเนะหากอยากพัฒนาประเทศ เริ่มสร้างการมีส่วนร่วมเปิดข้อมูลให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ | ที่มาภาพประกอบ: NewUnion_org (Pixabay License)

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 เครือข่ายองค์กรด้านข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนสังคม จัดงาน "เปิดข้อมูลรัฐสู่สาธารณะเพื่อประชาธิปไตย" (Open Data for Democracy) เนื่องในวันข้อมูลเปิดสาธารณะ (International Open Data Day) ที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกเพื่อเฉลิมฉลองเเละเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เห็นถึงความสำคัญเเละประโยชน์ของข้อมูลสาธารณะ นำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการรับนโยบายข้อมูลเปิด ไปใช้ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน เเละภาคประชาสังคม โดยข้อมูลสาธารณะ ถือเป็นทรัพยากรสำคัญในยุคดิจิทัล ยิ่งในปัจจุบันมีการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อ รับรู้ ใช้เเละเเลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น ข้อมูลสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของภาครัฐ จึงถือเป็นเเหล่งข้อมูลหลักในการช่วยผลักดันให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างเเละสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมถึงสร้างความโปร่งใสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

บางหน่วยงานยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยไม่ครบถ้วนหรือเปิดเผยเเล้วนำไปใช้งานต่อได้ยาก

นางสาวธนิสรา เรืองเดช ผู้บริหารบริษัท พันซ์อัพ เวิล์ด จำกัดเเละโครงการ ELECT ในฐานะตัวเเทนเครือข่ายองค์กรด้านข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนสังคม กล่าวเปิดงานว่าข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารเเละถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ในสังคม งานครั้งนี้จึงเป็นการรวมตัวขององค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลของภาครัฐ ได้มาเเลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกให้ไทยสร้างสังคมที่ Open Data ช่วยขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้จริง จึงจัดงานขึ้นภายใต้เเนวคิด “Open Data for Democracy” เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนเเสดงความคิดเห็นเเละสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เเต่ปัญหาที่เจอในทุกวันนี้คือการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะของภาครัฐ ที่บางหน่วยงานยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยไม่ครบถ้วนหรือเปิดเผยเเล้วนำไปใช้งานต่อได้ยาก

นางสาวธนิสรา กล่าวต่อว่า ในฐานะคนที่ทำ Civic Tech (เทคโนโลยีภาคประชาชน) มองว่าขั้นแรกของสังคมประชาธิปไตย คือทำอย่างไรให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นง่ายที่สุด นั่นก็คือการที่รัฐเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่สมบูรณ์และนำไปใช้ต่อง่ายที่สุด เพื่อให้ประชาชนติดตาม ตรวจสอบ และช่วยคิดช่วยทำต่อได้ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในระดับต่อ ๆ ไปเราเชื่อว่า Open Data ก็เหมือนประชาธิปไตยในประเทศนี้ ที่ต้องใช้เวลาสร้างเเละขับเคลื่อน แต่ยิ่งเป็นการวิ่งระยะไกล จึงจำเป็นที่เราต้องเริ่มวันนี้ ช่วยให้สังคมดีขึ้นในอนาคต”

สถานการณ์ Open Data ไทยยังดีกว่ามาเลเซีย

ภายในงาน ได้จัดเวทีเสวนาใน 2 หัวข้อ “ความฝันเเละความหวัง หาก Open Data ช่วยขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้จริง” โดย Mr. Lee Long Hui ผู้ช่วยบรรณาธิการ (Assistant Editor) จาก Malaysiakini ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานครั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ Open data ของประเทศมาเลเซีย เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นในช่วงการเลือกตั้งในปี 2018-2019 เเต่ขณะเดียวกันปัจจุบันยังมีอุปสรรคในการขับเคลื่อนอยู่มาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2020 ทำให้มีข้อจำกัดอยู่มากในการเปิดเผยข้อมูล

Mr. Lee Long Hui กล่าวต่อว่า สำหรับตนการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้ภาครัฐเอง ภาคเอกชน เเละประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกเเบบประเทศ อย่างประเทศมาเลเซีย ที่ผ่านมาข้อมูลช่วยให้ประชาชนเข้าถึงประเด็นสำคัญทางการเมืองในประเทศ อย่างกรณีที่ครอบครัวของ Najib Razak อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ใช้ทรัพย์สินสาธารณะเพื่อแสวงหาและได้รับมาซึ่งประโยชน์ส่วนตัว การเข้าถึงข้อมูลของรัฐก็สามารถทำให้ภาคประชาชนรับรู้เรื่องราวและใช้ข้อมูลเพื่อต่อสู้เรียกร้องในเรื่องนี้ได้ และการต่อสู้ดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลของ Najib Razak ล้มในเวลาต่อมา/การติดตามนโยบายของพรรคต่าง ๆ ว่าสามารถดำเนินการตามที่ให้สัญญาไว้หรือไม่ / การตรวจสอบใช้งบประมาณของประเทศ ขณะที่ภาคประชาชนเองก็ได้นำเสนอประเด็นปัญหาที่ดินให้รัฐได้รับรู้เเละนำไปสู่การเเก้ปัญหา

เเต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ Open Data ในมาเลเซียยังไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทย ดังนั้นความฝันเเละความหวังของตนที่อยากให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน คืออยากให้รัฐเปิดเผยข้อมูลสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลโควิด 19 ในประเทศ ให้ stakeholder ได้เอาข้อมูลไปใช้

ภาครัฐชอบ upload หนังสือเอกสารทั้งเล่มลงเว็บไซต์ อ่านไม่สะดวก

ด้านนางอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้น นอกจากจะเป็นการตรวจสอบรัฐบาลและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นสื่อว่า ถ้ามีข้อมูลสำคัญก็ไม่ควรปิดกั้นตัวเอง แต่ต้องนำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการเปิดข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อเเก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

ในฐานะที่อยู่ในแวดวงคนทำงาน Data ตนมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ประเมินการเปิดเผยข้อมูล 3 ประการ คือข้อมูลต้อง Timely (ทันสมัยและทันต่อเวลา) Accessible (เข้าถึงได้ง่ายและเปิดในรูปแบบที่นำไปใช้ต่อยอดได้) และคำนึงถึงเรื่อง Data Aggregation (เปิดในระดับที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้) ซึ่งพอมาดูตัวอย่างเว็บไซต์ DGA ของภาครัฐ ก็จะเห็นปัญหา เช่น มีข้อมูลที่ว่าด้วยการคมนาคมของประชาชนในปี 2562 ซึ่งถูกอัปเดตในปี 2563 ซึ่งเมื่อไม่ทันต่อเวลา จะวิเคราะห์ข้อมูลได้ทันท่วงทีได้อย่างไร หรือการที่ภาครัฐชอบ upload หนังสือเอกสารทั้งเล่มลงเว็บไซต์ซึ่งอ่านไม่สะดวก แต่อย่างไรก็ตาม อาจพูดได้ว่าเรามาไกลพอสมควรในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เพราะถ้าเป็นสมัยก่อนเรื่องนี้คงทำได้ยากกว่านี้ อาจต้องไปขอดูที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพียงแต่อนาคตก็ต้องพัฒนากันต่อไป

ตนเชื่อว่า ข้อมูลและข้อเท็จจริงสามารถเอามาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ได้ อย่างเช่น เรื่องฐานข้อมูลสิทธิและเสรีภาพ ของ iLaw ที่แสดงให้เห็นความผิดเพี้ยนของกฎหมาย และความไม่เข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย ในฐานะที่ตัวเองเคยทำเรื่องแนวนี้ ขอเล่าว่าการหาข้อมูลมีความยากมาก ต้องไปนั่งค้นฐานข้อมูลของศาลอาญาเพื่อไล่เช็คหมายเลขคดีดำไปทีละกรณี เพื่อหารูปแบบคดี ซึ่งทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไปกับคดีหมิ่นประมาทมาก ซึ่งถือว่าผิด concept กฎหมาย หรืออย่างเรื่องการทำเว็บไซต์ vote 62 ที่ประชาชนอยากรู้ผลเลือกตั้งแบบ real time ซึ่งต้องรวดเร็ว ณ ตอนนั้นก็ต้องข้อมูลหาเยอะมาก เพราะคิดว่า กกต. ไม่น่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการ provide ข้อมูลแบบ real time นำมาสู่การสร้างฐานข้อมูลเอง โดยสร้างหน้าเว็บไซต์ให้ประชาชนสามารถช่วยกันกรอกคะแนนผลเลือกตั้ง และสามารถ upload รูปภาพประกาศคะแนนเลือกตั้ง เพื่อใช้ตรวจเช็คความถูกต้อง

สถานการณ์ Open data ไทยในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน

ขณะที่นายอิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าหากจะพัฒนา Open Data ในไทยให้ดีขึ้นได้ ต้องเริ่มออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูล (data infrastructure) ให้ชัดเจนก่อน เมื่อพูดถึง Open data เราจะนึกถึงคน 2 กลุ่ม คือคนอยากได้ข้อมูลเเละคนที่มีข้อมูล ซึ่งเเบ่งความสัมพันธ์ของคน 2 กลุ่มได้ 4 ประเภท ได้แก่ Hierarchy (ลำดับชั้น) ถ้าอยากได้ข้อมูลต้องไปขอผ่านกฎหมายหรือพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารพ.ศ.2540 / Market(ตลาด) ข้อมูลเปรียบเป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง หากอยากได้ต้องใช้เงินซื้อ ยกตัวอย่างข้อมูลบัตรเครดิต / Network (เครือข่าย) มีเจ้าของข้อมูลร่วมกัน หากอยากได้ให้มาเเชร์ข้อมูลเเลกเปลี่ยนซึ่งกันเเละกัน / เเละBazar (ตลาดนัด) คือการเอาข้อมูลมากองรวมกัน ใครอยากได้ข้อมูลใดก็หยิบไปใช้

หากเราอยากให้ข้อมูลเปิด เราไม่ควรจำกัดเจ้าของของข้อมูล ยกตัวอย่างหากอยากให้ Open government data ภาครัฐก็ควรเปิดเผยข้อมูลสาธารณะออกมาทั้งหมด โดยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอ ขณะเดียวกันการเปิดข้อมูลอย่างเดียวไม่เพียงพอ รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยออกมา โดยการทำ Platform รับฟังความคิดเห็น เเละเมื่อประชาชนเเสดงความคิดเห็นไปเเล้ว รัฐได้ทำการเเก้ไขเเละเเสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนั้นๆอย่างไร ก็ควรบอกให้ประชาชนทราบ ถึงจะพูดได้ว่า Open data จะนำไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศได้ เพราะประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้จริง

สำหรับสถานการณ์ Open data ไทยในปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน (open data barometer 2016) ที่ไทยติดอันดับที่ 53 ของโลก เเต่ก็ถือว่ายังได้คะเเนนที่น้อย เนื่องจากเปิดเผยมากขึ้นก็จริง เเต่ยังไม่เพียงพอ ความหวังที่กำลังเกิดขึ้นคือ ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลสาธารณะที่กำลังมีการพิจารณากันอยู่ หากออกมาได้ก็อาจจะทำให้ไทยมีการพัฒนาเรื่อง Open data ได้ดียิ่งขึ้น

จับตาการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

ส่วน ดร.พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ด้วยโจทย์ของการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ก็อาจทำให้เกิดข้อพิจารณาขึ้นได้ แต่จริง ๆ แล้วหลักการว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นคือ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ซึ่งถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในทางปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น โดย PDPA ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงอาการของโรคนี้ ส่วนเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เราก็คงเห็นปัญหากันอยู่แล้ว อย่าว่าแต่เรื่อง Machine Readable เลย คนยังไม่ Readable ด้วยซ้ำ ได้ไฟล์ PDF มา ก็ต้องเอาไฟล์มาแปลง 3-4 รอบ กว่าจะสามารถใช้ได้

ซึ่งแม้จะมี PDPA รัฐก็มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ก็ต้องดูเป็นกรณีไป ไม่ใช่ว่าเช็คแล้วเป็นข้อมูลส่วนบุคคลก็ไม่เปิดเผยหมด ซึ่งจริง ๆ แล้วรัฐต้องมีฐานข้อมูลในการประมวลผลข้อมูลข่าวสาร ซึ่ง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ก็กำหนดให้รัฐต้องมีหน้าที่แล้ว และมีบทบัญญัติที่บอกว่า ต้องพิจารณา พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ด้วย

สำหรับประเด็นพิจารณาเรื่องข้อมูลข่าวสารบุคคล ก็ขอบอกว่ามีช่องทางตามกฎหมายให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มาก เพราะตามหลักการแล้ว อะไรที่ไม่ใช่ข้อยกเว้นตามกฎหมายก็ต้องถูกเปิดเผยได้ ซึ่งหากถามว่ารัฐไทยถามต้องทำอย่างไร รัฐก็มีวิธีการในเรื่องนี้หลายประการ เช่น การชั่งน้ำหนักประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล อาจแจ้งกลับไปหาเจ้าของข้อมูล เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล หรือการ Anonymization ข้อมูล หรือการทำให้ข้อมูลส่วนตัวกลายข้อมูลเป็นนิรนาม ดังนั้นแล้ว PDPA จึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งในมาตรการที่รัฐต้องพิจารณาเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือในการปกปิดข้อมูลข่าวสาร รัฐยังจำเป็นต้องใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามหลักการว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะใช้การชั่งน้ำหนักประโยชน์สาธารณะและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล หรือการ Anonymization ข้อมูล เป็นต้น

ซึ่งหากรัฐอ้างว่า มี PDPA แล้ว จึงไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ในแง่เนื้อหา ถือว่าผิดตั้งแต่เริ่มต้น เพราะ PDPA มีเพื่อให้รัฐพิจารณาเรื่องการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และเพื่อให้รัฐใช้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น โดยหลักการของ PDPA คือการคุ้มครอง Privacy จะทำอย่างไรไม่ให้การใช้ข้อมูลไปกระทบสิทธิส่วนบุคคล ส่วน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารก็มีระบุเรื่องนี้เช่นกัน ที่ว่าต้องมีการพิจาณาเรื่องความยินยอม แต่สุดท้ายหากเป็นประเด็นพิจารณาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ก็ต้องดูใน PDPA เพราะมีมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิที่สูงกว่า ซึ่งในท้ายที่สุดหากจะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รัฐก็มีหน้าที่และภาระต้องพิสูจน์ว่าเหตุใดจึงไม่เปิดเผย เข้าข้อยกเว้นใดตามกฎหมาย ไม่ใช่ให้ประชาชนเป็นผู้มีภาระการพิสูจน์

รัฐบาลที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะไม่มีการเปิดข้อมูลที่ไม่เป็นผลบวกต่อรัฐบาล

ขณะเดียวกันในหัวข้อเสวนา “เปิดเผย โปร่งใส สร้างประชาธิปไตยไทยผ่าน Open Government” ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าคุณภาพของ Open Government data วัดจากเกณฑ์ 3 ด้าน ได้แก่ เข้าถึงข้อมูลได้หรือไม่/เข้าถึงเเล้วใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เเละข้อมูลมีการเเชร์หรือบูรณาการร่วมกับข้อมูลส่วนอื่นๆในประเด็นเดียวกันได้ หากมีครบทั้ง 3 ด้าน นั่นหมายถึงประเทศนั้นมีการ Open Government อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเครื่องมือที่ไม่ดีมากนัก ระบบราชการไทยไม่ได้ออกเเบบให้รัฐเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ เเละมองความลับเป็นสิ่งที่มีมูลค่า เเบบเเผนหรือโครงสร้างการทำงานไม่ชัดเจน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่กล้าทำงาน ทำออกมาจะผิดหรือไม่ คนจะตีความอย่างไร หากทำผิดเราก็จะโดนลงโทษ ขณะเดียวกันโครงสร้างการรับผิดชอบในระบบราชการไทย มันจะโยนความรับผิดชอบไปที่คนปฏิบัติ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าทำงาน

ผศ.ดร.ธานี กล่าวต่อว่า เรามีความหวังว่า Open data จะมีประสิทธิภาพ เเต่อาจจะต้องทำให้ทัศนคติของคนในสังคมเข้าใจตรงกัน ปัจจุบันในสังคมมองเรื่องความมั่นคงต่างกัน กลุ่มเเรก มองความลับเป็นความมั่นคง ไม่ควรเปิดเผย ขณะที่คนรุ่นใหม่มองความมั่นคงว่าเกิดจากการมีส่วนร่วม เเต่ทั้งสองอย่างสามารถตกลงเเละสร้างเข้าใจกันได้ ขณะเดียวกันอีกสิ่งที่จะช่วยให้ open data เกิดขึ้นได้จริง คือการลด Pain point ของรัฐ โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยได้ เนื่องจากภาระงานที่เยอะของเจ้าหน้าที่รัฐที่หนักอยู่เเล้ว หากไปเพิ่มความยุ่งยากก็อาจไม่อยากทำ เเต่เรื่องนี้เทคโนโลยีช่วยได้ให้ระบบเเละโครงสร้างดีขึ้น อีกทั้งคนที่อยู่ในองค์กร ก็น่าจะอยากวางระบบจัดการในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพได้

ส่วนหากถามว่ารัฐบาลเเต่ละสมัยมีผลต่อการทำให้ Open data มีประสิทธิภาพหรือไม่ มองว่ามีผล รัฐบาลที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ จะไม่มีการเปิดข้อมูลที่ไม่เป็นผลบวกต่อรัฐบาล เเละจะเน้นเปิดข้อมูลที่ไม่ใช่การเมืองที่เป็นประเด็นเเกนกลางหลักของประเทศ เเต่จะเปิดเรื่องประเด็นสังคมอื่น ๆ เเทน ขณะที่ข้อมูลที่ตนอยากได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้ดูเเลความหวังที่อยากให้มี Open data อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นในการติดตามประเด็นต่างๆ เเละอาจสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ เพื่อเป็นผู้นำในการติดตามประเด็นนั้น ๆ เพื่อพัฒนาประเทศต่อไปได้จริง

Open government data ก็ถือเป็นงานบริการของรัฐ ไม่ใช่ปกปิดเเละยึดถืออำนาจเหล่านั้นไว้

ด้านนายรพี สุวีรานนท์ Co-Founder & Full-Stack Developer จาก ELECT เเละ Boonmee Lab กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลอาสารับหน้าที่มาทำงานเพื่อประชาชน การ Open government data ก็ถือเป็นงานบริการของรัฐ ไม่ใช่ปกปิดเเละยึดถืออำนาจเหล่านั้นไว้ เเละรัฐเองก็ควรมีตำเเหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ถ้ามองในหลักว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศ ต้องได้ข้อมูลที่ง่ายเเละไม่ต้องพยายามมาก ประสบการณ์การทำงานในโครงการ ELECT พบว่าข้อมูลบางอย่างได้รับช้าหรือไม่ได้รับเลย ทำให้คนไม่ทราบเเละไม่เข้าใจข้อมูล ทำให้ไม่สามารถดำเนินการหรือตอบโต้ได้อย่างถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้ความคิดอ่านของประชาชนด้อยลงไปเพราะข้อมูลไม่เพียงพอ

ส่วนความก้าวหน้าของไทยพบว่ามีการเปิดเผยข้อมูลกว้า 2,700 ชุดข้อมูลเเล้ว ซึ่งจากอดีตไม่มีเลย เมื่อดูทิศทางเห็นว่ารัฐค่อยๆเปิดข้อมูล เเละมีความพยายามบูรณาการจากหลากหลายหน่วยงานมาช่วยตรวจสอบข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม รัฐก็ควรตั้งเป้าหมายให้ไกลกว่าเดิมเเละครอบคลุมทุกด้านมากขึ้นเเละหลาย Platform มากขึ้น ไม่ใช่เเค่ด้านการเมืองอย่างเดียว เพราะยังมีข้อมูลอีกหลายมิติที่คนทำข้อมูลอยากทราบ อาทิ คำตัดสินของศาล ความถี่ของการเกิดอาชญากรรมหรือรายงานการประชุมของสภาที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ เป็นต้น

ชี้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน

ขณะที่นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า Open Government มีปัญหา 2 อย่าง คือ ข้อมูลข่าวสารที่ควรเปิดเผยกลับไม่เปิดเผย และข้อมูลข่าวสารมีการเปิดเผยแต่ไม่สามารถเอาไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ออกแบบมาให้บังคับใช้ในเชิงรับ กล่าวคือเมื่อเกิดกรณีที่ไปขอดูข้อมูลข่าวสาร แล้วหน่วยงานรัฐไม่ยอมเปิดเผย เลยมาเข้ากรณีตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร แต่กฎหมายนี้ไม่มีมาตรการเชิงรุก ทำนองว่าจะมีองค์กรกลางที่สามารถดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้อย่างไร ซึ่งปัญหาการตีความ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ก็มีให้เห็น เช่น การตีความ “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ” ตามมาตรา 14 หรือ “การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” ตามมาตรา 15 ที่มีการตีความอย่างกว้างมาก อันนำไปสู่การตีความเพื่อปกปิดข้อมูลข่าวสารไปหมด ซึ่งทางแก้คือบทบัญญัติควรระบุให้ชัดเจน เช่น ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 14 คือเรื่องการถวายความปลอดภัย ข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 คือเรื่องยุทธวิธีการรบ ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางการทหาร ยังไงก็ต้องเปิดเผย

ปัญหาการตีความกฎหมายมีให้เห็นอยู่ตลอด เช่น กรณีนาฬิกาของพลเอกประวิตร ที่ทางทีมงาน the matter ไปขอดูข้อมูลจาก ปปช. ก็ได้กระดาษเปล่ามาหลายหน้า โดยทาง ปปช. ก็มีข้ออ้างมากมาย ซึ่งตรงนี้ควรต้องเขียนกฎหมายให้ชัด เพื่อการเกิดการตีความกฎหมายบนพื้นฐานของเหตุผล ไม่ใช่ความเชื่อ อย่าเขียนกฎหมายกว้าง ๆ แล้วเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐขีดเส้นการตีความกฎหมายด้วยตนเองอย่างเกินขอบเขต

สำหรับประเด็นที่ว่า ข้อมูลอะไรที่ควรเปิดเผย ก็มีตัวอย่างจากเรื่องที่เคยทำมาก่อน เช่น ข้อมูลเรื่อง ส.ว. ขออยู่ปีกว่าจึงได้มา แต่ข้อมูลไม่แจกแจงว่า 250 คนนั้นมีที่มาอย่างไร และมีความเหมาะสมอย่างไร อันนี้คือเราเข้าถึงข้อมูลได้ระดับนึง แต่ไม่ได้ในสิ่งที่เราอยากรู้ อีกเรื่องก็คือข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นเรื่องที่ใช้ดุลพินิจสูง ยิ่งต้องโปร่งใส อย่างเรื่องคุณแม่จ่านิว โดนดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา 112 เพียงเพราะคำว่า “จ้า” พอข้อมูลอะไรทำนองนี้หลุดออกมา ก็ทำให้ประชาชนเห็นได้ว่า พอปราศจากการตรวจสอบก็จะเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น

การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกิดได้มากขึ้น ก็คือสร้างความต้องการให้มากกว่านี้ ประชาชนต้องอยากรู้เรื่องรัฐมากกว่านี้ เพราะเมื่อสังคมรู้สึกกับเรื่องราวมากเท่าไหร่ ก็จะมีการไล่ตามเรื่องนั้น ๆ มากขึ้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: