การยกเลิกตั๋วรายเดือน BTS ที่มาที่ไป และการแก้ไข

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และ ภัทราภรณ์ วัฒนผดุงศักดิ์ นักวิจัย นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ 14 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 4602 ครั้ง


จากการที่ BTS ประกาศสิ้นสุดโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วันทุกประเภท โดยจะขายถึงวันที่ 30 ก.ย.64 เป็นวันสุดท้าย โดยให้เหตุผลว่า จากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้โดยสารไม่สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้นาน และโปรโมชั่นตั๋วเที่ยวเดินทางไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดังเดิม ทาง BTS จึงจะยุติการทำโปรโมชั่นดังกล่าว

การมีตั๋วเที่ยวเดินทางในลักษณะนี้ มีประโยชน์ไม่เฉพาะแก่ผู้โดยสารที่มีค่าโดยสารลดลง แต่ยังส่งผลต่อสภาพความแออัดของผู้ใช้บริการบริเวณชานชลาชั้นจำหน่ายตั๋วอีกด้วย การลดเวลาในการต่อคิวแลกบัตรโดยสารเที่ยวเดียวหน้าสถานี เป็นการลดต้นทุนการบริหารจัดการความแออัดหน้าสถานีของผู้ประกอบการไปในตัว ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น จากราคาค่าโดยสารเฉลี่ยที่ถูกลงอยู่ที่ 26 บาทต่อเที่ยวเมื่อใช้ตั๋วรายเดือน จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในภาพรวมจะช่วยเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการในระยะยาว จะเห็นว่า ทั้งผู้โดยสารและผู้ประกอบการ ต่างได้รับประโยชน์จากตั๋วโดยสารโปรโมชั่นเที่ยวเดินทางทั้งคู่

นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2563 รัฐบาลได้เริ่มประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) และประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานทั่วราชอาณาจักรในเวลากลางคืน มาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดส่งผลให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า ที่ลดลงเกือบครึ่งเทียบจากก่อนมีโควิด-19 ในปี 2562 เหลือเพียง 124.9 ล้านคนต่อปีในปี 2563 ทำให้รายได้จากค่าโดยสารลดลงถึงร้อยละ 45.5 เหลือเพียง 3,715 ล้านบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายและปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนแล้ว ทำให้กองทุน BTSGIF (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งลงทุนครั้งแรกในรายได้ค่าโดยสารสุทธิที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก) ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ในช่วงต้นปี 2564 

ต่อมาหลังจากมีการระบาดระลอกที่ 3 ที่รุนแรงยิ่งขึ้นและระบาดหนักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ภาครัฐได้ออกมาขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดงดเดินทางในเวลากลางคืน ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้พนักงานทำงานที่บ้านให้มากที่สุด อีกทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะให้ลดจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวให้ลดลง เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว มาตรการดังกล่าวส่งผลให้จำนวนผู้โดยสาร BTS ที่ลดลงถึงร้อยละ 44 ในเดือนมิถุนายน 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563 

ไม่เพียงผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะในไทยที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงอย่างกระทันหัน แต่ผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 เช่นกัน ในกรณีของประเทศอังกฤษ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้แนะนำให้ทุกคนในสหราชอาณาจักรลดการเดินทางที่ไม่จำเป็นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ทำให้รถไฟใต้ดินของลอนดอนก็มีจำนวนผู้โดยสารลดลงถึงร้อยละ 97 หลังจากประกาศล็อกดาวน์เพียงหนึ่งวัน โดยหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นที่รับผิดชอบเครือข่ายการขนส่งรถไฟใต้ดินในลอนดอนก็ได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงคมนาคมของอังกฤษระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึง 11 ธันวาคม 2564 รวมกว่า 3.4 พันล้านปอนด์ อีกทั้งยังให้ยืมเงินเพิ่มอีก 600 ล้านปอนด์

นอกจากนั้น กระทรวงคมนาคมของอังกฤษก็ได้จัดทำข้อตกลงมาตรการฉุกเฉินกับบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการรถไฟ โดยจ่ายเงินช่วยเหลือกว่า 7.4 พันล้านปอนด์ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึง 6 กุมภาพันธ์ 2564 และบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการรถไฟยังสามารถเรียกร้องค่าธรรมเนียมการบริหารกิจการอีก 88.8 ล้านปอนด์ระหว่างเดือนมีนาคมถึงกันยายน 2563

ในกรณีของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนบริการขนส่งสาธารณะที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนหรือองค์กรของรัฐอื่น ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน โดยอุดหนุนค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงการเดินรถมูลค่าหนึ่งในสามของเชื้อเพลิงหรือค่าไฟฟ้าที่ใช้ในการเดินรถจริง และชดเชยค่าซ่อมบำรุงรักษาและเบี้ยประกันตามจริงให้แก่ผู้ประกอบการรถไฟที่มีเจ้าของเป็นบริษัทเอกชน สำหรับผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนทางรางที่มีรัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ได้ออกมาประกาศให้เงินคืนร้อยละ 5 สำหรับทุกการเดินทางระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2564 ถึง 1 มกราคม 2565 โดยคำนวณราคาค่าโดยสารใหม่จากอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าจ้างของผู้ใช้บริการ นอกจากนั้น บริษัทยังคงจ่ายสัมปทานค่าโดยสารมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ทุกปีอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมมูลค่าการลดค่าโดยสารสำหรับปีและค่าสัมปทาน บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์  

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะเป็นหน่วยงานการขนส่งมวลชนของรัฐบาลหรือของบริษัทเอกชนในอังกฤษและฮ่องกงก็ต่างได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อลดผลกระทบทางการเงินที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และทำให้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะสามารถดำเนินการกิจการต่อไปได้ เพื่อให้ประชาชนมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่สะดวกสบายสำหรับใช้ในการเดินทาง

เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์ที่ไทย รัฐบาลกลางไม่ได้มีมาตรการการเยียวยาผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะจากมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใด ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องออกมาประกาศยกเลิกตั๋วโดยสารรายเดือน เพื่อเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเที่ยวของการเดินรถ ส่งผลให้ภาระค่าโดยสารที่สูงขึ้นต้องตกมาที่ผู้ใช้บริการ รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้งบประมาณเพื่อเยียวยาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการเอกชน เพื่อช่วยเหลือภาระทางการเงินของผู้ประกอบการเอกชนให้มีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อได้โดยไม่ผลักภาระเป็นการขึ้นค่าโดยสาร หรือลดการให้บริการซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งควรมีมาตรการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้ได้ค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าที่เป็นตารางค่าโดยสารร่วมทุกเส้นทาง โดยไม่ต้องมีการคิดค่าโดยสารแยกแต่ละเส้นทาง ซึ่งจะเป็นค่าโดยสารที่ส่งเสริมการใช้งานระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกระดับรายได้ให้มีความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างสมบูรณ์

 

บทความ โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ และ ภัทราภรณ์ วัฒนผดุงศักดิ์ นักวิจัย นโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: