พ.ค. 2564 ผู้ประกันตนว่างงาน 303,984 คน - ธปท.ห่วงตลาดแรงงานยังเปราะบาง

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ก.ค. 2564 | อ่านแล้ว 6250 ครั้ง

เดือน พ.ค. 2564 ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ม.33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 303,984 คน ถูกเลิกจ้าง 91,794 คน ต่ำกว่าหลักแสนเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน - ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยรับผล COVID-19 ระลอก 3 ชัดขึ้น หวั่นยืดเยื้อ ห่วงตลาดแรงงานยังเปราะบาง | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

28 มิ.ย. 2564 ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน พ.ค. 2564 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าเดือน พ.ค. 2564 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน  11,077,670 คน ลดลงร้อยละ -2.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,391,965 คน) และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,051,702 คน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23

อุตสาหกรรมหลักที่มีการจ้างงานขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาขนส่ง (+3.15%) ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่มีการจ้างงานหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร (-23.15%) สาขาก่อสร้าง (-5.12%) สาขาการผลิต (-2.48%) สาขาการค้า (-1.30%) และสาขาเกษตรกรรม (-0.91%)

สถานการณ์การว่างงาน [ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม (สำนักงานประกันสังคม : SSO)] เดือน พ.ค. 2564 มีผู้ว่างงานจำนวน 303,984 คน ลดลงร้อยละ -8.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 332,060 คน) และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 318,529คน) ร้อยละ -4.57 ทั้งนี้อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาส 1/2564 เท่ากับร้อยละ 2.0

อุตสาหกรรมหลักที่มีการว่างงานขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาก่อสร้าง (+9.34%) สาขาขนส่ง (+7.65%) และสาขาเกษตรกรรม (+6.47%) ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่มีการว่างงานหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร (-16.69%) สาขาการผลิต (-13.32%) และสาขาการค้า (-8.20%)

สถานการณ์การเลิกจ้าง เดือน พ.ค. 2564 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างจากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 91,794 คน ลดลงร้อยละ -12.98 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 105,488 คน) และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 102,832 คน) ร้อยละ -10.73 และอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคมในเดือน พ.ค. 2564 เท่ากับร้อยละ 0.81

อุตสาหกรรมหลักที่มีการเลิกจ้างขยายตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาก่อสร้าง (+17.95%) สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร (+5.47%) และ สาขาขนส่ง (+4.46%) ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่มีการเลิกจ้างหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม (-56.88%) สาขาการค้า (-30.84%) และสาขาการผลิต (-29.56%)

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยรับผลโควิดระลอก 3 ชัดขึ้น หวั่นยืดเยื้อ กระทบแรงงานสูญเสียทักษะ

 

ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 44/2564 เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือน พ.ค. 2564 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

​เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19  ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านการใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19 และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลงจากการแพร่ระบาดระลอกสาม ส่งผลให้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้างปรับลดลง

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) หมวดสินค้าเกษตรที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์จากต่างประเทศ 2) หมวดสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ 3) หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังคงได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกที่ฟื้นตัวช่วยพยุงให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ต่อการผลิตและการส่งออกในบางสินค้า โดยเฉพาะอาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการส่งออก

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนสะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรเป็นสำคัญ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทาน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ จากผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในระยะเดียวปีก่อนที่มีมาตรการลดค่าน้ำประปาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสาม โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อนตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: