การเมืองเรื่อง “ความเป็นแม่” การผลิตซ้ำทางสังคม และผลกระทบต่อLGBTIQAN+ ที่ถูกริดรอนสิทธิในการสมรสเท่าเทียมโดยรัฐ

มัจฉา พรอินทร์ | นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสตรี และผู้อำนวยการองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน | 12 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4602 ครั้ง


ไม่มีประเด็นทางสังคมใดๆ หลีกหนีจากการเมือง รวมทั้ง “ความเป็นแม่” และ “LGBTIQ ที่เป็นแม่อยู่ในขณะนี้ยังถูกละเมิดโดยรัฐ”

จากประสบการณ์ ที่ตัวเองก็เป็นแม่ นักเคลื่อนไหวเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ และสิทธิหลากหลายทางเพศ ทำให้ผู้เขียนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อต่อเรื่อง “ผู้หญิง เท่ากับ ความเป็นแม่” เพราะความคิดแบบนี้ผลิตซ้ำมายาคติ และ บทบาทตามกรอบเพศ(gender role) ต่อผู้หญิง ซึ่งมิได้สะท้อนความจริงของการดำเนินชีวิต (lives reality) ของทั้งผู้หญิง ชุมชน LGBTIQ รวมถึงครอบครัวที่มีแม่คนเดียว พ่อคนเดียว หรือครอบครัวที่มีตา-ยาย เลี้ยงดูเด็ก

ในความเป็นจริงผู้หญิงไม่ได้จำเป็นต้องเท่ากับความเป็นแม่ และอาจจะไม่ได้เท่ากับการดูแลลูก/เด็กได้ดีกว่าเพศอื่นๆ ที่มากไปกว่านั้นหากเราขุดลึกลงไปที่รากเหง้าของวาทกรรมนี้ เราจะพบว่ามันมาจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่และกรอบความคิดความคิดเชื่อภายใต้แบบระบบ 2 เพศ  และวาทกรรมนี้จึงส่งผลอย่างยิ่งต่อความเป็นธรรมต่อผู้หญิง เพราะบทบาทในการเลี้ยงลูกและแบกความเป็นแม่ที่ดี ทั้งขูดรีดแรงงานที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและโบยตีผู้หญิงที่บกพร่องต่อการผลิตซ้ำทางสังคม เรื่องความเป็นแม่

รวมทั้งวาทกรรมนี้ได้กีดกัน “แม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ/LGBTIQAN+” ออกไป เพราะไม่สามารถลงร่องปล่องชิ้นได้กับ “Norm” หรือ ความคิดความเชื่อเรื่องความเป็นแม่ที่คับแคบนี้

ในวันแม่นี้ ผู้เขียนเห็นว่า เป็นวาระที่สำคัญที่สังคมต้องหันมาทบทวนถึง สิทธิของผู้หญิงและLGBTIQAN+ ว่าแท้จริงแล้วสามารถเลือกที่จะเป็นแม่ได้อย่างเป็นธรรมเท่าเทียมหรือไม่ เพราะหากเลือกไม่ได้ วาทกรรมนี้ก็จะตามโบยตีผู้หญิง ที่ไม่สามารถและ/หรือไม่เลือกที่จะมีลูก รวมทั้งกีดกัน LGBTIQAN+ ที่จะคิดและเลือกที่จะก่อตั้งครอบครัว และมีลูก

ทั้งนี้ผู้หญิงและเพศหลากหลาย ต้องมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าจะเป็นแม่ หรือ ไม่ แต่เราจะเห็นว่าสังคม โดยเฉพาะรัฐและคนอื่นๆรายรอบผู้หญิง ล้วนเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อการควบคุมมดลูก ซึ่งส่งผลต่ออำนาจในการตัดสินใจในการ “ตั้งครรภ์หรือการไม่ตั้งครรภ์”ของผู้หญิง และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งกรณีของคนที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการตั้งครรภ์ เพราะกฎหมายริดรอนสิทธิ์

มิติอื่นๆที่จะขยายความ ว่าวาทกรรม “ผู้หญิง = ความเป็นแม่ = การเลี้ยงลูกได้ดีที่สุด” ดูจะยิ่งเป็นปัญหาเข้าไปอีก ถ้ามันถูกอนุมานให้เท่ากับ “การเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์“ และ/หรือ “การเป็นแม่ที่ดี” เพราะความคิดความเชื่อแบบนี้ ถูกผลิตซ้ำผ่านความคิดความเชื่อที่สถาปนาจากชนชั้นกลาง จนลืมไปว่า ในสังคมไม่ใช่ผู้หญิงทุกคน อยากเป็นแม่ , แม่บางคนอาจจะไม่ได้มีเพศกำเนิดเป็นหญิง และ/หรือ แม่หลายๆคนอาจจะเป็นเพศเดียวกัน ส่วนแม่เหล่านั้นจะสามารถเลี้ยงลูกได้ตามความคาดหวังของสังคมหรือไม่ ก็ไม่ได้สะท้อนว่าความสมบูรณ์แบบหรือไม่ เพราะมิติเหล่านี้มีความซับซ้อน ขึ้นอยู่บริบทโดยเฉพาะ และไม่ได้เป็นอิสระจากมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งกฎหมายทั้งที่มีอยู่และที่ควรจะมีแต่กลับไม่มี เช่น สมรสเท่าเทียม เหล่านี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งพอพูดแบบนี้ เราเองมิได้หมายถึง “ไม่ควรเลี้ยงเด็กให้ดี” แต่หมายถึง การจะเลี้ยงลูก/เด็กให้ดีได้ มันมีปัจจัยรอยล้อม ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอัตโนมัต และต้องไม่ลืมว่ารัฐได้กีดกันแม่ๆที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ให้สามารถสมรสเท่าเทียมได้ จนทำให้ทั้งครอบครัวและเด็กในครอบครัวสีรุ้ง / มี LGBTIQAN+ เป็นผู้ปกครอง ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมาย

ดังนั้น ผู้เขียนอยากยืนยันว่า “การเป็นแม่ สิ่งที่เลือกได้ เป็นสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและชุมชนหลากหลายทางเพศ ซึ่งต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติ” การที่ผู้หญิง หรือ LGBTIQAN+ เลือกที่จะมีลูก นั้น ในส่วนของความเป็นแม่ ก็ไม่ได้ ได้มาแบบอัตโนมัติ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติที่ติดมากับอวัยวะเพศหญิง แต่คือ สิ่งที่สังคม กล่อมเกลาหล่อหลอม

ดังนั้น หากสังคมเข้าใจมิตินี้ ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลง โดยการรณรงค์ ให้สังคมพัฒนาให้มีระบบกฎหมายที่เอื้อให้ทุกเพศได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ และมีศักยภาพสามารถรับผิดชอบเลี้ยงลูกได้ดีที่สุด

ท้ายที่สุดหากสังคมไม่ผูกขาดว่าผู้หญิง=ความเป็นแม่ นอกจากจะทำให้ภาระในการดูแลเด็กไม่ไปตกที่ผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว ยังจะทำให้สังคมมี “norm” และความเชื่อใหม่ว่า “เพศไหน ใครๆก็สามารถฝึกฝนที่จะดูแล/เลี้ยงเด็กให้ดีได้ทั้งนั้น”ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อเด็ก/ลูก ผู้หญิงและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยากก่อตั้งครอบครัวและมีลูก

ส่วนภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง ส่งเสริม และเติมเติม สิทธิผู้หญิง สิทธิ LGBTIQ รวมทั้ง สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์(Sexaul reproductive health and Right) ตลอดจนอธิปไตยเหนือร่างกาย(body autonomy)ของผู้หญิง ดังนั้นรัฐต้องไม่เป็นผู้ละเมิด ริดรอน หรือเพิกเฉยต่อหน้าที่ของตน ที่สำคัญภาครัฐควรจะฟังเสียงชุมชนด้วยว่าชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องการอะไร อย่างชุมชน LGBTIQAN+ ต้องการสมรสเท่าเทียม ก็ควรจะมีกฎหมายนี้เสียที

สุดท้ายก็อยากส่งกำลังใจให้ แม่ๆทุกคน โดยเฉพาะแม่ๆในชุมชนหลากหลายทางเพศรวมถึงลูกๆของเรา ที่ได้สะท้อนและยืนยันว่า ความเป็นแม่สามารถสร้างและพัฒนาได้ แต่การไม่มีสมรสเท่าเทียมในสังคมไทย เป็นอุปสรรคทำให้เราไม่สามารถทำหน้าที่แม่ได้อย่างเต็มที่ และการไม่มีกฎหมายที่เอื้อต่อการสมรสเท่าเทียมส่งผลต่อความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการยอมรับของสังคม ต่อแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ และต่อครอบครัวที่ก่อตั้งโดยบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในสังคมไทย ดังนั้น ถ้าถามว่าแม่ๆในชุมชน LGBTIQ ต้องการอะไร ในวันแม่ วันนี้ ตอบ “เราต้องการสมรสเท่าเทียม!!!”

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: