สถานการณ์ COVID-19 ประจำสัปดาห์ 17-23 ม.ค. 2021 ณ วันที่ 23 ม.ค. 2021 มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 98,742,691 คน เสียชีวิต 2,116,319 คน รักษาหาย 70,917,439 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 13,302 คน รักษาหาย 10,448 คน เสียชีวิต 72 คน
17 ม.ค. 2021
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 374 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 12,054 คน รักษาหายเพิ่ม 109 คน รวมรักษาหายสะสม 9,015 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 70 คน
- นายกรัฐมนตรี ระบุไม่ยอมเป็นประเทศทดลอง ต้องมั่นใจความปลอดภัยของวัคซีนป้องกัน COVID-19 ก่อนนำมาฉีดให้คนไทย หลังหลายประเทศพบผลข้างเคียงและอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล
- บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ออกแถลงการณ์ระบุว่าทางบริษัทจะทำการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตวัคซีนต้าน COVID-19 จึงทำให้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ควบคุมกฎระเบียบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบวัคซีนเป็นการชั่วคราว
- อาร์เจนตินา ยืนยันพบผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ติดเชื้อ COVID-19 ชนิดกลายพันธุ์ที่มีต้นทางจากอังกฤษ
- อิสราเอล สำนักข่าว Ynet รายงานโดยอ้างกระทรวงสาธารณสุขว่ามีชาวอิสราเอลอย่างน้อย 13 คนมีอาการอัมพาตบนใบหน้าเล็กน้อยหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และเจ้าหน้าที่เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยดังกล่าวอาจสูงขึ้น
- เมียนมา แจ้งว่า COVID-19 ทำให้โรงแรมต้องปิดให้บริการชั่วคราวราว 1,000 แห่ง มีคนว่างงานราว 30,000 คน
- ออสเตรเลีย กำลังตรวจสอบกรณีพบการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แบบเป็นกลุ่มก้อนชานเมืองซิดนีย์ ด้านออสเตรเลียนโอเพนยืนยันแกรนด์สแลมแรกของปีนี้จะจัดที่เมืองเมลเบิร์นตามกำหนด
- ออสเตรีย ประชาชนหลายพันคนชุมนุมที่กรุงเวียนนา ประท้วงมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ของรัฐบาล
18 ม.ค. 2021
บราซิล เริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของซิโนแวกบริษัทเวชภัณฑ์ของจีนในประเทศแล้ว | ที่มาภาพ: EPA (อ้างใน BBC)
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 369 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 12,423 คน รักษาหายเพิ่ม 191 คน รวมรักษาหายสะสม 9,206 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 70 คน
- คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เผยอาการผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ปอดอักเสบมากขึ้น ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพิ่ม 1-2 ตัว หลังพบเชื้อดื้อยาและมีเสมหะค่อนข้างมาก เลื่อนแผนถอดเครื่องช่วยหายใจ
- รมว.สาธารณสุข ยันวัคซีน COVID-19 ยังไม่เปิดใช้เชิงพาณิชย์ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ
- กลุ่มนักวิจัยที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีน COVID-19 ทั่วโลกระบุว่า จนถึงเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2021 ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 40 ล้านโดส
- หลายประเทศในยุโรปตะวันออก กำลังประสบปัญหาที่ประชากรในประเทศต่อต้านการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 อันเกิดจากความคลางแคลงใจ การเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด และข้อมูลผิด ๆ ในขณะที่หลายประเทศเกิดความขัดแย้งภายในว่าจะใช้วัคซีนของใคร ระหว่างรัสเซีย จีน หรือประเทศตะวันตก
- จีน พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่เกิน 100 คนเป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน ยอดผู้ป่วยใหม่ทางตะวันออกเฉียงเหนือที่เพิ่มขึ้นจุดกระแสวิตกว่า จะเกิดการระบาดระดับประเทศครั้งใหม่ก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนกลางเดือน ก.พ. 2021
- บราซิล เริ่มฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของซิโนแวกบริษัทเวชภัณฑ์ของจีนในประเทศแล้ว หลังหน่วยงานกำกับดูแลยาของบราซิลอนุมัติใช้วัคซีนของซิโนแวกและแอสตราเซนเนกาเป็นกรณีฉุกเฉิน
- เกาหลีใต้ กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของเผยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้อนุมัติอย่างมีเงื่อนไขในการใช้แอนติบอดีรักษาโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่อยู่ระหว่างการทดลองระยะสาม เป็นแอนติบอดีที่บริษัทในประเทศผลิตเองขนานแรก
- อังกฤษ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 ให้แก่ประชาชนโดยเฉลี่ยนาทีละ 140 คน
- ฮ่องกง พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 107 คน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 1 เดือน เนื่องจากทางการฮ่องกงได้ตรวจหาเชื้อในผู้พักอาศัยในอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน
19 ม.ค. 2021
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 171 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 12,594 คน รักษาหายเพิ่ม 150 คน รวมรักษาหายสะสม 9,356 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 70 คน
- ครม. มีมติ ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 โดยปรับกรอบงบประมาณโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) จากวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท เป็นวงเงิน 6,216.25 ล้านบาท โดยเพิ่มงบประมาณในส่วนการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca จาก 2,379.4306 ล้านบาท เป็น 2,545.9606 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในการดำเนินงานดังกล่าว และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงิน 166,530,000.- บาท ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca)
- ครม.มีมติเห็นชอบโครงการ “เราชนะ” เยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน รวม 31.1 ล้านคน โอนผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ สัปดาห์ละครั้งจนครบจำนวนเงิน
- ญี่ปุ่น มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 2 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงและเด็ก
- จีน กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงที่สุดนับจากเดือน มี.ค. 2020 เนื่องจากมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ป่วยใหม่รายวันเพิ่มขึ้นไม่หยุด
- สิงคโปร์ วางแผนเปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เพิ่มอีกกว่า 30 แห่งเพื่อตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนวันละกว่า 70,000 คนทั่วประเทศ
- อิสราเอล เผยมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากกกว่า 12,400 คน แม้ว่าได้รับวัคซีนป้องกันของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค ซึ่งในจำนวนนี้มี 69 คน ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยอิสราเอลฉีดวัคซีนได้มากกว่า 2.9 ล้านเข็มแล้วในช่วง 1 เดือน
20 ม.ค. 2021
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 59 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 12,653 คน รักษาหายเพิ่ม 265 คน รวมรักษาหายสะสม 9,621 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 71 คน
- ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ลงนามคำสั่งขยายเวลางดการเดินทาง ไป-มา ท่องเที่ยวในเขตพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลาย
- องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่าพบผู้ป่วยโรคเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์แพร่เชื้อเร็วที่ระบาดในอังกฤษอย่างน้อย 60 ประเทศทั่วโลก และพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาใต้ใน 23 ประเทศ
- ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) แจงผลทดลองวัคซีนในบราซิลที่คาบเส้น จะประสิทธิภาพเพิ่มเป็น 70% เมื่อเว้นระยะฉีด 3 สัปดาห์ ซิโนแวคย้ำว่า ผลการทดลองจากอาสาสมัครกลุ่มเล็กนี้มีความคงทนทางวิธี (Robustness) ต่ำกว่าผลการทดลองประสิทธิภาพ 50.4% ซึ่งสรุปจากข้อมูลในอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ที่มีทั้งผู้ที่ได้รับวัคซีนห่างกัน 2 และ 3 สัปดาห์ ก่อนหน้านี้ นักวิจัยของซิโนแวคได้ออกมาเผยผลการทดลองขั้นต้นซึ่งพบว่า การเว้นระยะฉีด 4 สัปดาห์สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ โดยนี่เป็นครั้งแรกที่บริษัทยอมเปิดเผยผลการทดลองเฟสที่ 3 ซึ่งมีการเว้นช่วงของวัคซีน 2 โดสแตกต่างไปจากข้อกำหนดเดิม
- จีน กรุงปักกิ่งจะสอบสวนผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศมายังกรุงปักกิ่งทุกคนตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา และสั่งปิดสถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่งหลังพบยอดผู้ป่วย COVID-19 รายวันสูงสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์
- เม็กซิโก มียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 รายวัน 1,584 คน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดของประเทศ ขณะที่รัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ระบาดรุนแรงได้
- อินโดนีเซีย ลงโทษชาวต่างชาติที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยในรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะบาหลีด้วยการสั่งให้วิดพื้นแทนการจ่ายค่าปรับ
- สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 แตะระดับ 24.16 ล้านราย และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 400,022 ราย
- กัมพูชา พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่จำนวน 7 ราย โดยทั้งหมดเป็นแรงงานชาวกัมพูชาที่เดินทางกลับจากไทย และขณะนี้แรงงานทั้งหมดได้เข้าสู่กระบวนการกักตัว
- ฟิลิปปิน พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่จำนวน 1,862 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่ 505,939 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย
- อังกฤษ รายงานผู้เสียชีวิตรายวันจากโรค COVID-19 จำนวน 1,610 คน สูงสุดเท่าที่เคยมีมา
21 ม.ค. 2021
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 142 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 12,795 คน รักษาหายเพิ่ม 221 คน รวมรักษาหายสะสม 9,842 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 71 คน
- อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีน COVID-19 ของแอสตราเซนเนกา ล็อตที่ผลิตในอิตาลี พร้อมส่งล็อตแรก 50,000 โดส ในเดือน ก.พ. 2564 และทยอยส่งอีก 150,000 โดส ในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564
- สหรัฐฯ มียอดผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 สูงกว่าทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเตือนว่าสหรัฐฯ อาจจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
- จีน พบผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่ 144 คน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2020 แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการเชิงรุกในหลายมณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเพื่อควบคุมการระบาดแล้วก็ตาม ทั้งนี้ทางการจีนจะแจกเงิน-ของกำนัล ให้คนไม่เดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงตรุษจีน ป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 บางบริษัทเพิ่มเงินเดือนให้พนักงาน 1-2 เท่า
- ญี่ปุ่น ลงนามในสัญญากับไฟเซอร์ บริษัทยาของสหรัฐฯ เพื่อจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ประมาณ 144 ล้านโดส สำหรับประชาชน 72 ล้านคน ในปี 2021 นี้
22 ม.ค. 2021
ญี่ปุ่น กลุ่มนักวิชาการที่ปรึกษาของรัฐบาลเรื่องการรับมือกับการระบาดของเชื้อ COVID-19 กล่าวในรายงานการศึกษาว่า โครงการรณรงค์ให้ประชาชนท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้รับการส่งเสริมจากนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ อาจจะมีส่วนทำให้ยอดผู้ติด COVID-19 ในประเทศพุ่งสูงขึ้น | แฟ้มภาพ AFP / The Yomiuri Shimbun (อ้างใน Asia Times)
- ศบค. รายงานสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 309 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 13,104 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,381 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 4,384 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,339 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 10,224 ราย เพิ่มขึ้น 382 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 71 ราย
- กทม. ผ่อนปรน 13 สถานที่เสี่ยง เปิดให้บริการได้ เช่น ร้านอินเทอร์เน็ต ห้องจัดเลี้ยง ฟิตเนส สปา สถานดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างเคร่งครัด มีผลตั้งแต่ 22 ม.ค. 2564
- วัคซีน Sputnik V ซึ่งเป็นวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ที่ผลิตโดยรัสเซีย ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินแล้วในฮังการีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งถือเป็นชาติแรกในสหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มอ่าวอาหรับตามลำดับ
- อาร์เจนตินา ประธานาธิบดีอัลแบร์โต เฟอร์นานเดซ เข้ารับวัคซีน COVID-19 สปุตนิก 5 ของรัสเซีย หลังหน่วยงานสาธารณสุขอาร์เจนตินาอนุมัติให้ใช้ในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- จีน กรุงปักกิ่งเริ่มการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ของเมือง ในขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ตรวจหาเชื้อไวรัสพนักงานของโรงพยาบาลทุกคน ทั้งนี้จีนกำลังเผชิญกับการระบาดรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2021 แล้วเป็นต้นมา
- ญี่ปุ่น กลุ่มนักวิชาการที่ปรึกษาของรัฐบาลเรื่องการรับมือกับการระบาดของเชื้อ COVID-19 กล่าวในรายงานการศึกษาว่าโครงการรณรงค์ให้ประชาชนท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้รับการส่งเสริมจากนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ อาจจะมีส่วนทำให้ยอดผู้ติด COVID-19 ในประเทศพุ่งสูงขึ้น
23 ม.ค. 2021
- ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 198 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 13,302 คน รักษาหายเพิ่ม 224 คน รวมรักษาหายสะสม 10,448 คน ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 72 คน
- บริษัทแอสตราเซเนกา ประกาศว่าอาจส่งวัคซีนต้าน COVID-19 ให้สหภาพยุโรปได้ในปริมาณที่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ เนื่องจากเกิดปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน และต้องรอองค์การยาของสหภาพยุโรป (EMA) รับรองประมาณวันที่ 29 ม.ค. 2021 ทำให้บริษัทต้องส่งวัคซีนให้สหภาพยุโรปหลายสิบล้านโดสในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2021 พร้อมกับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างเต็มที่
- ฮ่องกง ใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเขตคาบสมุทรเกาลูน พร้อมกับระบุว่าผู้ที่พักอาศัยในเขตดังกล่าวที่มีอยู่ประมาณ 10,000 คน ต้องอยู่ภายในบ้านของตน จนกว่าทุกคนจะเข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 แล้ว และผลการตรวจส่วนใหญ่ออกมาชัดเจน
- สหรัฐฯ กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ ระหว่าง 150-200 นาย ที่ถูกส่งมาปฎิบัติหน้าที่ในกรุงวอชิงตัน เพื่อรักษาความปลอดภัยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโจ ไบเดน ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ COVID-19
- โบลิเวีย ผลตรวจ COVID-19 ด้วยวิธี PCR หรือแยงจมูก พบผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 50% ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเกือบ 200,000 คน
- จีน พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในวันนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นแห่งแรกในโลกที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นสถานที่พบการติดเชื้อ COVID-19 เป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2019
ข้อมูลจาก Worldometer ณ วันที่ 23 ม.ค. 2021 (เวลา 10.00 น.) มีผู้ป่วย COVID-19 ทั่วโลกรวม 98,742,691 คน เสียชีวิต 2,116,319 คน รักษาหาย 70,917,439 คน ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 13,302 คน รักษาหาย 10,448 คน เสียชีวิต 72 คน
ที่มาข้อมูล Timeline เรียบเรียงจาก: กรมควบคุมโรค | Thai PBS | สำนักข่าวไทย | VOA | NHK-World | สำนักข่าวอินโฟเควสท์
*อัพเดทข้อมูล ณ วันที่ 24 ม.ค. 2564 อนึ่งวันเวลาที่ระบุไว้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ