'ธนาธร' ตั้งคำถาม 'สาธารณสุข' ตอบ กรณีวัคซีน COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4711 ครั้ง

เรียบเรียงประเด็นหลังจากที่ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าคณะก้าวหน้า ไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊คตั้งคำถาม “วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย?” จากนั้นปลัดกระทรวงสาธารณสุข, อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ผู้อำนวยการสถานบันวัคซีนแห่งชาติ และอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาวัคซีน COVID-19 ของประเทศไทย – แทงม้าตัวเดียวหรือไม่? ทำไมต้อง AstraZeneca? ทำไมต้อง บริษัท Siam Bioscience? และรัฐสนับสนุนเพียงบริษัทเดียวหรือไม่?

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ทีมสื่อคณะก้าวหน้ารายงานว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์สดทางเพจคณะก้าวหน้าในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?” เปิดเผยข้อมูลสำคัญว่าด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิดในประเทศไทย ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง, ทำไมประเทศไทยได้วัคซีนช้า, และทำไมรัฐบาลถึงจัดหาวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม

ธนาธร ระบุว่า การที่คนไทยได้วัคซีนช้าและไม่ครอบคลุมจำนวนประชากร จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในปี 2564 เป็นอย่างมาก หลายประเทศวันนี้เร่งมือฉีดวัคซีนให้กับประชากรแล้ว แต่การที่ประเทศไทยได้วัคซีนช้า ย่อมหมายถึงการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ การเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน การเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากต่างประเทศเริ่มได้ล่าช้า และเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชน ที่ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

เหตุผลที่รัฐบาลหาวัคซีนได้ช้า ก็เพราะประมาท ไม่ได้ใส่ใจในการเร่งจัดหาวัคซีนอย่างเหมาะสมทันท่วงที สมัยพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบใหม่ๆ ได้เคยเสนอกับรัฐบาลไปแล้ว ว่าต้องจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอ ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศโดยเร็วที่สุด แต่ความความประมาททำให้เกิดการเจรจาช้า และเมื่อเจรจาได้เพียงบริษัทเดียวก็ไม่มีความพยายามเจรจากับบริษัทอื่นๆอีกเท่าที่ควร ต่างจากหลายประเทศที่ล้วนแสวงหาวัคซีนจากเอกชนหลายราย

โดยบริษัทเดียวที่ไทยฝากความหวังไว้ก็คือ AstraZeneca ซึ่งมีการจ้างบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยก็คือ Siam Bioscience ไม่มีการเจรจากับบริษัทอื่นเพิ่ม จนเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา จึงมีการประกาศว่าได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มกับ Sinovac ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก คือ 2 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากร 1.5% เท่านั้น

“กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว วันนี้กำลังการผลิตของบริษัทผลิตวัคซีนต่างๆ ได้ถูกจับจองไปเสียมากแล้ว นั่นก็เพราะรัฐบาลเอาปัญหาการฉีดวัคซีนมาเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างความนิยมทางการเมือง จนละเลยการหาหนทางที่เหมาะสมที่สุดให้กับประเทศ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่ารัฐบาลพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากการฝากอนาคตของชาติไว้กับบริษัทรายเดียวหรือไม่?” ธนาธร ตั้งคำถาม

อ้างข้อมูลประเทศต่างๆ-ชี้ไม่มีใคร 'แทงม้าตัวเดียว' เลือกบริษัทเดียวมาผลิตวัคซีนล็อตใหญ่ให้

จากนั้น ธนาธรได้ยกตัวอย่างของการจัดสรรวัคซีนในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างประเทศในเอเชียด้วยกัน อย่างเช่นมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 มีการเข้าโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตามมาด้วยการเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าจาก Pfizer 12.8 ล้านโดส เซ็นสัญญาซื้อเพิ่มจาก AstraZeneca 6.4 ล้านโดส และเพิ่มเติมจาก Sputnik V อีก 6.4 ล้านโดส ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 และในเดือนมกราคม 2564 ได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนเพิ่มจาก Sinovac อีก 14 ล้านโดส ซื้อวัคซีนจาก Pfizer เพิ่มอีก 12.2 ล้านโดส ทำให้ปัจจุบันมาเลเซียมีจำนวนวัคซีนครอบคลุมประชากรถึง 71% ไปแล้ว

ด้านไต้หวัน เมื่อเดือนธันวาคม มีการประกาศว่าจะซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca 10 ล้านโดส และจาก Covax 4.76 ล้านโดส จนปัจจุบันสามารถจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรได้ถึง 42% ส่วนฟิลิปปินส์ มีการเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับ AstraZeneca 2.6 ล้านโดสตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เซ็นสัญญาซื้อล่วงหน้ากับ Covax 30 ล้านโดส และเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนล่วงหน้าจาก Sinovac อีก 25 ล้านโดส จนฟิลิปปินส์มีวัคซีนครอบคลุม 45.1% ของจำนวนประชากรไปแล้ว

เมื่อกลับมาดูทางประเทศไทย ตอนนี้ที่เราเจรจาได้แล้วคือวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca และ Sinovac คิดเป็น 21.5% ของจำนวนประชากรเท่านั้น และเมื่อไม่นานมานี้เอง คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติพิจารณาสั่งซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca เพิ่มอีก 36 ล้านโดส แต่ก็ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อเพิ่ม เท่ากับว่าตอนนี้เราจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่า และช้ากว่าประเทศอื่นๆที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน

ปัจจุบัน ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 อิสราเอล ฉีดไปแล้ว 2.3 ล้านโดส คิดเป็น 25.91% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉีดไปแล้ว 1.9 ล้านโดส คิดเป็น 17.52% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 3 บาห์เรน ฉีดไปแล้ว 1.42 แสนโดส คิดเป็น 9.54% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 4 สหราชอาณาจักร ฉีดไปแล้ว 4.3 ล้านโดส หรือคิดเป็น 6.45% ของจำนวนประชากร, และอันดับที่ 5 สหรัฐอเมริกา ฉีดไปแล้ว 14 ล้านโดส คิดเป็น 4.36% ของจำนวนประชากร

จะเห็นได้ว่าหลายๆประเทศในโลกเริ่มฉีดวัคซีนกันไปแล้ว คาดว่าภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 หลายประเทศจะสามารถฉีดวัคซีนให้ครบจำนวนประชากรได้ แต่ทว่าในส่วนของประเทศไทย หากดูจากไทม์ไลน์ในปัจจุบัน กว่าเราจะได้เริ่มฉีดล็อตแรกจาก Sinovac ก็คือเดือนมีนาคม ซึ่งมีจำนวนเพียง 2 ล้านโดสเท่านั้น และกว่าที่เราจะได้วัคซีนจาก AstraZeneca ก็ครึ่งหลังของปี 2564 ไปแล้ว

“ประเทศไทยมีวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น ความรวดเร็วในการฉีดก็น้อยกว่าประเทศอื่น ก็เพราะการฝากความหวังไว้กับบริษัทใดหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีเลย เรามีตัวเลือกอื่นๆที่สามารถเจรจาได้มากมาย ประเทศส่วนใหญ่บนโลก ไม่มีประเทศใดที่ฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และส่วนใหญ่จะใช้การจัดซื้อจัดหาคละบริษัทกันไป” ธนาธรกล่าว

เปิดผังธุรกิจ Siam Bioscience-บริษัทในเครือ ขาดทุนสะสม เหตุใดเลือกให้เป็นผู้ผลิต-หรือเพราะแค่จะใช้หาคะแนนนิยมให้ใคร?

จากนั้น ธนาธรได้พาย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์และโครงสร้างการบริหารจัดซื้อวัคซีนที่รัฐบาลไทยดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้วางการจัดหาวัคซีนสนับสนุนแบ่งเป็นสองทาง นั่นคือ 1) การซื้อจากต่างประเทศ และ 2) การผลิตเองในประเทศ โดยในส่วนของการซื้อจากต่างประเทศ ตอนนี้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วสองบริษัท ก็คือ AstraZeneca 26 ล้านโดส และ Sinovac 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม CP เข้าไปถือหุ้นอยู่ 15.03%

กรณีที่สำคัญก็คือกรณีของบริษัท AstraZeneca เพราะมีปริมาณการสั่งซื้อมาก มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า ในการเซ็นสัญญาขายวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย เงื่อนไขหนึ่งในสัญญาก็คือการที่ AstraZeneca ทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing Organization - CMO) กับบริษัท Siam Bioscience ที่มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นอยู่ 100% โดยมีบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย SCG สนับสนุนการดำเนินงานเซ็นสัญญา โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว Siam Bioscience จะต้องจัดให้มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี โดย 174 ล้านโดสจะส่งไปขายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีก 26 ล้านโดส ขายในประเทศไทย

AstraZeneca เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ต้องการหาผู้ผลิตในหลายภูมิภาคทั่วโลก กระจายวัคซีนออกไปให้ได้มากที่สุด โดยมีคู่ค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ Siam Bioscience ที่เป็นฮับของการผลิตวัคซีนในครั้งนี้

Siam Bioscience มีบริษัทที่เกี่ยวข้องสองบริษัท คือ บริษัท Siam Bioscience ที่ดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และผลิต กับบริษัท APEXCELA ที่ดูแลด้านการขาย การตลาด และการกระจายสินค้า ทั้งสองบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท ทุนลดาวัลย์ ซึ่งก็เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ในยุคก่อตั้ง บริษัท Siam Bioscience เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท ทุนลดาวัลย์ กับมหาวิทยาลัยมหิดล มีทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตยา ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้ผลิตวัคซีน

ต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากบริษัท ทุนลดาวัลย์ เป็นชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรง เมื่อเราไปดูผลประกอบการ จะพบว่า Siam Bioscience ขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 581 ล้านบาท ส่วน APEXCELA มีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 112.4 ล้านบาท

นอกจากนี้ Siam Bioscience ยังมีบริษัทลูกที่เราค้นเจออย่างน้อย 3 บริษัท ประกอบไปด้วย

1) Abinis ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 70% โดยมีบริษัท CIMAB S.A. จากคิวบาถือหุ้นอยู่ 30% ทุนจดทะเบียน 2,270 ล้านบาท รายได้ปีล่าสุด 1.2 ล้านบาท ขาดทุน 9.1 ล้านบาท และมีผลดำเนินการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้ง

2) Inno Bio Cosmed ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 100% ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท รายได้ปีล่าสุด 17 ล้านบาท ขาดทุน 13 ล้านบาท และมีผลดำเนินการขาดทุนมาตลอดทุกปีเช่นกัน

3) Apsalagen ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 51% โดยมีบริษัท ฮาเซอร์ อินเวสเมนต์ ของเยอรมนี ถือหุ้นอยู่ 49% ทุนจดทะเบียน 42 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้ว 22.5 ล้านบาท

เหตุที่ต้องพูดเรื่องนี้ ก็เพราะว่าเมื่อเราไปดูประวัติการทำธุรกิจของ Siam Bioscience และทุกบริษัทในเครือ จะพบได้ว่านับตั้งแต่ก่อตั้งมาใน 2552 ยังไม่มีบริษัทใดประสบความสำเร็จในทางธุรกิจเลย ขาดทุนสะสมเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะตัว Siam Bioscience เองที่ขาดทุนไปแล้ว 581 ล้านบาท

แม้จะเป็นไปได้ว่าวงจรในการผลิตยา จำเป็นต้องลงทุนในการวิจัยพัฒนาอย่างสูง และยังต้องรอผ่านการรับรองจากองค์กรอาหารและยาจากประเทศต่างๆ จึงอาจคืนกำไรได้ช้า แต่อย่างน้อยจากข้อมูลที่เราสามารถหามาได้ จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา บริษัทในเครือ Siam Bioscience ยังไม่มีบริษัทไหนที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเลย จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าบริษัทสมควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนเกือบ 100% ที่รัฐบาลไทยจัดซื้อมาให้ประชาชน

นอกจาก Siam Bioscience จะได้ทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างผลิตวันซีน 200 ล้านโดสต่อปีให้กับ AstraZeneca แล้ว ยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ในโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนแบบ Viral Vector 1,449 ล้านบาทอีกด้วย เรียกว่านอกจากจะเสียเงินค่าวัคซีน รัฐบาลยังนำภาษีของประชาชนไปสนับสนุนเอกชนรายเดียวในการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนอีกด้วย

จนมีข้อคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 5/2563 ในวันที่ 5 ต.ค. 2563 ซึ่งมีกรรมการท่านหนึ่งได้ตั้งประเด็นขึ้นมา ถึงข้อกังวลเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interest) เนื่องจากเป็นการนำงบประมาณจากรัฐบาลไปสนับสนุนบริษัทเอกชน และขอให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้ให้ประชาชนทราบด้วย

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเมื่อดูไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ากลางปีที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 มีการสร้างเครือข่ายและทำสัญญากับบริษัท AstraZeneca โดยเริ่มในไตรมาสที่ 2 จบในไตรมาสที่ 3 แต่ทว่าในมติของ ศบค. ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนเลย นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้ว่าเมื่อเจรจากับ AstraZeneca จบลง ในรายงานการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ยังไม่มีการแสดงให้เห็นเลยว่ารัฐบาลไทยได้มีความพยายามเจรจาจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากกว่า 20% จนกระทั่งมาแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนมกราคมว่ามีการจัดหาวัคซีน Sinovac มาอีก 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับความต้องการในประเทศ

ขณะเดียวกัน ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการเริ่มชุมนุมของนักศึกษาประชาชน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก, แก้รัฐธรรมนูญ, และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“นำไปสู่ข้อสงสัย ว่าการที่เราแทงม้าตัวเดียว หรือพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนคนไทย เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมือง มากกว่าการหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดสำหรับคนไทยหรือไม่ ตกลงมันเป็นเรื่องคะแนนนิยมทางการเมืองหรือไม่?” ธนาธรกล่าว

ระบุ ดีลนี้เสี่ยงไม่คุ้ม-เอาความอยากได้คะแนนนิยมเป็นตัวตั้ง ถามถึง 'ประยุทธ์' ปล่อยดีลนี้ออกมารับผิดชอบในหลวงได้หรือไม่?

ธนาธรกล่าวต่อไปอีก ว่าถ้าย้อนมาดูเดือนเมษายนปีที่แล้ว มีการอนุมัตินโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2563-2565 ชื่อของ AstraZeneca และชื่อของ Siam Bioscience ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแผนนี้มาก่อนเลย มีการเสนอชื่อองค์กรเข้ามาหลายองค์กร คือ 1) สถานเสาวภา, 2) Bionet-Asia, 3) องค์การเภสัชกรรม,

4) บริษัทร่วมทุนองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด (GPO-MBP), 5) ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล, 6) โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี, และ 7) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เท่านั้น ชื่อของ Siam Bioscience เพิ่งจะโผล่ขึ้นมาในไตรมาส 2 หลังจากแผนนี้ออกมาแล้ว

นี่จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ว่าการจัดหาวัคซีนในลักษณะนี้ จะเป็นการฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับ AstraZeneca และ Siam Bioscience มากเกินไปหรือไม่ จะเป็นการลดโอกาสในการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะทำให้วัคซีนครอบคลุมประชากรที่สุดหรือไม่

“และนำมาซึ่งคำถามสุดท้าย ว่าในเมื่อผู้ถือหุ้น Siam Bioscience เป็นในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตรงเช่นนี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์อนุมัติข้อตกลงอย่างนี้ จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าวัคซีนมีการผลิตช้ากว่ากำหนดเวลา หรือมีปัญหาในการแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม หรือถ้าประชาชนเกิดอาการแพ้ หรือถ้ามีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์รับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา ประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท Siam Bioscience ที่ถือหุ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 10” ธนาธรกล่าว

จากนั้น ธนาธรได้กล่าวทิ้งท้าย ว่าหากรัฐบาลได้ทำตามสิ่งที่เราเสนอตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ที่ว่ารัฐบาลจะต้องเจรจาหาวัคซีนให้เร็ว ให้ครอบคลุม ฉีดให้ประชาชนได้เร็วที่สุด ไม่ฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่สร้างความนิยมทางการเมืองบนผลประโยชน์ของประชาชน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเร็วกว่านี้ ประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ เดินเกมตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ไม่ใช่การยึดเอาการสร้างความนิยมทางการเมืองมาเป็นปัจจัยหลักมากกว่าชีวิตของประชาชน จนทำให้เกิดทั้งความล่าช้าและไม่ครอบคลุมเช่นนี้[1]

สธ.แจงที่มาการจัดซื้อวัคซีน COVID-19

ต่อมาวันที่ 19 ม.ค. 2564  นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถานบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงกรณีการจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

บ.สยามไบโอไซเอนซ์เท่านั้นที่มีศักยภาพ

สถานการณ์โควิด-19 ต่างจากสถานการณ์ปกติโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นจะใช้ความรู้หรือประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมเพียงแค่นั้นไม่พอ เป็นการบริหารจัดการในภาวะที่มีความเร่งด่วนและมีความไม่แน่นอน การที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดหาวัคซีนโดยวิธีจัดซื้อล่วงหน้านั้นใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ไม่ใช่แค่เจรจาจัดซื้อวัคซีนธรรมดา ๆ โดยทั่วไป ต้องพิจารณาข้อมูลรูปแบบของวัคซีนที่มีการวิจัยพัฒนาอยู่ว่ามีลักษณะอย่างไร แล้วมีแนวโน้มว่าจะใช้การได้อย่างไร และมีแนวโน้มว่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยได้อย่างไร มันไม่ใช่เพียงแค่พิจารณาตามชื่อของบริษัทหรือตามตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว

กรณีบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการจองซื้อโดยมีข้อตกลงเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอีกด้วย ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องหาบริษัทที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในช่วงเวลาเร่งด่วน จึงต้องเป็นคนที่พร้อมที่สุด มีความสามารถมากที่สุด ที่เขามั่นใจที่สุด ซึ่ง บ.แอสตร้าเซนเนก้าได้ทบทวนคุณสมบัติของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าเดียว แต่ก็เห็นว่ามีเพียง บ.สยามไบโอไซเอนซ์เท่านั้นที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตในรูปแบบของ viral vector vaccine ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลับอ็อกซฟอร์ด แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมเองก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรับเทคโนโลยีการผลิตนี้ เพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีความพร้อม และคนที่มาสอนก็จะต้องไม่เสียเวลามากเกินไปเพราะมีความเร่งด่วน

บ.แอสตร้าเซนเนก้าเป็นผู้คัดเลือก บ.สยามไบโอไซเอนซ์ เรามีเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดกับเครือเอสซีจีซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาเรื่องของความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับ กับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดมาอย่างต่อเนื่องจึงได้เจรจาดึงให้ บ.แอสตร้าเซนเนก้ามาประเมินศักยภาพ บ. สยามไบโอไซเอนซ์

ขณะเดียวกัน บ.แอสตร้าเซนเนก้ากำลังต้องการขยายการผลิตออกไปทั่วโลกจำนวนมาก บริษัทที่เขาเลือกต้องสามารถผลิตได้ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไปถึงจะได้รับการพิจารณา ซึ่ง บ.สยามไบโอไซเอนซ์เข้าได้กับหลักเกณฑ์ที่ บ.แอสตร้าเซนเนก้าต้องการ

รัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐาน

มีหลายประเทศที่อยากได้ข้อตกลงในทำนองเดียวกันนี้ มีผู้ที่พยายามจะแข่งเข้ามาเพื่อให้ บ.แอสตร้าเซนเนก้าคัดเลือก แต่ด้วยความพยายามของพวกเราที่ทำงานกันเป็น "ทีมประเทศไทย" ประกอบด้วย สธ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ และเครือเอสซีจี ใช้การเจรจาและการแสดงศักยภาพให้เขาเห็น รวมทั้งรัฐบาลก็ได้แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุน พัฒนา บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเดิมผลิตเพียงแค่ชีววัตถุหรือว่ายาที่ใช้ในการเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเท่านั้น ให้สามารถที่จะปรับศักยภาพการผลิตให้มาผลิตวัคซีนชนิด viral vector ได้ รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนงบประมาณ 559 ล้านบาท บวกกับทางด้านเอสซีจีสนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อมาจัดซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ บ.สยามไบโอไซเอนซ์พัฒนาขีดความสามารถจนเข้าคุณลักษณะของ บ.แอสตร้าเซนเนก้าได้ นับเป็นผลจากความร่วมมือของทีมประเทศไทย ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน โดยมีพื้นฐานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานและทรงวางแนวทางไว้ว่า "Our loss is our gain" ซึ่งหมายถึงว่า บริษัทการผลิตยาชีววัตถุต้องลงทุนมหาศาล แล้วรายได้หรือผลกำไรในแต่ละปีไม่เพียงพอที่จะคืนทุนได้ในเวลาอันรวดเร็ว หมายเป็นการขาดทุนเพื่อกำไร...กำไรที่ประเทศไทยเรามีศักยภาพในการผลิตยาชีววัตถุ ลดการนำเข้าที่ผ่านมาเป็นมูลค่าที่มากกว่าส่วนที่ขาดทุนไปเสียอีก แต่เป็นการประหยัดงบประมาณในส่วนภาพรวมของงานสาธารณสุข ซึ่งส่วนนี้คนที่ไม่เห็นก็อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นการสนับสนุนบริษัทที่มีการขาดทุน แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะนี่เป็นไปตามหลักปรัชญาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้เรา

การที่เรามีต้นทุนด้าน คน ความรู้ เป็นเหตุให้เราได้รับการคัดเลือกจาก บ.แอสตร้าเซนเนก้าในวันนี้ ถ้าไม่ได้มีการทำไว้ก่อนตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา วันนี้ไม่มี และเราก็ไม่มีวัคซีนที่เราจะเข้าถึง การที่เราเข้าถึงวัคซีนได้ 26 ล้านโดส ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ไปเจรจาจองซื้ออีก 35 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส ทั้งหมดก็เพื่อจัดหาวัคซีนมาให้เพียงพอต่อความต้องการ

ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าวัคซีนจะไม่เพียงพอ เรามีวัคซีนเพียงพอสำหรับความต้องการแน่ เพราะมีศักยภาพในการผลิตในประเทศ แม้จะเป็นสิทธิการจำหน่ายของแอสตร้าเซนเนก้า แต่ก็อยู่บนฐานความร่วมมือ และเราจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตหากมีการติดต่อของโรคอุบัติใหม่

การที่ บ.สยามไบโอไซเอนซ์เข้ามาร่วมในการทำงานในลักษณะทีมประเทศไทย เป็นเรื่องที่ต้องน่าสรรเสริญ เพราะ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ต้องหยุดการผลิตสินค้าหรือชีววัตถุที่มีอยู่เดิมทั้งหมดที่สร้างรายได้ในแต่ละปีต้องหยุดไป แล้วมาพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน

เวลานี้เราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ทาง บ.แอสตร้าเซนเนก้าส่งวัคซีนมาให้เราแค่ 1 ซีซีเอง เราต้องขยายการผลิตให้ได้ 2,000 ลิตร ซึ่งต้องใช้ความสามารถอย่างมาก และเจ้าหน้าที่ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ ทุ่มสรรพกำลังที่มีทั้งหมดเพื่อให้ได้จำนวนวัคซีนตามที่กำหนด ซึ่งขณะนี้เป็นไปตามแผนทั้งสิ้น และเรามั่นใจว่าเราจะได้วัคซีนแน่ในช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึงต้นเดือน มิ.ย. และเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพตรงตามที่ ม.อ็อกซฟอร์ด และ บ.แอสตร้าเซนเนก้ากำหนด

รัฐไม่ได้สนับสนุนแค่ บ.สยามไบโอไซเอนซ์

สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ของบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศ ตอนนี้ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณมาสนับสนุน บ.ไบโอเนทเอเชีย บ.ใบยาไฟโตฟาร์ม ม.พระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกหน่วยงานที่กำลังวิจัยพัฒนาเป็นทีมประเทศไทยก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ก็กำลังพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นทางเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้านำมาเชื่อมต่อกับสยามไบโอไซเอนซ์ ก็จะทำให้เราทำได้เองตั้งแต่ต้นจนจบ โดยสิ่งสำคัญคือการกระจายวัคซีนที่มีออกไปให้ได้ตามแผน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าการหาวัคซีนจำนวนมากในคราเดียว

ที่เราตั้งเป้าจัดหาวัคซีนให้ได้ 50% ของประชากรเป็นแค่เป้าของปี 2564 ต้องนึกถึงจำนวนวัคซีนที่จะมาทั้งหมด 66 ล้านโดส การกระจายวัคซีนออกไปต้องใช้ความสามารถอย่างมาก ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนว่าต้องหาวัคซีนมาให้ได้ทีเดียว 100% ของประชากรไทย ยูนิเซฟคาดการณ์ว่าปลายปีนี้ จำนวนวัคซีนจะมีเพียงพอกับประชากรทั้งโลกด้วยซ้ำไป จึงขอย้ำว่าวัคซีนมีเพียงพอ เพียงแต่เป็นการใช้วัคซีนในภาวะเร่งด่วน การรีบร้อนนำวัคซีนมาใช้อาจจะมีข้อเสีย

ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีข้อมูลไม่ครบ ต้องใช้ความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลให้มากกว่านี้ แล้วเราจะเห็นว่าบางประเทศที่มีการใช้วัคซีนไปก่อนหน้า ก็เริ่มมีรายงานของการเจ็บป่วยอันเป็นผลมาจากวัคซีน ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้วัคซีน

ไม่มีกำไร แต่ไม่ขาดทุน

การที่ บ.แอสตร้าเซนเนก้าขายวัคซีนให้ไทย ให้เราจองซื้อและจำหน่ายให้กับเราอยู่บนพื้นฐานของหลักการ "no profit, no loss" คือ ไม่มีกำไรแต่จะไม่ขาดทุน พูดง่าย ๆ คือคิดราคาทุนเท่านั้น เมื่อเขาขายราคาทุนให้กับเรา ค่าจ้างที่ไปเป็นค่าผลิตวัตซีนจึงเป็นการคิดราคาทุนเช่นเดียวกัน เสมือนว่า บ.สยามไบโอไซเอนซ์ต้องผลิตวัคซีนตามคำสั่งซื้อของแอสตร้าเซนเนก้าในราคาต้นทุน จำหน่ายให้ในราคาต้นทุน เพื่อให้แอสตร้าเซนเนก้ามาขายให้ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในราคาต้นทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้นนี่ไม่เป็นเรื่องของการหากำไร แต่เป็นเรื่องของการทุ่มเทเพื่อให้ได้วัคซีนจริง ๆ

งบประมาณที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รับจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาศักยภาพของ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ วงเงิน 600 ล้านบาทนั้น ในสัญญาระบุไว้ว่าเมื่อผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานของแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว บ.สยามไบโอไซเอนซ์จะคืนวัคซีนในจำนวนเท่ากับทุนที่ได้รับจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คืนให้กับรัฐบาลไทยด้วย เพราะฉะนั้นการสนับสนุน บ.สยามไบโอไซเอนซ์ไม่ใช่เป็นการให้เปล่า แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เพิ่มศักยภาพให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้

ปกติรัฐบาลให้ทุนในลักษณะให้เปล่า แต่ บ.สยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้เสนอเองว่าเพื่อลดข้อสงสัยต่าง ๆในการสนับสนุนเอกชน จึงแสดงเจตจำนงไว้ในสัญญาการรับทุนเลยว่า จะคืนวัคซีนให้รัฐบาลไทยในจำนวนที่เท่ากันในทุนที่รับไปด้วย ดังนั้นข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอยและคลาดเคลื่อนควรจะหมดไป และไม่ควรจะไปโยงกับเรื่องของสถาบันที่พวกเราเคารพรัก

อธิบดีกรมการแพทย์: "ไม่ได้แทงม้าตัวเดียว"

ด้าน นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นว่าการฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในระดับที่จะลดการแพร่เชื้อได้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเริ่มต้นการจัดหาตั้งแต่วัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง โดยขณะนั้นข้อมูลทั้งหมดยังไม่ชัดเจน จึงต้องอาศัยการคาดการณ์และการวางแผน แต่ยืนยันได้ว่่า "ไม่ได้แทงม้าตัวเดียว" ตามที่นายธนาธรวิจารณ์

นพ. ศุภกิจกล่าวว่าไทยน่าจะได้รับวัคซีนเพื่อทำการฉีดให้ครอบคลุม 50% ของประชากร จาก 3 ช่องทาง คือ

  • Covax facility จำนวน 20% โคแวคเป็นการรวมกันของผู้ผลิตวัคซีนจากหลายบริษัท โดยแต่ละประเทศจะแสดงความสนใจสั่งซื้อ ซึ่งราคาที่ได้ก็จะแตกต่างกันไป อย่างไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เงื่อนไขการซื้อก็จะราคาสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรายได้ต่ำ ทั้งนี้การทำสัญญาจองซื้อมีความยุ่งยากบางประการทำให้การได้มาของวัคซีนยังไม่แน่นอน และอาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
  • การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต จำนวน 20% ประมาณ 26 ล้านโดส
  • อื่น ๆ จำนวน 10% ซึ่งจะติดตามผลการทดลองจากบริษัทวัคซีนทุกแห่ง โดยอาจไม่ได้เปิดเผยสาธารณะ เนื่องจากต้องทำข้อตกลงบางประการ

"การที่เราได้มาจำนวนหนึ่งจากซิโนแวค ในช่วง ก.พ.- เม.ย. แล้วต่อด้วย 26 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้าในช่วงปลายเดือน พ.ค. จากนั้นเราก็จะเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมเพื่อให้ครบถ้วนในปี 2564 ก็อยู่ในวิสัยที่มีความเป็นไปได้" นพ.ศุภกิจกล่าว

"ถามว่ามันล่าช้ามากไหม ผมคิดว่ามันอาจไม่ได้ล่าช้าอะไรมากมายนักเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ประเทศที่ได้ฉีดก่อนส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ได้จองซื้อตั้งแต่เรียกว่าการวิจัยยังเป็นวุ้นอยู่เลย ซึ่งอันนั้นจะมีข้อแตกต่างจากการดำเนินการของประเทศเราอยู่พอสมควร ซึ่งต้องมีความรอบในการดำเนินการ"

นพ. ศุภกิจเปิดเผยว่านับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับ บ. สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ร่วมมือกันทำงานมาโดยตลอด เช่น การทดลองและผลิตน้ำยาตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่ง บ.สยามไบโอไซเอนซ์ได้สนับสนุนน้ำยาหลายแสนตัวอย่างให้ สธ.

ในหลวงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 4 พันล้านเพื่อการสาธารณสุข

ในช่วงท้ายของการแถลงข่าวที่ สธ. นพ.เกียรติภูมิ วงส์รจิต ปลัด สธ.ได้กล่าวแสดงความสำนึกในพะมหากรุณาธิคุณของสถาบันกษัตริย์ไทยที่มีต่อการแพทย์และการสาธารณสุขไทยมาโดยตลอด เริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ต่อยอดเรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งพระราชทานคำแนะนำ กำลังใจ และทรัพย์ส่วนพระองค์

"ท่าน (รัชกาลที่ 10) พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์หลายคราวด้วยกัน คือ วันที่ 7 พ.ค. 2562 ท่านพระราชทานถึง 2,400 ล้านบาทให้แก่โรงพยาบาลทั่วพระเทศ และวันถัดมาอีก 631 ล้านบาทเพื่อนำไปใช้ปรับปรุงดูแลสถานที่ รวมถึงการซื้อเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ท้ายสุดในห้วงการระบาดของโควิด-19 นี่นะครับ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเวชภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์...ที่ไม่ได้กล่าวยังมีอีกมากมาย รวมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปในห้วงเวลานี้ก็กว่า 4,000 ล้านบาทแล้ว ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้มา สธ.จะไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลและการควบคุมการติดเชื้อโควิดได้เท่าปัจจุบัน ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง พวกเราประชาชนชาวสาธารณสุข ประชาชนชาวไทยก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง"[2]

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] 'ธนาธร' ไลฟ์อภิปรายหัวข้อ 'วัคซีนพระราชทานฯ : ใครได้-ใครเสีย?' (ประชาไท, 18 ม.ค. 2564)

[2] วัคซีนโควิด: นายกฯ-อนุทินโต้ธนาธร ระบุบิดเบือน-ไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ (บีบีซีไทย, 19 ม.ค. 2564)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: