เป็นไปได้ไหม? เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นหวังจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ฉีดในท้องที่ตนเองก่อน

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 4434 ครั้ง

เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นหวังจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ฉีดให้ท้องที่ตนเองก่อน มีการตั้งข้อสังเกตว่าใกล้ช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นอาจเป็นการหาเสียงของผู้บริหารที่ยังอยู่ในตำแหน่ง มท.โยน กกต. วินิจฉัยว่าการนำการจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ไปหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นทำได้หรือไม่ - ด้าน ‘สื่อเกาะติดท้องถิ่น’ วิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ยากเพราะวัคซีน COVID-19 เป็นสินค้าที่ไม่ได้จัดซื้อได้ง่าย - หากท้องถิ่นใดมีเงินสะสมมากจัดซื้อมาฉีดได้ก่อนยิ่งเปิดแผลความเหลื่อมล้ำในประเทศ - ท้ายสุดอาจทำได้แค่การสมทบเงินฉีดให้เฉพาะบางกลุ่มล้อไล่ไปกับไทม์ไลน์ของแผนการฉีดวัคซีน 3 ระยะ ไม่ได้ฉีดครอบคลุมให้คนในท้องถิ่นทีเดียว | ที่มาภาพประกอบ: Alberta Newsroom (CC BY-NC-ND 2.0)

เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2564 มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อออนไลน์หลายแห่ง เกี่ยวกับกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นหวังจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ฉีดให้ประชาชนในท้องที่ตนเองก่อนโดยใช้งบสะสมของ อปท. ของตนเอง เริ่มจาก 'สมนึก ธนเดชากุล' นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี มีแนวคิดสนับสนุนรัฐบาล ในการจัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาฉีดให้กับประชาชน

สมนึก ระบุว่าเทศบาลนครนนทบุรี มีความพร้อมมีศักยภาพในการที่จะช่วยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในเขตเทศบาล ซึ่งมีประชาชนกรอยู่ 260,000 คน จะใช้วัคซีนประมาณ 520,000 โดส หากโดสละ 500 บาท ก็จะใช้เงินประมาณกว่า 260 ล้านบาท

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ มาจากข้อเสนอของ 'คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้เสนอแนะรัฐบาลให้ท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณมาฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตนเองได้ โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ได้โพสต์เรื่องประชาชนต้องได้รับวัคซีนโควิดถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 โดยเสนอว่า “รัฐบาลจึงควรให้โอกาสองค์กรปกครองท้องถิ่นที่แข็งแรงพอ มีโอกาสดูแลประชาชนในพื้นที่ของตน  ขณะนี้มีเงินสะสมของท้องถิ่นอยู่หลายแสนล้าน” [1]

ต่อมานายพิริยะ ศรีสุขสมวงศ์ นายกเทศมนตรี ทต.คลองท่อมใต้ จังหวัดกระบี่ ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า "เทศบาลคลองท่อมใต้พร้อมที่จะจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 มาฉีดให้กับพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลทุกคน เมื่อคณะกรรมการอาหารและยาได้ให้การรับรองวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 และรัฐบาลอนุมัติให้เทศบาลสามารถดำเนินการได้ เตรียมงบไว้ 4 ล้านบาทแล้ว ฟรีครับ ชัดเจนนะ #อู๊ดเป็นห่วง"[2]

รวมถึงนางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ได้เปิดเผยถึงแนวคิด ในการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ ให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และมีสะดวกปลอดภัยในการกระจายวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ได้ด้วย ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมจัดซื้อวัคซีนไว้จำนวน 70 ล้านโดส ถ้าฉีดคนละ 2 โดส ก็จะสามารถฉีดให้กับประชาชนได้เพียง 35 ล้านคน เป็นจำนวนประชาชนเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งก็อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศไทยที่มีถึงกว่า 70 ล้านคน

นางจินดา กล่าวว่าจังหวัดชลบุรีที่เป็นพื้นที่สีแดง ทางรัฐบาลได้มีแนวทางจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้เป็นบางส่วน แต่ในความเป็นจริงแล้วประชาชนทุกคนต้องได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงกัน แต่ถ้าทางรัฐบาลได้มีการอนุมัติวัคซีนมาให้ท้องถิ่นได้มีการจัดซื้อวัคซีนได้เอง ทางเทศบาลนครแหลมฉบังก็มีความพร้อมที่จะสามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันมาให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรประมาณ 80,000 คน ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินต่อประชาชน 1 คนที่ต้องใช้คนละ 2 โดส โดสละ 500 บาท  ใช้งบประมาณเป็นจำนวนเงิน 80,000,000 บาท (แปดสิบล้านบาท) แจกจ่ายให้กับประชาชนตามทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

ทั้งนี้ในท้องถิ่นก็มีความพร้อมในทุกๆ ท้องถิ่น ในการที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งมองดูแล้วถ้าประชาชนได้รับวัคซีนทุกคนก็จะสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในการดำเนินชีวิตให้กับประชาชนได้ ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นความหวังของพี่น้องประชาชน ซึ่งถ้ารัฐบาลประกาศให้ทางท้องถิ่นทุกท้องถิ่นสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ทางเทศบาลนครแหลมฉบังก็พร้อมจะดำเนินการให้กับพี่น้องประชาชนได้ในเวลาเดียวกันทั้ง 80,000 คน

“ในด้านการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้นั้น ทางเทศบาลนครแหลมฉบังได้เตรียมเงินสะสมไว้จำนวน 80 ล้านบาท และวิธีดำเนินการนั้นเราไม่ต้องลงทะเบียน เพราะเรามีรายชื่อของประชากรอยู่ในมืออยู่แล้ว เราสามารถจัดระเบียบการฉีดวัคซีนในแต่ละวันได้เป็นอย่างดี เพื่อลดความแออัดและความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้มากขึ้น ถ้าทางรัฐบาลให้โอกาสท้องถิ่นได้ช่วยเหลือรัฐบาลได้ในกรณีนี้ด้วย แต่วัคซีนที่จะนำมานั้นต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย” นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบังกล่าว[3]

นอกจากนี้ยังมีนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต จ.ภูเก็ต, นายกเทศมนตรีเมืองสัตหีบ จ.ชลบุรี และนากยก อบต.บ้านใหม่ อ.มหาราช ก็ได้ออกมาระบุในทิศทางเดียวกันว่าท้องถิ่นของตนมีความพร้อมในการใช้เงินสะสมในการจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ฉีดให้ประชาชนพื้นที่[4] [5] [6]

มท.โยน กกต. วินิจฉัยว่าการนำการจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ไปหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นทำได้หรือไม่

จากการเคลื่อนไหวดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตว่าใกล้ช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นอาจเป็นการหาเสียงของผู้บริหารที่ยังอยู่ในตำแหน่งหรือไม่นั้น

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงงบประมาณจัดซื้อวัคซีนไวรัส COVID-19 ว่าจะเป็นงบของท้องถิ่นเองที่สามารถทำได้ตามอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อดูแลประชาชน แต่การดำเนินการจัดซื้อวัคซีนต้องผ่านการรับรอง อย. และจะต้องพิจารณาแผนการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนของรัฐบาลด้วยว่าต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งหากรัฐบาลสามารถดำเนินการเองได้หมดหรือจัดให้สำหรับประชาชนทั้งประเทศ ท้องถิ่นก็ไม่ต้องดำเนินการ

ขณะที่ในช่วงของการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาล ที่มีบางพื้นที่นำการจัดซื้อวัคซีนไปเป็นนโยบายหาเสียงจะทำได้หรือไม่นั้น พล.อ.อนุพงษ์ ชี้ว่าเป็นอำนาจวินิจฉัยของ กกต.แต่อยากให้มองในแง่ดีว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ดูแลประชาชนและบริหารสาธารณะ เมื่อทำตามอำนาจหน้าที่ก็ย่อมถือว่ามีเจตนาดี ทั้งนี้ดูที่เจตนา[7]

ฟากรัฐบาลยังตอบไม่ชัดเจน ทำได้ในระดับไหน

ด้านเสียงตอบรับของคนในรัฐบาลอื่น ๆ ก็มีเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 ถึงกรณีที่หลายท้องถิ่นประกาศจะจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง นายกฯ กล่าวว่าก็เป็นโอกาสที่ทำได้ ซึ่งตนเปิดโอกาสให้สามารถนำเข้าวัคซีนมาได้ หากจะใช้เงินท้องถิ่นก็ถือเป็นสิทธิ์และเป็นเรื่องของสภาท้องถิ่นจะจัดซื้อที่ไหนอย่างไรก็ว่ามา หากท้องถิ่นนำเข้ามา และผ่านมาตรฐานของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สิ่งสำคัญหลายคนตั้งความหวังกับวัคซีนมาก รัฐบาลจำเป็นต้องหาหลายช่องทาง หลากหลายประเทศ แต่ท้ายที่สุดต้องผ่านมาตรฐาน อย.[8]

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สื่อกรณีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความพร้อมในการซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดของตัวเอง ระบุว่าทางรัฐบาลมีมาตรการที่จะนำวัคซีนมาบริการกับประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว หากแต่ละท้องถิ่นมีงบประมาณและต้องการดูแลประชาชน สิ่งที่ใช้ก็ต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน โดยผ่านการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถือว่าเป็นเรื่องดีหากท้องถิ่นมีความจำนง ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยงบประมาณรัฐบาล ต้องนำรายชื่อมาตรวจคัดกรองกัน เพราะฉีดซ้ำไม่ได้อยู่แล้วเป็นการช่วยกันคนละไม้ละมือ อย่างไรก็ตามนายอนุทินระบุว่ากรณีดังกล่าวเป็นการพูดถึงหลักการทั่วไปยังไม่ได้มีการลงรายละเอียด โดยมองว่าอย่างไรก็เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน อยู่ที่ว่าจะเอาเงินมาจากส่วนไหน[9]

เป็นไปได้ยากเพราะวัคซีน COVID-19 เป็นสินค้าที่ไม่ได้จัดซื้อได้ง่าย

ทีมงาน The Glocal ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการและสื่อมวลชนที่ติดตามประเด็นท้องถิ่นและประเด็นโรคระบาด COVID-19 อย่างใกล้ชิด ระบุกับ TCIJ ว่าได้ตั้งข้อสังเกตว่าการออกมาเคลื่อนไหวนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้บริหาร อปท.ที่มาจากการเลือกตั้งในระดับเทศบาล ซึ่งอาจจะเป็นการหวังผลด้านคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลที่อาจจะมีในเร็ว ๆ นี้ ส่วนความเป็นไปได้ในการให้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีน COVID-19 เองนั้น มีความเป็นไปได้ยาก เพราะการใช้เงินสะสม ต้องอิงตามกรอบที่รัฐบาลกำหนด ถ้ารัฐบาลไม่ไฟเขียว (เหมือนถนนยางพารา) ก็เอาออกมาใช้ไม่ได้ง่าย ๆ และหากยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายวัคซีน COVID-19 ในประเทศไทย ท้องถิ่นยังมีปัญหาเรื่องวิธีปฏิบัติและวิธีการจัดซื้อกับต่างประเทศ ที่มีการมองกันว่าแม้มีอำนาจตามกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้ อำนาจจริง ๆ อยู่ที่ส่วนกลางอย่างกระทรวงมหาดไทย  

หากมองไปในระดับโลกนั้นปัจจุบัน วัคซีน COVID-19 ถือเป็นสินค้าที่ไม่ได้จัดซื้อได้ง่าย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการทำสัญญาจ่ายเงินจองคิวไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว (ปี 2563) และข้อมูล ณ ต้นเดือน ม.ค. 2564 องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีเพียง 42 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมเท่านั้น ที่ได้เริ่มหรือกำลังเตรียมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนของตนเอง โดยใน 42 ประเทศนี้ส่วนใหญ่จะใช้ของ Pfizer/BioNTech และ Moderna ส่วนวัคซีนของ Sinopharm ฉีดในจีน ยูเออี บาห์เรน และวัคซีน Sputnik V ฉีดในรัสเซีย อาร์เจนตินา จะเห็นได้ว่ายังไม่มีความหลากหลายของวัคซีน เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านการพัฒนาวัคซีนที่ยังไม่เสร็จสิ้นตามกระบวนการ, การรับรองของหน่วยงานด้านสาธารณสุขแต่ละประเทศ และข้อจำกัดเรื่องปริมาณกำลังการผลิต

“วัคซีน COVID-19 เป็นสินค้าที่ไม่ได้จัดซื้อได้ง่ายในปัจจุบัน เพราะมีความต้องการสูง และส่วนใหญ่ประเทศต่าง ๆ ในโลก รัฐบาลกลางจะเป็นผู้จัดลำดับการแจกจ่ายและฉีดวัคซีน ไม่ใช่เป็นเรื่องของท้องถิ่นพื้นที่ใดที่มีเงินมากกว่าแล้วสามารถสั่งวัคซีนมาฉีดเฉพาะคนในพื้นที่ตนก่อนเพื่อน ส่วนใหญ่หลายประเทศในโลกจะจัดลำดับความสำคัญโดยแบ่งเป็นกลุ่มประชาชนกลุ่มจำเป็นด่านหน้าอย่างคนทำงานภาคสาธารณสุขและกลุ่มเสียงมากกว่า” ทีมงาน The Glocal ระบุกับ TCIJ

หากท้องถิ่นใดมีเงินสะสมมากจัดซื้อมาฉีดได้ก่อนยิ่งเปิดแผลความเหลื่อมล้ำในประเทศ

ด้าน บรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ ในฐานะอนุกรรมาธิการและเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ได้ระบุกับทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่าต้องเข้าใจในเรื่องท้องถิ่นที่สาระของความเป็นท้องถิ่นของแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน แต่ปัญหาการระบาดของโควิดได้ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างท้องถิ่น จนเกิดความเหลื่อมล้ำสูงมาก เนื่องจากท้องถิ่นบางแห่งรายได้มาก และอีกหลายแห่งรายได้น้อย แม้หลายภาคส่วนพยายามทำให้มีรายได้เท่ากัน โดยการแบ่งปัน แต่ภาพรวมการรักษาโรคไม่ได้เกิดเฉพาะในท้องถิ่น ดังนั้นสามารถทำในภาพรวมได้ ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดซื้อวัคซีน COVID-19

อีกทั้งงบประมาณส่วนท้องถิ่นที่รัฐจัดสรรให้น้อย หากดูทั่วประเทศแล้วน้อยมาก แม้ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ กำหนดให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น โดยพยายามให้ถึง 35% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2549 แต่จนถึงปีงบประมาณปัจจุบันก็ยังจัดสรรให้ท้องถิ่นเพียง 29.5% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งน้อยมาก และการที่รัฐบาลกู้เงินนำไปใช้จ่ายเพิ่มเติม ในการแก้ปัญหาโควิดโดยตรง โดยหลักแล้วน่าจะนำเงินเหล่านี้ไปแบ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาไม่มีการคำนวณจัดสรรให้เพิ่มเติม แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง สามารถจัดบริการสาธารณะได้ แต่เมื่อ COVID-19 ระบาดไปทั่วท้องถิ่น จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้แตกต่างกัน

นอกจากนี้ในประเด็นที่เกรงกันว่าการจัดซื้อวัคซีน COVID-19 ของส่วนท้องถิ่น จะเป็นการหาเสียงเลือกตั้งนั้น ต้องยอมรับการเป็นผู้แทนประชาชน ไม่พ้นการหาเสียง ยิ่งใกล้เลือกตั้งเทศบาล จึงปฏิเสธไม่ได้ แต่วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ การมีงบอย่างเดียวและจะจัดซื้อวัคซีนทำไม่ได้ ต้องมีผู้มีความรู้ด้านการแพทย์ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีไม่เหมือนกัน บางแห่งมีและไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขการแพทย์ อีกทั้งการปฏิบัติในการจัดซื้อไม่มีระเบียบรองรับ

"หมู่บ้านหนึ่งอยู่ในอีกส่วนท้องถิ่น ห่างกันไม่ถึงร้อยเมตร กับอีกหมู่บ้านได้รับการฉีดวัคซีน แต่บางหมู่บ้านที่อยู่อีกส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ฉีด มันต่างกันมาก แม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ในการจัดหาวัคซีน แต่รายได้แตกต่างกันจึงไม่สามารถทำได้ หรือกรณีเงินเยียวยา แม้รัฐบาลแจกทุกหลังคาเรือน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถทำได้ เพราะมีอำนาจในการดูคนในพื้นที่ได้เช่นกัน" บรรณ ระบุไว้ในรายงานพิเศษของไทยรัฐออนไลน์[10]

อาจทำได้แค่สมทบเงินฉีดให้เฉพาะบางกลุ่มล้อไล่ไปกับไทม์ไลน์ของแผนการฉีดวัคซีน 3 ระยะ ไม่ได้ฉีดครอบคลุมให้คนในท้องถิ่นทีเดียว

ทีมงาน The Glocal ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าขณะนี้ ณ กลางเดือน ม.ค. 2564 เริ่มมีความชัดเจนเรื่องแผนการการฉีดวัคซีน COVID-19 ในไทยมาแล้วบ้าง เมื่อมีการเปิดเผยแผน 3 ระยะออกมาแล้ว คือ ระยะ 1 ที่วัคซีนมีจำกัด เดือน ก.พ.-เม.ย. 2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับอันดับแรก ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค COVID-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ เป็นต้น ที่คัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด (ทั้งนี้การฉีดวัคซีน ต้องเป็นไปตามความสมัครใจ โดยยกเว้นการฉีดให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรองรับ) ระยะ 2 ระยะที่วัคซีนมีมากขึ้น เดือน พ.ค.-ธ.ค. 2564 กลุ่มเป้าหมาย ยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1 แต่จะขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงพิจารณากลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศขับเคลื่อนได้ตามปกติ ระยะ 3 ปริมาณวัคซีนมีเพียงพอ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 เป็นต้นไป มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ต่อไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชน[11]

จากไทม์ไลน์ 3 ระยะนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือท้องถิ่นอาจอุดหนุนเงินให้กับการฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยง (กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว) ในท้องที่ของตน ล้อไล่ไปกับแผนการ 3 ระยะนี้ จะไม่ใช่การฉีดครอบคลุมให้ประชากรทั้งหมดในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งอาจจะเกิดคำถามตามมาว่าจะใช้เงินสมทบของท้องถิ่นทำไม ในเมื่อรัฐบาลกลางก็น่าจะมีงบประมาณส่วนนี้ให้แล้ว

“อาจจะมีการมองว่าท้องถิ่นจะนำเงินสมทบไปอุดหนุนกับแผนการของส่วนกลางที่เขามีงบประมาณอยู่แล้วทำไม ยิ่งเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ในเฟสถัดไป ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะมีวิกฤตใดตามมาอีกหรือไม่ ท้องถิ่นน่าจะควรเก็บงบประมาณส่วนนี้ไว้สำหรับเหตการณ์ฉุกเฉินในภายภาคหน้ามากกว่า ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีแนวคิดนี้ก็ต้องตอบคำถามให้ได้” ทีมงาน The Glocal ระบุกับ TCIJ

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] วัคซีนโควิด "หน่อย-สมนึก" ผนึกนครนนท์ (คมชัดลึก, 8 ม.ค. 2564)

[2] สเตตัสเฟสบุ๊คพิริยะ ศรีสุขสมวงศ์ (11 ม.ค. 2564)

[3] นครแหลมฉบัง เตรียมทุ่ม 80 ล้านซื้อวัคซีนแจก ปชช.ทุกคน หากรัฐบาลไฟเขียว (Amarin TV, 12 ม.ค. 2564)

[4] สเตตัสเฟสบุ๊ค Phuketandamannews (12 ม.ค. 2564)

[5] สเตตัสเฟส บุ๊คเทศบาลเมืองสัตหีบ (13 ม.ค. 2564)

[6] สเตตัสเฟสบุ๊ค อบต.บ้านใหม่ อำเภอมหาราช (15 ม.ค. 2564)

[7] "อนุพงษ์" โยน กกต.ชี้ขาด วัคซีน COVID-19 ใช้หาเสียงได้หรือไม่ (Thai PBS, 14 ม.ค. 2564)

[8] “ประยุทธ์” ไฟเขียวให้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดประชาชนเองแต่ต้องผ่านมาตรฐาน อย. (ผู้จัดการออนไลน์, 13 ม.ค.2564)

[9] อนุทิน ไม่ค้าน “หน่วยงานท้องถิ่น” ซื้อวัคซีนโควิดให้ประชาชนเอง (ประชาชาติธุรกิจ, 12 ม.ค. 2564)

[10] ท้องถิ่นรวย vs จน ภาพสะท้อนเหลื่อมล้ำ ซื้อวัคซีนโควิด ต่างกันราวฟ้ากับเหว (ไทยรัฐออนไลน์, 15 ม.ค. 2564)

[11] แผนฉีดวัคซีนต้านโควิด ห้ามหญิงท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปีฉีด เหตุไม่มีงานวิจัยรองรับ (ประชาชาติธุรกิจ, 17 ม.ค. 2564)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: