ปี 2564 'หมอ' ยังเป็นอาชีพในฝันของเด็กไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 8618 ครั้ง

ผลสำรวจพบ 'หมอ' เป็นอาชีพในฝันของเด็กไทยปี 2564 อาชีพ 'YouTuber-ดารา-นักร้อง' ยังมาแรง เสนอไอเดียด้านการเรียนการสอน 'ปรับหลักสูตร-ลดเวลาเรียน-ครูสอนสนุก' ด้านโพลสำรวจความเห็นผู้ใหญ่อยากให้เด็ก 'คิดวิเคราะห์ ตัดสินใจด้วยเหตุและผล-เคารพผู้อาวุโส' | ที่มาภาพประกอบ: SamitivejClub

ข้อมูลจากกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย (Adecco Group Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลอาชีพในฝันเด็กไทย Adecco Children Survey ประจำปี 2564 โดยการสำรวจความคิดเห็นเด็กไทยอายุ 7-14 ปี จำนวน 2,024 คน จากทั่วประเทศ เกี่ยวกับอาชีพในฝัน สื่อและบุคคลที่มีอิทธิพล และการศึกษาแบบที่ต้องการ โดยสรุปผลสำรวจได้ดังนี้

‘หมอ’ ยังคงเป็นอาชีพในฝันของเด็กไทย ‘YouTuber-ดารา-นักร้อง’ อาชีพมาแรงแห่งปี

ผลสำรวจอาชีพในฝันปีนี้พบว่า อาชีพที่เด็กไทยอยากเป็นมากที่สุดคือ หมอ เพราะอยากรักษาคนและช่วยเหลือผู้อื่น รองลงมาคือ ครู สำหรับอาชีพมาแรงในปีนี้ได้แก่ YouTuber และดารา นักร้อง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ โดยเด็กๆ ให้เหตุผลว่าเป็นอาชีพที่ได้มอบความบันเทิงและความสุขให้ผู้อื่น สำหรับดารา-นักร้อง นั้นเป็นอาชีพที่ไม่เคยติด Top 5 มาก่อน คาดว่าเป็นเพราะปัจจุบันมีการทำคลิปคอนเทนต์โปรโมท ดารา นักร้อง อยู่ใน YouTube มากขึ้นซึ่งเป็นสื่อหลักที่เด็กเปิดรับมากที่สุด จึงทำให้คะแนนเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ ส่วนอันดับที่ 5 ได้แก่ ตำรวจ

เด็กไทยยก ‘ศิลปิน K-POP’ และ ‘YouTuber’ เป็นไอดอล ‘BLACKPINK’ คว้าอันดับ 1 ไอดอลขวัญใจเด็กไทย

สำหรับผลโหวตไอดอลในดวงใจของเด็กไทยปีนี้พบว่า ‘BLACKPINK’ ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุด โดย BLACKPINK เป็นที่ชื่นชอบของเด็กไทยจากความสามารถที่โดดเด่นทั้งด้านการร้องและการเต้น รวมถึงหน้าตาที่สวยน่ารัก โดยสมาชิกที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดในวงคือ ลิซ่า หรือ ลลิษา มโนบาล สมาชิกคนไทยเพียงหนึ่งเดียวในวงที่นอกจากจะเต้นและแร็ปเก่งแล้วยังได้รับคำชมด้านความอดทน ความพยายาม และความกตัญญูอีกด้วย ส่วน เก๋ไก๋ สไลเดอร์ YouTuber ที่มียอดผู้ติดตามสูงสุดในประเทศไทยและเป็นแชมป์เก่าในปีที่แล้ว ปีนี้อยู่ในอันดับที่ 2 อันดับที่ 3 ได้แก่ ‘BTS’ วงบอยแบนด์เกาหลีที่เพิ่งพาเพลงครองแชมป์ Billboard ได้สำเร็จ โดยเด็กๆ ระบุว่าวง BTS เป็นแรงบันดาลใจทำให้มีกำลังใจในการเรียนมากขึ้น อันดับที่ 4 ได้แก่ แป้ง ZbingZ นักแคสเกมและ YouTuber ชื่อดังที่ติดโพลล์มา 4 ปีซ้อน และอันดับ 5 ได้แก่ เนม MNJTV นักแคสเกม Free Fire ที่มาแรงติดโพลล์เป็นครั้งแรก

เด็กไทยชอบใช้เทคโนโลยีทั้งเรียนและเล่น - YouTube ครองแชมป์สื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็ก

ผลสำรวจ Adecco Children Survey ประจำปี 2564 พบว่าเด็กไทยชอบเทคโนโลยี โดยเมื่อต้องหาความรู้นอกตำราก็มักจะค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ตผ่านการเสิร์ช Google และดู YouTube ในยามว่างก็จะใช้เทคโนโลยีในการเล่นเกม ดู YouTube เล่นโซเชียลมีเดีย โดยสื่อโซเชียลที่เข้าถึงเด็กไทยอายุ 7-14 ปีมากที่สุด ได้แก่ YouTube 94% Facebook 80% Line 74% TikTok 73% Instagram 50% Twitter 26% ซึ่ง YouTube เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งทุกปีที่มีการสำรวจ ขณะที่ TikTok ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มมาแรงที่เด็กๆ ชื่นชอบ โดยได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อถามถึงการเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19 ระบาดพบว่าเด็กไทย 96% ได้เรียนออนไลน์ ขณะที่อีก 4% ไม่ได้เรียนออนไลน์เพราะขาดอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต โดย 52% ระบุว่าพวกเขาชอบเรียนออนไลน์เพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องตื่นเช้า สามารถเรียนจากที่ไหนก็ได้ เมื่อไม่เข้าใจตรงไหนก็วนกลับมาดูซ้ำได้ และยังช่วยให้ปลอดภัยจากโรคระบาด ขณะที่อีก 46% ระบุว่าไม่ชอบเรียนออนไลน์เพราะรู้สึกว่าเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจก็ไม่สามารถถามได้ ไม่มีกิจกรรม ไม่ได้เจอเพื่อน จึงทำให้รู้สึกเบื่อ และบางคนยังประสบปัญหาจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรอีกด้วย

เสนอไอเดียด้านการเรียนการสอน 'ปรับหลักสูตร-ลดเวลาเรียน-ครูสอนสนุก'

จากผลสำรวจเด็กไทยอายุ 7-14 ปีพบว่า เด็กๆ มีการแสดงความเห็นที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น ส่วนใหญ่มองว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการในด้านการเรียน คือการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัยและเท่าทันกับบริบทของสังคมและโลกที่เปลี่ยนไป พัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลายเหมาะกับความชอบและความถนัดของเด็กแต่ละคน และเปลี่ยนมาเรียนผ่านกิจกรรม หรือการทัศนศึกษาให้มากขึ้น แทนที่จะเรียนแต่ในห้องเรียนอย่างเดียว นอกจากนี้เด็กไทยยังหวังที่จะเรียนอย่างมีความสุข โดยเสนอให้ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่น เสริมด้วยกิจกรรมต่างๆ พัฒนาคุณภาพครูให้สอนเก่งและสนุกขึ้น โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้การเรียนการสอน เช่น การใช้เกม (Gamification) หรือการใช้อุปกรณ์แสดงภาพเสมือนจริง (AR/VR) อีกทั้งยังอยากให้ครูมีความใส่ใจ เข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกาย จิตใจ หรือพัฒนาการในการเรียนที่ช้าเร็วไม่เท่ากัน เพื่อปรับการเรียนสอนให้เหมาะสม [1]

วันเด็กแห่งชาติ 2564 อยากได้ของเล่น ทุนการศึกษา ขอ COVID-19 หายไป

ด้านนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน หัวข้อ “วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2564” โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 5,819 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค มีผลสรุปดังนี้ เด็ก เยาวชน และประชาชน ร้อยละ 82.08 ทราบว่า วันเสาร์ที่สองของเดือน ม.ค. เป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งปี 2564 ตรงกับวันเสาร์ที่ 9 ม.ค. 2564 และเด็ก เยาวชน และประชาชน ร้อยละ 67.38 ทราบคำขวัญวันเด็ก ประจำปี 2564 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม” และร้อยละ 32.62 ไม่ทราบ

อันดับ 1 ร้อยละ 80.05 เข้าใจความหมายของ “เด็กไทยวิถีใหม่” หมายถึง เด็กไทยในยุคปัจจุบันถือเป็นเด็กไทยวิถีใหม่ ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การศึกษาเล่าเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคแห่งการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด ซึ่งเด็กไทยจะต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อเผชิญหน้าเรียนรู้ และรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้

อันดับ 2 ร้อยละ 58.24 เข้าใจความหมายของ “รวมไทยสร้างชาติ” หมายถึง การรวมพลังของทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าประเทศไทย เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้า ให้ตระหนักถึงความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ

อันดับ 3 ร้อยละ 52.64 เข้าใจความหมายของ “มีคุณธรรม” หมายถึง คาดหวังให้เด็กในวันนี้เป็นคนดีของสังคม มีคุณธรรมจริยธรรม โดยเด็กไทยในยุคสมัยใหม่ เน้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านจิตใจ และอารมณ์ และอันดับ 4 ร้อยละ 47.13 เข้าใจความหมายของ “ด้วยภักดี” หมายถึง ความรักในสถาบันหลักของชาติประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปลูกฝังให้เกิดการเรียนรู้และไม่ลืมรากเหง้าของประวัติศาสตร์ความเป็นไทย

ขณะเดียวกันผลสำรวจพบด้วยว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.56 ทราบหน้าที่ของเด็กดี ที่กล่าวว่า “นับถือศาสนา รักษาธรรมเนียมประเพณีไทย เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ วาจาสุภาพอ่อนโยน ยึดมั่นกตัญญู รักการงานการเรียน ศึกษาหาความรู้ให้เชี่ยวชาญ มานะ อดทน ไม่เกียจคร้าน ประหยัด อดออม ซื่อสัตย์สุจริต มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย กล้าหาญ บำเพ็ญคุณประโยชน์ รู้บาปบุญ คุณโทษ รักษาสมบัติของชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 17.76 ไม่ทราบ และร้อยละ 2.68 ไม่แน่ใจ

เมื่อสอบถามวันเด็กปีนี้อยากได้อะไรเป็นของขวัญมากที่สุดพบว่า อยากได้ของเล่น อาทิ ตุ๊กตา หุ่นยนต์ รถหรือเรือบังคับ โมเดล โทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกม และเงิน /ทุนการศึกษา อีกทั้งขอให้โควิด-19 หายไปจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด และความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง นอกจากนี้ ส่วนการจัดงานวันเด็กในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.18 ไม่ต้องการให้จัดกิจกรรมงานวันเด็ก รองลงมาคือ ร้อยละ 19.68 ต้องการให้จัด และร้อยละ 3.14 แล้วแต่สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่าต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลับเข้าสู่สภาวะปกติก่อนค่อยกำหนดวันจัดกิจกรรมงานวันเด็กอีกครั้ง โดยในปีนี้ควรงดจัดงานไปก่อน หากสถานการณ์ดีขึ้นค่อยจัดกิจกรรมงานวันเด็กในปี พ.ศ. 2565

อย่างไรก็ตาม หากจัดกิจกรรมงานวันเด็ก ผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอแนะควรจัดงานวันเด็กแห่งชาติรูปแบบออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์ยุค New Normal โดยให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมในการตอบคำถาม ปัญหาและการเล่นเกม ผ่านระบบออนไลน์ และลงทะเบียนรับรางวัล อีกทั้งควรเพิ่มการป้องกันตามมาตรการการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัย และการให้บริการเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือบ่อยๆ จัดให้มีจุดคัดกรองอุณหภูมิ การเว้นระยะห่าง และจำกัดคนเข้าร่วมงานไม่ให้แออัดจนเกินไป

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามระบุข้อเสนอแนะหากจัดกิจกรรมงานวันเด็ก ควรเปิดเวทีหรือลานพื้นที่กิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นแสดงความสามารถที่ตนเองถนัด เช่น การแสดงดนตรี การวาดภาพ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม และการละเล่นต่างๆ และกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัว พ่อ แม่ เด็กและเยาวชน หรือผู้ปกครองต้องการให้มีกิจกรรมกีฬาเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและสร้างความสามัคคี รวมทั้งกิจกรรมสร้างสรรค์ทางวิชาการ เช่น เกมตอบปัญหา หรือเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะความรู้ การวาดภาพระบายสี สิ่งประดิษฐ์ พร้อมกันนี้ผู้ตอบแบบสอบถามมีเสนอแนะให้จัดกิจกรรมวันเด็กในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน ศาลากลางจังหวัด เทศบาล อำเภอ สวนสาธารณะ สนามกีฬา สนามบิน ค่ายทหาร สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง กองทัพเรือ กองทัพบก กองทัพอากาศ และเสนอแนะด้วยว่าเจ้าภาพจัดกิจกรรมวันเด็กควรเป็นนายกรัฐมนตรี/รัฐบาล ผู้อำนวยการโรงเรียน/คุณครู กระทรวงศึกษาการ และผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ [2]

โพลสำรวจความเห็นผู้ใหญ่อยากให้เด็ก 'คิดวิเคราะห์ ตัดสินใจด้วยเหตุและผล-เคารพผู้อาวุโส'

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อเด็กไทย ณ วันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1,377 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 4-8 ม.ค. 2564 สรุปผลได้ ดังนี้

1. “เด็กไทย ณ วันนี้” ในสายตาประชาชน
อันดับ 1 มีความมั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเองสูง 36.35%
อันดับ 2 ฉลาด เรียนรู้เร็ว มีความคิดสร้างสรรค์ ทันโลก 30.13%
อันดับ 3 ขาดความอ่อนน้อม ไม่เคารพผู้ใหญ่ 29.56%
อันดับ 4 มีทักษะด้านภาษาและเทคโนโลยี 12.87%
อันดับ 5 ใช้จ่ายเกินตัว ติดเกม ติดมือถือ 11.60%

2. “จุดเด่น” ของเด็กไทย ณ วันนี้ คือ
อันดับ 1 เก่งเทคโนโลยี 80.64%
อันดับ 2 ใช้สื่อโซเชียลได้คล่องแคล่ว 78.24%
อันดับ 3 กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น 69.72%
อันดับ 4 มีอิสระทางความคิด มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ 62.74%
อันดับ 5 มีความเป็นตัวเองสูง เป็นตัวของตัวเอง 53.78%

3. สิ่งที่เด็กไทย ณ วันนี้ ควรพัฒนาเพิ่มเติม
อันดับ 1 การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจด้วยเหตุและผล 66.52%
อันดับ 2 เคารพผู้อาวุโส 64.32%
อันดับ 3 มีระเบียบวินัย 61.09%
อันดับ 4 มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 56.53%
อันดับ 5 ทักษะการเข้าสังคม 45.89%

4. สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา “เด็กไทย ณ วันนี้”
อันดับ 1 การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง 72.19%
อันดับ 2 สภาพสังคมและสภาพแวดล้อมรอบตัว 66.81%
อันดับ 3 ระบบการศึกษาของไทย 60.64%
อันดับ 4 ครู อาจารย์ 54.32%
อันดับ 5 เพื่อน 52.94%

5. สิ่งที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ “เด็กไทย ณ วันนี้” คือ
อันดับ 1 ต้องดูแลระมัดระวังเรื่องสุขภาพของเด็กมากขึ้น 71.24%
อันดับ 2 ต้องปรับการเรียนเป็นแบบออนไลน์ 66.57%
อันดับ 3 กระทบด้านจิตใจ เครียด กังวล 60.22%
อันดับ 4 มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อแมส เจลล้างมือ ฯลฯ 52.48%
อันดับ 5 ลดการพาบุตรหลานไปในที่ที่มีคนพลุกพล่าน 51.61%

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่าประชาชนมองว่าเด็กไทยมีความมั่นใจ เชื่อมั่นในตัวเองสูง ร้อยละ 36.35 จุดเด่น คือ เก่งเทคโนโลยี ร้อยละ 80.64 อยากให้เด็กพัฒนาด้านการคิดวิเคราะห์ ร้อยละ 66.52 อยากให้เคารพผู้อาวุโส 64.32 และสิ่งที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กไทย คือ การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ร้อยละ 72.19 โดยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องดูแลเรื่องสุขภาพของเด็กมากขึ้น ร้อยละ 71.24

จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่า ผู้ใหญ่นั้นมองว่าเด็กไทยมีความมั่นใจในตัวเอง ฉลาด เรียนรู้เร็ว เก่งเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และอยากให้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลให้มากขึ้น

ทั้งนี้ โควิด-19 ก็ทำให้การดำเนินชีวิตของเด็กได้รับผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน การใช้ชีวิต ครอบครัว รวมถึงสภาพจิตใจด้วย ดังนั้นภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะจัดเตรียมมาตรการเยียวยากลุ่มประชาชนทั่วไปแล้ว ก็ยังต้องหันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กด้วยเช่นกัน [3]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] Adecco เปิดผลสำรวจวันเด็กปี 64 ‘หมอ’ ยังคงเป็นอาชีพในฝัน - ‘BLACKPINK’ ไอดอลขวัญใจเด็กไทย (Adecco Group Thailand, 4 ม.ค. 2564)
[2] วธ. เผยผลโพลวันเด็กแห่งชาติ 2564 อยากได้ของเล่น ทุนการศึกษา ขอโควิดหายไป (ไทยรัฐออนไลน์, 9 ม.ค. 2564)
[3] โพลระบุประชาชนมองเด็กไทยเชื่อมั่นในตัวเองสูง 36.35% เก่งเทคโนโลยี 80.64% (ประชาไท, 9 ม.ค. 2564)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ผลสำรวจวันเด็ก 2563 พบ 'หมอ' อันดับ 1 อาชีพในฝัน 'ยูทูปเบอร์' อาชีพมาแรงแห่งปี
ผ่านมา 60 ปี ‘หมอ-ครู-ทหาร-ตำรวจ’ ยังเป็นอาชีพในฝันของเด็กไทย

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: