จัดตั้ง Soil Bank เก็บข้อมูลรายละเอียดของตัวอย่างชุดดินกว่า 300 ชุด

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ส.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1835 ครั้ง

จัดตั้ง Soil Bank เก็บข้อมูลรายละเอียดของตัวอย่างชุดดินกว่า 300 ชุด

กรมพัฒนาที่ดิน จัดตั้ง Soil Bank เก็บข้อมูลรายละเอียดของตัวอย่างชุดดินกว่า 300 ชุด สนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อประโยชน์ด้านวางแผนการใช้ที่ดินและการจัดการดินของประเทศไทย

เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่านางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีภารกิจหลักสำคัญในการศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และจำแนกประเภทดิน เพื่อกำหนดนโยบายและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งการจัดตั้ง Soil Bank หรือ ธนาคารดิน เพื่อเป็นแหล่งจัดเก็บ รวบรวม ข้อมูลวิชาการ และตัวอย่างชุดดินของประเทศไทยที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคมารวมไว้แห่งเดียวกัน ให้ผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ ข้อมูลทรัพยากรดินของประเทศในรูปแบบใหม่ที่มีความน่าสนใจ ก่อให้เกิดความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องเกี่ยวกับทรัพยากรดิน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรดินและน้ำตลอดจนพัฒนาการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ปัจจัยสภาพแวดล้อมในแต่ละภูมิภาค จะเป็นตัวควบคุมทำให้ทรัพยากรดินของประเทศไทยมีลักษณะและสมบัติดินเฉพาะตัวที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของปัจจัยการกำเนิดดินที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และเมื่อปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยนไป ดินจะมีลักษณะและสมบัติเปลี่ยนแปลงไปด้วย

Soil Bank หรือ ธนาคารดิน ได้จัดแสดงตัวอย่างชุดดินที่พบในประเทศไทยมากกว่า 300 ชุดดิน ผู้เข้าชมจะได้ศึกษา เรียนรู้ ลักษณะทางกายภาพของดินที่มีความหลากหลาย โดยนำมาจัดวางในลักษณะที่สวยงาม ดึงดูดให้เกิดความน่าสนใจ อาทิ ดินแต่ละสีมีความอุดมสมบูรณ์อย่างไร มีแร่ธาตุอาหารอะไรบ้าง เป็นต้น สัมผัสลักษณะทางกายภาพดินแต่ละชนิดมีความหยาบ ละเอียดหรือร่วนซุยเพียงใด ชั้นดินแต่ละชั้นแต่ละชุดดินมีความแตกต่างกันอย่างไร สามารถมาหาคำตอบได้ที่ธนาคารดินแห่งนี้

สำหรับ Soil Bank ตั้งอยู่ที่กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าศึกษาเยี่ยมชมได้ในวันและเวลาราชการ เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยสามารถติดต่อได้ล่วงหน้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่และนักสำรวจดินที่มีประสบการณ์โดยตรงเป็นวิทยากรนำชมพร้อมให้ความรู้เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: