ลดก๊าซเรือนกระจก การยางแห่งประเทศไทยนำร่อง 20,000 ไร่ สร้างต้นแบบการจัดการคาร์บอน

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2454 ครั้ง

ลดก๊าซเรือนกระจก การยางแห่งประเทศไทยนำร่อง 20,000 ไร่ สร้างต้นแบบการจัดการคาร์บอน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการยางแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา หรือโครงการลดปริมาณการปล่อย หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำไปซื้อขายได้ นำสวนยางพารานำร่องจำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อนำข้อมูล ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางและผู้ที่สนใจทั่วไป

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2564 ว่านายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรทั้งในเรื่องของการเพาะปลูก ผลผลิต จนส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร ประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุมทั่วประเทศได้รับผลดังกล่าวเช่นกัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการยางแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการ บริหารจัดการ คาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา หรือโครงการลดปริมาณการปล่อย หรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและสามารถนำไปซื้อขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางอีกทางหนึ่งของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับนโยบายดังกล่าวไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ต่อไป

ด้ายนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ บริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา จะนำสวนยางพารานำร่องจำนวน 20,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อนำข้อมูล ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดสู่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางและผู้ที่สนใจทั่วไป

โดยมีการดำเนินงาน 2 ขั้นตอนคือ ในปี 2565 และจะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และในปี 2566-2567 ดำเนินการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาด ซึ่งจากการวิจัยในเรื่องคาร์บอนเครดิตพบว่า ยางพาราเป็นไม้ยืนต้นที่มีการกักเก็บคาร์บอนได้ดี สามารถเก็บได้ตั้งแต่อายุต้นยาง 1–18 ปี โดยเฉพาะในช่วง 1-5 ปีแรกก่อนเปิดกรีด เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ ควบคู่กับการลดใช้ปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตต่างๆ พร้อมตั้งเป้าหมาย ขยายพื้นที่การดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: