เผยกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน กศน. มีช่วงอายุน้อยลงที่ 16-19 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ต.ค. 2564 | อ่านแล้ว 3543 ครั้ง

เผยกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน กศน. มีช่วงอายุน้อยลงที่ 16-19 ปี

ประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เผยปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน กศน. มีช่วงอายุน้อยลงที่อายุ 16-19 ปี จึงจำเป็นที่ควรมีการศึกษาข้อมูลประชากรเพิ่มเติมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับช่วงอายุต่าง ๆ ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อออกแบบการจัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องจำนวนผู้เรียน | ที่มาภาพประกอบ: สำนักงาน กศน.จังหวัดสุพรรณบุรี

เว็บไซต์ ศธ.360 องศา รายงานว่าเมื่อช่วงวันที่ 27-28 ก.ย. 2564 นายภูมิพัทธ เรืองแหล่ รองเลขาธิการ กศน. เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดโดยกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา สำนักงาน กศน. เพื่อเปิดเวทีระดมสมองเกี่ยวกับภาพอนาคตของการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในประเด็นหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมรรถนะของผู้เรียน โครงสร้างหลักสูตร เนื้อหา ระยะเวลาเรียน การจัดการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ สื่อประกอบการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียน และการจบหลักสูตรการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)

โดยมีนายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร, นายคมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา, นางศุทธินี งามเขต ที่ปรึกษาด้านหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, รศ.วิกร ตัณฑวุฑโฒ ผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นางสาวพรทิพย์ อึ้งสมรรถโกษา คณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุนและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย, นายนรา เหล่าวิชยา อดีตศึกษาธิการภาค 17, รศ.ชนกนารถ บุญวัฒนะกุล ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาต่าง ๆ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิ ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 สำนักงาน กศน.

นายภูมิพัทธ เรืองแหล่ รองเลขาธิการ กศน. กล่าวตอนหนึ่งว่า การรับฟังความคิดเห็น มุมมอง ภาพอนาคตการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และความคิดเห็น มุมมอง เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร จากผู้ทรงคุณวุฒิในภาคส่วนต่าง ๆ ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนสำหรับการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา ปรับปรุงการเรียนการสอนของผู้เรียน กศน. เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย ตอบโจทย์สังคมและโลก ให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ โดยข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มีการศึกษาและยกร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ กศน.ในครั้งนี้ ในภาพรวมนับว่ามีความครอบคลุม ถือว่าเดินมาถูกทาง ให้เดินหน้าการพัฒนาหลักสูตรต่อไป เพื่อให้การจัดการศึกษาสามารถพัฒนาประชาชนได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมประเทศและสังคมโลก

อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนจาก “หลักสูตรมาตรฐาน” เป็น “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ต้องกำหนดเป้าหมาย มุ่งไปที่สมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ ว่าจะต้องทำอะไรได้ เน้นทักษะ และยึดความสามารถของผู้เรียนที่พึงปฏิบัติได้เป็นหลักให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ อาจมีการปรับวิธีการโดยการกำหนดสถานการณ์ นำมาปรับเป็นการสอน และปฏิบัติจริง วิธีการเรียนการสอนแตกต่างกัน ซึ่งสามารถออกแบบบริหารจัดการเองได้ จึงจะได้ผลลัพธ์เป็นสมรรถนะที่ควรจะเป็นของ กศน.

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของการพัฒนาหลักสูตร ประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายด้วย คือใคร ต้องการอะไร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ มีปัญหาเรื่องอะไร ต้องตอบโจทย์เหล่านั้นด้วย รวมทั้งการระดมความคิดเห็นจากผู้สำเร็จในด้านอาชีพต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน การพัฒนาหลักสูตร กศน.ต้องดูหลักสูตรของหน่วยงานอื่น เพราะต้องเทียบเคียงกัน

จากสถิติข้อมูลที่รายงานพบว่า ในปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายผู้เรียน กศน. นั้นมีช่วงอายุน้อยลง คือ อายุ 16-19 ปี จึงจำเป็นที่ควรมีการศึกษาข้อมูลประชากรเพิ่มเติมจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เกี่ยวกับช่วงอายุต่าง ๆ ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย จึงจะสามารถออกแบบการจัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องจำนวนผู้เรียน ตามดัชนี 3 ตัวของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (ระบบนิเวศของการจัดการเรียนรู้ , การเรียนรู้ของบุคคล, ดัชนีการเรียนรู้) และข้อมูลการออกกลางคันของนักเรียนในระบบ เป็นต้น สำหรับข้อเสนอแนะจากเวทีความคิดเห็นในครั้งนี้ ทางคณะทำงานจะนำไปปรับปรุงให้มีความครอบคลุมในการพัฒนาหลักสูตรมากขึ้น

รศ.วิกร ตัณฑวุฑโฒ ผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขอชื่นชมคณะทำงานฯ ที่ได้มีการศึกษาและเรียบเรียงข้อมูลต่างๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งการจัดทำหลักสูตรในครั้งนี้ ต้องมีการศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายใหม่และกฎหมายเดิม ต้องสามารถเทียบเคียงกับหลักสูตรพื้นฐานได้ ต้องมีมาตรฐาน แต่สามารถยืดหยุ่นได้ และการแนะแนวนั้น ไม่ใช่เป็นการแนะแนวแค่การเรียนตามหลักสูตร ควรสามารถแนะแนวต่อการประกอบอาชีพได้ การวัดและประเมินผล ต้องสามารถวัดและประเมินผลสมรรถนะได้ และต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อมต่อการพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้

รศ.ดร.ชนกนารถ บุญวัฒนะกุล ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ต้องสามารถแยกได้ว่าผู้เรียนจะมีสมรรถนะอะไรที่เหมือนกันและต่างกัน ต้องมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย เพราะเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายมีความหลากหลาย การจัดทำหลักสูตรต้องสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายได้ ควรวิเคราะห์ว่าการจัดศึกษาของ กศน. นั้นมีอะไรที่เป็นจุดเด่นและต้องมีการพิจารณาว่าสมรรถนะใดที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

นางสาวพรทิพย์ อึ้งสมรรถโกษา คณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และตัวแทนจากภาคเอกชน กล่าวว่า การยกร่างกรอบหลักสูตรฐานสมรรถนะ กศน. นี้ ถือว่ามีความครอบคลุมและชัดเจน แต่ในส่วนของรายละเอียด อยากให้มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลดลงของจำนวนผู้เรียน เพราะอาจจะส่งผลต่อการพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เก็บจากการตกหล่นจากในระบบอย่างเดียว เราต้องรู้ว่าใครคือลูกค้า ลูกค้าต้องการอะไร และ กศน.จะตอบสนองลูกค้าอย่างไร การพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ จึงต้องให้ผู้เรียนมีจุดหมายใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องมีความยืดหยุ่น ลดกรอบ ลดเกณฑ์ การจัดการเรียนรู้ก็ต้องไม่ใช่จัดการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว การกำหนดสมรรถนะ มีมุ่งความมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิตเป็น ต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทความเป็นครู ให้อยู่ในรูปแบบ Coaching ให้กับผู้เรียน และต้องมีพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง สำนักงาน กศน. ต้องมีแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้พร้อมต่อการพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ รวมถึงสนับสนุนทรัพยากรต่าง ๆให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้

นางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า กศน.ได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 นับเป็นเวลามากว่า 12 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการพัฒนา ปรับปรุงหลักสูตรหลักสูตรขั้นพื้นฐานของ กศน. ใหม่ ซึ่งได้เริ่มมาระยะหนึ่งและได้ยกร่างสมรรถนะของผู้เรียนการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็น 4 สมรรถนะ ประกอบด้วย การคิดเป็น การจัดการตนเอง การสื่อสารและความเป็นพลเมือง ทั้ง 4 สมรรถนะนี้ เป็นร่างสมรรถนะที่ กศน.ยังต้องรับฟังความคิดเห็นของบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เพราะผู้เรียน กศน. มีหลายกลุ่ม เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ทหารกองประจำการ ผู้พิการ เด็กชาวเขา ชาวเล เป็นต้น ดังนั้น จะต้องมีการทบทวนตรวจสอบในวงกว้าง รวมทั้งการรวบรวมสาระสำคัญต่างๆที่จะนำมาเป็นข้อมูลในการยกร่างกรอบหลักสูตรในประเด็นต่าง ๆ ต่อไป เพื่อให้เป็นหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้บริการ ให้สามารถต่อยอดการพัฒนาตนเอง การพัฒนาชีวิต การทำงาน และการประกอบอาชีพได้เต็มตามศักยภาพ ตามความถนัด และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของประเทศและโลก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: