1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นเหยื่อความรุนแรง

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 มิ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 2753 ครั้ง

1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นเหยื่อความรุนแรง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ผู้หญิงทั่วโลกเกือบ 1 ใน 3 เคยถูกใช้ความรุนแรงทางกายหรือทางเพศในช่วงชีวิต และพฤติกรรมรุนแรงเช่นนี้ยิ่งพบมากขึ้นช่วง COVID-19 ระบาด

ช่วงปลายเดือน พ.ค. 2021 SBS รายงานว่าองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รายงานว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงมีประสบการณ์ถูกใช้ความรุนแรงทางกายหรือถูกข่มเหงทางเพศ ซึ่งการระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้ปัญหานี้ยิ่งร้าวลึกขึ้น

รายงานฉบับดังกล่าวพบว่า ราวร้อยละ 30 ของผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือประมาณ 736 ล้านคน เคยเผชิญความรุนแรงลักษณะนี้ในช่วงชีวิต ส่วนใหญ่จากน้ำมือของคู่ครองหรือคนรัก

“ความรุนแรงต่อสตรีพบในทุกประเทศทุกวัฒนธรรม ทำร้ายผู้หญิงหลายล้านคนรวมถึงครอบครัวของพวกเธอ” ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุในถ้อยแถลง พร้อมทั้งเสริมว่าปัญหานี้ “ยิ่งทรุดหนักจากภาวะโรคระบาดโควิด-19”

ดร.คลอเดีย การ์เซีย-โมรีโน (Claudia Garcia-Moreno) ผู้เขียนร่วมของรายงาน ยอมรับว่าผู้เชี่ยวชาญยังรอข้อมูลฉบับสมบูรณ์ที่แสดงให้เห็นผลกระทบของโรคระบาด แต่ชัดเจนว่าวิกฤตทางสาธารณสุขครั้งนี้ส่งผลเชิงลบ

“เราทราบว่าสำหรับผู้หญิงหลายคน สถานการณ์อาจย่ำแย่ลง” ดร. การ์เซีย-โมรีโน กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี

ขณะเดียวกัน แรงกดดันและความเครียดจากการอยู่บ้านกับบุตรหลานตลอดจนปัญหาท้าทายอื่น ๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงให้การข่มเหงทารุณปะทุขึ้นใหม่อีกด้วย

“ผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงถูกกักขังอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น... ฉับพลันทันใดพวกเธอก็กลับโดดเดี่ยวกว่าเดิม และต้องเผชิญหน้ากับคู่ครองที่ใช้ความรุนแรงอยู่ตลอด”

‘สูงเกินยอมรับ’

รายงานฉบับดังกล่าวใช้ข้อมูลจากทั่วโลกช่วงปี 2000-2018

ดร.การ์เซีย-โมรีโน กล่าวว่าเป็นที่ชัดเจนว่า “อัตรา[การใช้ความรุนแรง]สูงเกินยอมรับได้ และต้องมีการดำเนินการโดยเร่งด่วน”

การข่มเหงทารุณโดยคู่ครองคือรูปแบบความรุนแรงต่อสตรีที่พบมากที่สุดทั่วโลก ส่งผลต่อร้อยละ 26 ของผู้หญิงและวัยรุ่นอายุ 15 ปีขึ้นไป

ผู้หญิงร้อยละ 6 เคยถูกประทุษร้ายทางเพศโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สามีหรือคู่ครอง

รายงานยังระบุด้วยว่า การตีตราทางสังคมในประเด็นนี้อาจหมายความว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก

ผลการศึกษาที่น่ากังวลข้อหนึ่งคือ ความรุนแรงที่กระทำโดยคู่ครองมักเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต เกือบ 1 ใน 4 ของวัยรุนหญิงอายุ 15-19 ปีที่เคยอยู่ในความสัมพันธ์เคยถูกแฟนหนุ่มใช้ความรุนแรงทางกายหรือทางเพศ

“น่าหวั่นใจอย่างยิ่งที่ความรุนแรงซึ่งผู้ชายกระทำต่อผู้หญิงนั้น นอกจากไม่ลดน้อยลงแล้วยังปรากฏในรูปแบบเลวร้ายที่สุดต่อหญิงสาวอายุ 15-24 ปีที่อาจเป็นแม่วัยรุ่นด้วย นั่นคือสถานการณ์ก่อนคำสั่งห้ามออกจากบ้านช่วงโรคระบาด เราทราบว่าผลกระทบมากมายจากโควิด-19 ก่อให้เกิด ‘โรคระบาดเงา’ หรือก็คือจำนวนรายงานความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น” นาง Phumzile Mlambo-Ngcuka ผู้อำนวยการบริหารองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) กล่าว

“ทุกรัฐบาลควรดำเนินการอย่างเข้มแข็งในเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมด้วย”

ดร.การ์เซีย-โมรีโน กล่าวว่า แม้ระดับความรุนแรงต่อสตรีจะ “สูงเกินยอมรับไม่ว่าที่ใดก็ตาม” แต่ยังคงมีความแตกต่างชัดเจนระหว่างภูมิภาค

โดยทั่วไป ประเทศยากจนเผชิญระดับความรุนแรงสูงกว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่า รายงานระบุว่าภูมิภาคโอเชียเนียมีอัตราสูงที่สุด โดยผู้หญิงอายุ 15-49 ปีสูงสุดถึงร้อยละ 51 มีประสบการณ์ความรุนแรงจากคู่ครองในช่วงชีวิต

ความรุนแรงเช่นนี้พบในระดับสูงเช่นกันในเอเชียใต้และแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ขณะที่ยุโรปใต้มีอัตราต่ำสุดที่ร้อยละ 16

“นี่อาจสะท้อนให้เห็นบางส่วนของความสามารถของผู้หญิงในการออกจากความสัมพันธ์รุนแรง ระดับการเข้าถึงบริหารและความคุ้มครองทางกฎหมาย” ดร.การ์เซีย-โมรีโนกล่าว

ด้าน ดร.ทีโดรส ย้ำความจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อรับมือปัญหานี้ โดยกล่าวว่า “ความรุนแรงต่อสตรีต่างจากโควิด-19 ตรงที่หยุดยั้งด้วยวัคซีนไม่ได้” หากแต่รัฐบาลและชุมชนต้องพยายาม “ปรับเปลี่ยนทัศนคติอันตราย ปรับปรุงการเข้าถึงโอกาสและบริการสำหรับสตรีและเด็กหญิง รวมถึงบ่มเพาะความสัมพันธ์ที่ดี ที่เคารพซึ่งกันและกัน”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: