Facebook Papers เจาะลึกกิจการโซเชียลมีเดีย กับคำถามหลายมิติที่มากกว่าเป้ากำไร

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 พ.ย. 2564 | อ่านแล้ว 1591 ครั้ง

Facebook Papers เจาะลึกกิจการโซเชียลมีเดีย กับคำถามหลายมิติที่มากกว่าเป้ากำไร

VOA รายงานว่า Facebook Papers ซึ่งเป็นเอกสารหลายพันหน้าเกี่ยวกับการทำธุรกิจของสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้ถูกรวบรวมจากคนภายในองค์กรและสื่อต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้ชี้ถึงความขัดแย้งในบริษัทเและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อการใช้งานของเฟสบุ๊คซึ่งมีผู้ใช้ราวสามพันล้านคนทั่วโลก

ช่วงปลายเดือน ต.ค. 2021 VOA รายงานว่า Facebook Papers ซึ่งเป็นเอกสารหลายพันหน้าเกี่ยวกับการทำธุรกิจของสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้ถูกรวบรวมจากคนภายในองค์กรและสื่อต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้ชี้ถึงความขัดแย้งในบริษัทเและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อการใช้งานของเฟสบุ๊คซึ่งมีผู้ใช้ราวสามพันล้านคนทั่วโลก

เอกสารดังกล่าวยังระบุว่าเฟสบุ๊คละเลยการแก้ปัญหาข้างต้น แม้นักวิจัยและพนักงานหลายคนได้รายงานผู้บริหารระดับสูงถึงอันตรายที่เกิดขึ้นก็ตาม

อาจารย์นิเทศศาสตร์จาก Syracuse University เจนนิเฟอร์​ กรายเจล ซึ่งศึกษาเฟสบุ๊คมาหลายปีบอกกับสำนักข่าว AP ว่า แท้จริงแล้ว อำนาจการตัดสินใจการแก้ปัญหาต่างๆ ขึ้นอยู่ที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กต้องการให้บริษัทของเขาเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะสามารถขยายอำนาจและการเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น

Facebook Papers ระบุต่อไปว่า เอกสารภายในองค์กรเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า คนหนุ่มสาวใช้งานเฟสบุ๊คน้อยกว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุ เนื่องจากพวกเขามองว่าเฟสบุ๊คมีเนื้อหาที่ “ไม่น่าสนใจ” และเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ “ไม่ทันสมัย” อีกต่อไป กลุ่มผู้ใช้เหล่ากลับหันไปเล่นแอปพลิเคชั่นอื่นๆ เช่น TikTok หรือ Snapchat มากกว่าเฟสบุ๊ค

อย่างไรก็ตามเฟสบุ๊คได้ออกมาโต้กลับว่าแอปพลิเคชั่นของตนนั้นยังเป็นที่สนใจในหมู่วัยรุ่นอยู่ แต่ก็ยอมรับว่ามีการแข่งขันกับแอปพลิเคชั่นต่างๆ สูง

ด้วยเหตุนี้ เฟสบุ๊คจึงงัดกลยุทธการจับลูกค้ากลุ่มที่อยู่นอกสหรัฐฯ และยุโรป

ตามรายงานของ Facebook Papers ผู้ใช้งานกลุ่มใหม่นี้คือประชากรที่อยู่ในประเทศอัฟกานิสถานและเมียนมาร์ อย่างไรก็ตามเฟสบุ๊คไม่มีระบบที่สามารถรองรับลูกค้ากลุ่มใหม่นับล้านคนได้ รวมทั้งไม่มีพนักงานพอที่จะคัดกรองเนื้อหาสุดโต่งในภาษาต่างๆ อีกด้วย

ตัวอย่างเช่นในประเทศเมียนมาร์ ผู้เชี่ยวชาญพบว่าเฟสบุ๊คมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่เนื้อหาเพื่อยุยงให้คนในประเทศทำร้ายชาวโรฮิงญามุสลิม เนื่องจากกลุ่มหัวรุนแรงได้ใช้เฟสบุ๊คกระจายข้อมูลในภาษาพม่าเพราะแพลตฟอร์มดังกล่าวไม่มีเจ้าหน้าที่หรือ AI ที่สามารถคัดกรองข้อมูลในภาษาข้างต้นได้

แต่ Facebook Papers ระบุว่า เฟสบุ๊คเลือกที่จะละเลยและไม่ป้องกันปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการขยายฐานผู้ใช้งานขององค์กร ทั้งๆที่ทราบว่าโปรเเกรมของตนอาจปล่อยเนื้อหาอันตรายออกไป เช่นเนื้อหาที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแนวคิดผู้ใช้บางส่วนให้กลายเป็นกลุ่มหัวรุนแรง หรือการกระตุ้นค้ามนุษย์และการปลิดชีพตนเองในหมู่วัยรุ่น เหตุผลหลักมาจากการแก้ปัญหาข้างต้นจะกระทบต่อการเจริญเติบโตของแพลตฟอร์มและกำไรของบริษัท

ประมาณหนึ่งเดือนหลังจากที่อดีตพนักงานของเฟสบุ๊ค ฟรานซิส เฮาเกน ได้ออกมาเปิดโปงปัญหาข้างต้นของเฟสบุ๊คต่อสาธารณะ หัวหน้าการจัดการด้านนโยบายของเฟสบุ๊ค โมนิกา บิกเกริท์ กล่าวว่า เฟสบุ๊คไม่เคยและจะไม่ให้ความสำคัญต่อปริมาณการใช้ของลูกค้าในรูปแบบ engagement มากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้

ทั้งนี้ เฟสบุ๊คได้พยายามที่จะทำให้อดีตพนักงานคนดังกล่าวดูขาดความน่าเชื่อถือ โดยระบุว่าเธอไม่ได้เป็นผู้จัดการหรือดูแลปัญหาข้างตนโดยตรง ตามรายงานของ AP

นอกจากนี้ หลังจากที่เฟสบุ๊คทราบว่าสื่อหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้รวบรวมข้อมูลถึงปัญหาต่างๆ ขององค์กรและพร้อมที่เผยแพร่ผ่าน Facebook Papers ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเฟสบุ๊คได้ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า การเลือกที่นำเอกสารภายในองค์กรแค่บางส่วนจากเอกสารเป็นล้านๆ ชิ้นมาเปิดเผยนั้น ไม่สามารถสะท้อนถึงภาพรวมที่แท้จริงภายในองค์กรได้ “ความจริงคือการที่บริษัทได้ลงทุนมากกว่า หนึ่งหมื่นสามพันล้านดอลลาร์เพื่อที่จะจ้างพนักงานมากกว่า 40,000 คน ให้คอยดูแลให้เฟสบุ๊คเป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน”

โซเฟีย จางซึ่งเป็นอดีตพนักงานเฟสบุ๊คอีกรายหนึ่งได้เล่าว่า บริษัทโชเชียลมีเดียแห่งนี้ได้ให้พนักงานในองค์กรทำแบบสำรวจเป็นประจำถึงเรื่องที่ว่าเฟสบุ๊คทำให้โลกดีขึ้นทำให้โลกดีขึ้นหรือไม่

เธอบอกตอนที่เธอเริ่มทำงานกับเฟสบุ๊คประมาณ 70% ของพนักงานบอกว่าเฟสบุ๊คทำให้โลกดีขึ้น แต่ตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 50% ตอนที่เธอถูกให้ออกจากงานในปี 2020

ณ ปัจจุบันนี้ เฟสบุ๊คไม่ได้มีการเปิดเผยยอดของผลของสำรวจว่าเป็นเช่นไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: