นักวิชาการเสนอนโยบายแรงงานในวิกฤตเลิกจ้างและเศรษฐกิจจาก COVID-19 ระลอก 3

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 พ.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1943 ครั้ง

นักวิชาการเสนอนโยบายแรงงานในวิกฤตเลิกจ้างและเศรษฐกิจจาก COVID-19 ระลอก 3

นักวิชาการเสนอนโยบายแรงงานและมาตรฐานแรงงานต่อรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤตเลิกจ้างและเศรษฐกิจหดตัวภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอก 3 สถานการณ์ตลาดแรงงานและแนวทางปฏิรูปแรงงานเนื่องในโอกาสครบรอบวันแรงงานสากล 132 ปี | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2564 2 พ.ค. 2564 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม และประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานสากล (1 พ.ค.) ครบรอบ 132 ปีนี้ นับว่าผู้ใช้แรงงานทั่วโลกรวมทั้งไทยได้รับผลกระทบมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงาน สถานการณ์ความยากลำบากของผู้ใช้แรงงานทั่วโลกและไทยยังคงดำรงอยู่ต่อเนื่องอีกหลายปีและน่าจะยังไม่ฟื้นตัวโดยเร็วหลังวิกฤต COVID-19 คลี่คลายลง วิกฤตการเลิกจ้าง อัตราการว่างงานสูงจะยังดำรงอยู่อีกหลายปีโดยเฉพาะบางประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้าและต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

ในปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) ขบวนการแรงงานสากลที่ 2 ได้กำหนดให้วันที่ 1 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันแรงงาน บ้างก็เรียกว่าวันแรงงานสากล หรือเมย์เดย์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เก็ตในนครชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1886 (พ.ศ. 2429) ในขณะที่นานาชาติยกย่องการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดี โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) ในปี ค.ศ. 1894 (พ.ศ. 2437) ได้ประกาศให้วันจันทร์แรกของเดือน ก.ย. เป็นวันแรงงานแห่งชาติแทน

นอกจากปัญหาวิกฤตเลิกจ้างจากผลกระทบ COVID-19 แล้ว ระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานยังเผชิญการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานและการจ้างงานจากเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) และพฤติกรรมของผู้บริโภค งานวิจัยขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อหลายปีก่อน เคยคาดการณ์ว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ตำแหน่งงานและการจ้างงานในไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ โดยกลุ่มคนงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พนักงานขายตามร้านหรือพนักงานบริการตามเครือข่ายสาขา พนักงานบริการอาหาร ภาคเกษตรกรรม แรงงานทักษะต่ำที่ทำงานซ้ำๆ คนงานโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้าอาจได้รับผลกระทบสูงถึง 70 - 80% ขณะเดียวกันก็จะมีอาชีพใหม่ๆและการขยายตัวของการจ้างงานในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นชดเชยตำแหน่งงานที่หายไปบางส่วน หากระบบเศรษฐกิจใด เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้การจ้างงานลดลงอย่างมากแต่ผลิตภาพและผลกำไรของธุรกิจไม่ได้ลดลง รัฐอาจจะจัดให้มีระบบประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับกำลังแรงงานทุกคนโดยให้เอกชนร่วมรับผิดชอบ พิจารณากรณีของประเทศไทยก็เข้าข่ายสภาพดังกล่าวแถมเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เราจึงควรพัฒนาระบบประกันรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งมีบางส่วนเหมือนกับข้อเสนอระบบการประกันความสมบูรณ์พูนสุขทางเศรษฐกิจของราษฎรที่เคยเสนอไว้โดย รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ใน “เค้าโครงสมุดปกเหลือง” เมื่อ 80 กว่าปีมาแล้ว

กิจการในไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ไทยเป็น “ผู้ซื้อ” และ “ผู้รับ” เทคโนโลยีมากกว่าเป็น “ผู้ขาย” และ “ผู้สร้าง” เทคโนโลยี กิจการธุรกิจต่างๆก็ไม่ได้ลงทุนทางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากนัก อุตสาหกรรมจำนวนไม่น้อยยังหวังพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ (ซึ่งก็ร่อยหรอลง) และค่าแรงราคาถูก (ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถูกแล้ว) ต่อไป แรงงานไทยทั้งหมดประมาณ 39 ล้านคน ร้อยละ 45 เป็นเพศหญิงและร้อยละ 55 เป็นเพศชาย จากจำนวนทั้งหมดนี้ร้อยละ 67 จบการศึกษาชั้นประถม สะท้อนค่าเฉลี่ยระดับการศึกษาของแรงงานไทยยังคงต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แรงงานที่มีการศึกษาต่ำและทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างสูงและจะถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีการผลิตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ฉะนั้นต้องเตรียมความพร้อมและรับมือกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยการเตรียมทักษะให้สามารถทำงานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้ การบ่มเพาะทักษะด้านบุคคล (Soft Skills) และ ทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) โดยเฉพาะความรู้ทางด้าน STEM (ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ที่ประเทศขาดแคลนอยู่ คนงานรับจ้างแรงงาน แรงงานในระบบเหมาช่วง คนงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานทักษะต่ำและมีระดับการศึกษาน้อย เป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลต้องดูแลด้วยมาตรการต่างๆเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการถูกเลิกจ้างจากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงาน ระบบเสมือนจริง และ ระบบออนไลน์ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าและทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และ การพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวอีกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดูเหมือนกระเตื้องขึ้นบ้างในไตรมาสแรกปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามกำลังทำให้เศรษฐกิจของประชาชนระดับฐานรากและผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบรุนแรง คาดว่าจะมีการเลิกจ้างระลอกใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง และ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการ lockdown บางส่วน แม้นเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้ภาคส่งออกได้รับผลบวกขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่การฟื้นตัวของภาคส่งออกยังไม่สามารถชดเชยการหดตัวของเศรษฐกิจโดยรวมได้ สถานการณ์ตลาดแรงงานในกลุ่มลูกจ้างรายวัน ประกอบอาชีพอิสระ และ กลุ่มกิจการขนาดย่อมยังอยู่ในสภาพวิกฤต ตนจึงขอเสนอนโยบายแรงงานและข้อเสนอเพื่อการดำเนินการ 5 ข้อต่อรัฐบาลภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกสาม ในโอกาสวันแรงงาน ดังต่อไปนี้

นโยบายข้อที่ 1 ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2565 เพิ่มเติมให้กับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดให้มีโครงการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อ Upskill และ Reskill อย่างขนานใหญ่ทั้งระบบทั่วประเทศ รวมทั้ง การจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นเพื่อนำผู้ว่างงานมาทำหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขและผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ แรงงานไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 49 อยู่ในภาคการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพต่ำจึงไม่สามารถจ่ายค่าจ้างสูงได้ การส่งเสริมผลิตภาพภาคแรงงานจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กับการคุ้มครองแรงงาน จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยและคุณภาพชีวิตแรงงานไทยดีขึ้นไปพร้อมกัน นอกจากนี้ แรงงานทักษะต่ำจำนวนมากต้องออกจากงานในระบบตอนอายุ 45 ปี สัดส่วนการจ้างงานนอกระบบของแรงงานในวัย 45-59 ปีจึงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61-69% จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด และแรงงานในวัย 45-60 ปีจะถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้าและต้องออกมาทำงานนอกระบบโดยไม่สมัครใจจำนวนไม่น้อยเนื่องจากไม่มีเงินออมมากพอที่จะดำรงชีพได้จึงต้องทำงานเพื่อหารายได้ต่อไป ขณะที่ นักศึกษาจบใหม่จะว่างงานมากขึ้นหรือทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนอันเป็นผลจากความอ่อนแอของการเชื่อมโยงกันระหว่างภาคการผลิตกับภาคการศึกษา นโยบายแรงงานจึงต้องไม่มองขบวนการแรงงานหรือสหภาพแรงงานหรือการเจรจาต่อรองในเรื่องแรงงานเป็นความวุ่นวายแต่ต้องมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (Fundamental Rights at Work) ได้แก่ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ห้ามการบังคับใช้แรงงาน คุ้มครองแรงงานเด็ก การห้ามเลือกปฏิบัติ และสิทธิรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมศักยภาพการมีงานทำ (Productive Employment) ได้แก่ การมีงานทำที่มั่นคงต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การเข้าถึงตลาด และสินเชื่อ ฯลฯ

ต้องมีการขยายความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) ได้แก่ หลักประกันสังคม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน การศึกษา ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นจากการเพิ่มการมีส่วนร่วมของตัวแทนลูกจ้างและองค์กรแรงงาน ฉะนั้น การมีผู้แทนและมีส่วนร่วม (Social Dialogue) เพื่อเป็นหลักประกันในการกำหนดนโยบายหรือกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับระบบแรงงานที่เป็นธรรมและมีผลิตภาพจึงมีความสำคัญ
นโยบายข้อที่ 2 ขอเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณและการนำเงินจากกองทุนประกันสังคมบางส่วนมาจัดสร้างโรงพยาบาลของผู้ประกันตนที่เป็นโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขทางไกลได้อย่างน้อย 8 แห่งทั่วประเทศ

นโยบายข้อที่ 3 ขอให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้ง ธนาคารแรงงานหรือธนาคารผู้ประกันตน ให้สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการออมเงินให้กับผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งเป็นแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และควรจัดตั้งธนาคารแรงงานให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2566 แนวคิดการจัดตั้งธนาคารแรงงานในประเทศไทยเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ซึ่งเกิดจากข้อเสนอและข้อเรียกร้องของคณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคมของรัฐสภาและขบวนการแรงงาน และ นักวิชาการด้านแรงงาน ต่อมาใน พ.ศ. 2549 สํานักงานประกันสังคมได้ทําการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอผลการศึกษาและผลการสํารวจข้อมูลจากผู้ทรงคุณวุฒิโดยสรุปได้ว่าการจัดตั้งธนาคารแรงงานเป็นนโยบายระดับชาติรัฐบาลควรจัดงบประมาณดําเนินการ และไม่ควรใช้เงินกองทุนประกันสังคม

ต่อมาใน พ.ศ.2554 คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศว่า “รัฐควรจัดตั้งธนาคารแรงงาน โดยรัฐขายพันธบัตรให้แก่กองทุนประกันสังคมและนําเงินมาปล่อยกู้ให้แก่คนงานเพื่อให้แรงงานสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อผ่อนคลายภาระหนี้สินนอกระบบของแรงงานซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูง และจำกัดเพดานวงเงินกู้เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เกินตัวและยังสามารถส่งเสริมการออมในรูปแบบต่างๆได้ด้วย ตนจึงเห็นว่า ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิจารณารูปแบบการจัดตั้ง โครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรที่เหมาะสม รวมทั้งควรกำหนดให้สามารถจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2566

นโยบายข้อที่ 4 ขอให้รัฐบาลประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 แม้นรัฐบาล คสช และ รัฐบาลประยุทธ์สองจะประสบความสำเร็จตามสมควรในการลดปัญหาการใช้แรงงานทาสจนประเทศไทยหลุดพ้นจากถูกกีดกันทางการค้าแต่การไม่รับรองอนุสัญญาแรงงานบางฉบับเช่น ฉบับ 87 และ 98 จะนำไปสู่การกีดกันทางการค้าครั้งใหม่และส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกได้ การตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯในช่วงที่ผ่าน ได้จุดประเด็นให้ไทยต้องพิจารณาอย่างจริงจังในการลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 สหรัฐอเมริกาในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดนจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้นเพราะถือเป็นสิทธิแรงงานและเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่สำคัญ
อนุสัญญา ILO ฉบับ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการ รวมตัวกัน และ ILO ฉบับ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิในการรวมตัวกัน และการเจรจาต่อรอง จะช่วยทำให้ระบบการจ้างงานมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานมากขึ้น และ ยังทำให้เกิด “ประชาธิปไตย” ในสถานประกอบการอันเป็นรากฐานของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับชาติอีกด้วย ILO ทั้งสองฉบับ 87, 98 นั้นมีการเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญามาร่วม 20 ปีแล้วแต่ยังไม่มีรัฐบาลใดตอบสนอง หากทางการไทยยังไม่พร้อมที่จะให้ “แรงงานต่างด้าว” ในไทยรวมตัวกันได้ ประเทศไทยอาจมีข้อสงวนในเรื่องดังกล่าวได้ แต่ควรให้สิทธินี้ต่อแรงงงานไทย

ปัจจุบันแม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการรวมตัวของแรงงานในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ถือเป็นกฎหมายแรงงานฉบับที่มีสาระที่ไม่ก้าวหน้านัก การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการจัดตั้งองค์กรและเรียกร้องต่อรองของลูกจ้างยังไม่ได้มาตรฐาน มีการแก้ไขในสมัยรัฐบาลรัฐประหารหลายยุคในการลดความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานโดยเฉพาะประเด็นการลิดรอนสิทธิแรงงานในการรวมกลุ่มในปี พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2534 มาตรฐานแรงงานและสิทธิแรงงานที่เป็นสากลนั้นมีเนื้อหาครอบคลุม 22 หัวข้อ เช่น เสรีภาพในการสมาคม การร่วมเจรจาต่อรอง และแรงงานสัมพันธ์ (Freedom of association, collective bargaining, and industrial relationsการขจัดการใช้แรงงานเด็ก และการคุ้มครองเด็กและผู้เยาว์ ห้ามใช้ระบบแรงงานทาสและแรงงานบังคับ โอกาสและการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน การร่วมปรึกษาหารือไตรภาคี การส่งเสริมและนโยบายการจ้างงาน การฝึกอบรมและการแนะแนวอาชีพ การคุ้มครองความเป็นมารดา ความมั่นคงในการจ้างงานและทางสังคม ความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงาน เป็นต้น หลายเรื่องนั้นไทยได้ก้าวหน้าไปไกลและดีขึ้นตามลำดับ แต่บางเรื่องต้องมีการปฏิรูปต่อไป

นโยบายข้อที่ 5 รัฐบาลควรปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร “สำนักงานประกันสังคม” โดยเปลี่ยนสำนักงานที่อยู่ภายใต้ระบบราชการ เป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเช่นเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์โดยให้ “องค์กรลูกจ้าง” และ “องค์กรนายจ้าง” บริหารร่วมกับผู้บริหารจากภาคราชการและผู้บริหารมืออาชีพที่คณะกรรมการสำนักงานประกันสังคมจ้างมาบริหารสำนักงานและกองทุนอย่างมืออาชีพ โดยมีระบบและกลไกให้เกิดการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาลและป้องกันการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจรัฐที่ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของผู้ประกันตน

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่านโยบายและมาตรการต่างๆของหลายรัฐบาลมุ่งไปที่การดูแลคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยเป็นนโยบาย “เอื้อคนจน” (Pro-poor policy) และ นโยบายเอื้อผู้ใช้แรงงาน (Pro-Labour Policy) เป็นเรื่องที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันที่คนระดับฐานรากและผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการ Lockdown และ การแพร่ระบาดของ Covid-19 นโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเติบโตเฉพาะเศรษฐกิจฐานบน ขณะที่เศรษฐกิจฐานรากยังมีความอ่อนแออยู่ การเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองและการเพิ่มสิทธิในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลงได้ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มแห่งอนาคตเช่นเดียวกัน แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ โดยชี้ประเด็นว่า สังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี อันนำมาสู่วิกฤตของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (Collaborative Consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้นอยู่แล้ว ต้องทำให้ “มนุษย์” ทำงานร่วมกับ “หุ่นยนต์” และ “สมองกลอัจฉริยะ” ได้อย่างผสมกลมกลืนซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม กิจการในไทยโดยภาพรวมโดยเฉพาะ SMEs ยังลงทุนทางด้านเทคโนโลยีน้อย เนื่องจากเห็นว่า ยังมีต้นทุนสูงและขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ย่อมไม่สามารถอยู่รอดหรือแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่

นายอนุสรณ์ ได้กล่าวถึง ประเด็นเรื่องมาตรฐานแรงงานว่า มาตรฐานแรงงานไทยและอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานแรงงานโลก กระทรวงแรงงานได้ประกาศมาตรฐานแรงงานไทยเมื่อ 27 มิ.ย. 2546 เพื่อให้สถานประกอบการทุกประเภท ทุกขนาด นำไปปฏิบัติต่อแรงงานในสถานประกอบการด้วยความสมัครใจ การดำเนินธุรกิจและดำเนินการผลิตต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมที่ครอบคลุมสิทธิมนุษยชน (รวมสิทธิแรงงานด้วย) สภาพการจ้างและสภาพการทำงาน รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องทบทวนข้อกำหนดแห่งมาตรฐานแรงงานในช่วงนี้เนื่องจากมีสถานการณ์เลิกจ้างรุนแรงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้างและทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี มาตรฐานนี้ครอบคลุมไปยังผู้รับเหมาช่วงและการจ้างงานแบบไม่เป็นมาตรฐานด้วย นายจ้างต้องจัดสรรเงินทุนสำรองให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยต่อแรงงานตามกฎหมายกรณีที่สถานประกอบการเลิกกิจการ แต่การเลิกกิจการบางส่วนไม่ใช่การเลิกกิจการจริงแต่เป็นการย้ายพื้นที่และย้ายฐานการผลิต กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองต้องทำการสอบสวนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้างด้วย ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการกลั่นแกล้งเลิกจ้างลูกจ้างอย่างเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นเสมอในสถานประกอบการเกือบทุกประเภทไม่เว้นแม้นในรัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษา ซึ่งทำให้ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น ขณะนี้หลายกิจการ หลายธุรกิจอุตสาหกรรมลดมาตรฐานแรงงานลงมาเพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นเงื่อนไขต่อการเพิ่มการกีดกันทางการค้าอันนำมาสู่ผลกระทบต่อกิจการและประเทศชาติโดยรวมในที่สุด การยกระดับมาตรฐานแรงงานและการพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการทั้งภาคการผลิตและภาคบริการเป็นเรื่องมีความสำคัญ เป็นบทบาทความร่วมมือกันของลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาลในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางด้านแรงงานและระบบสถาบันแรงงานรวมทั้งกฎระเบียบเพื่อให้เศรษฐกิจมีความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม ทำให้ “แรงงานเป็นบ่อเกิดให้ความไพบูลย์” ดั่งที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เคยได้กล่าวเอาไว้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: