กองทุน FTA ช่วยเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครือข่ายพัฒนาโคเนื้อ จ.ตาก

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 มี.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1314 ครั้ง

กองทุน FTA ช่วยเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครือข่ายพัฒนาโคเนื้อ จ.ตาก

กองทุน FTA ช่วยเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครือข่ายพัฒนาโคเนื้อ จ.ตาก ยกระดับการผลิต มีตลาดรองรับ ลดผลกระทบเปิดเสรีการค้า

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ว่านางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 161.79 ล้านบาท ดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเนื้อรองรับ FTA เพื่อยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ตั้งแต่การผลิตโคต้นน้ำจนถึงการตลาดเนื้อคุณภาพสำหรับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าไทย-ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่สิ้นสุดมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง TAFTA ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการฯ โดยร่วมมือกับบริษัทพรีเมียมบีฟ จำกัด เพื่อยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ พัฒนาระบบการซื้อขายโคให้มีมาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรได้รับราคาที่เป็นธรรม มีตลาดรองรับที่แน่นอนและมีการประกันราคารับซื้อไม่ต่ำกว่าท้องตลาด

ในการนี้ สศก. ได้ติดตามโครงการฯ ในพื้นที่การดำเนินงานจังหวัดตาก ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเครือข่ายพัฒนาโคเนื้อจังหวัดตาก ซึ่งคณะกรรมการกองทุน FTA ได้อนุมัติวงเงินยืมปลอดดอกเบี้ย 7,000,000 บาท เพื่อดำเนินการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิก และผลิตโคก่อนขุน พบว่า จากการดำเนินโครงการในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา สามารถรับซื้อโคก่อนขุนพันธุ์ตาก จากสมาชิกและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่จังหวัดตาก ได้ในปริมาณ 210 ตัว และยังสามารถจำหน่ายให้กับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนโคเนื้อล้านนาจังหวัดเชียงราย มูลค่า 2,360,250 บาท เพื่อนำไปขุนและจำหน่ายต่อไป ส่งผลสมาชิกมีแหล่งจำหน่ายและรายได้ที่แน่นอน ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีเงินทุนหมุนเวียน สำหรับรับซื้อโคก่อนขุนจากสมาชิกต่อไป

นอกจากนี้ สมาชิกยังนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมโครงการไปใช้ในการจัดการฟาร์ม การใช้สูตรอาหารสัตว์ที่ช่วยลดต้นทุนและสามารถเพิ่มอัตราแลกเนื้อของโคได้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่า วิสาหกิจชุมชนฯ ต้องรับซื้อโคในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้สำหรับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคของทางภาครัฐ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนได้หันมาสนใจการเลี้ยงโคเนื้อมากขึ้น จึงเกิดภาวะอุปสงค์ส่วนเกินสำหรับโคเนื้อมีชีวิต ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ส่งผลกระทบต่อการรับซื้อและจำหน่ายโคของวิสาหกิจชุมชนฯ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่มีแม่พันธุ์โคเป็นของตนเอง โดยวิสาหกิจชุมชนฯ ได้มีการปรับแผนการซื้อโคก่อนขุนจากสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่มากขึ้น

“สำหรับโคเนื้อและเนื้อโค เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าไทย - ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสุดมาตรการ SSG ซึ่งส่งผลต่อการนำเข้าโคมีชีวิต เนื้อแช่แข็งและเครื่องในโคแช่แข็งมีภาษีเป็นศูนย์ โดยไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ผลักดันช่องทางการตลาดอย่างหลากหลายตามนโยบายรณรงค์บริโภคสินค้าเกษตรไทยที่มีคุณภาพ โดยร่วมกับเครือข่ายและภาคส่วนต่าง ๆ และที่สำคัญ เกษตรกรต้องรักษาคุณภาพของโคเนื้อที่ผลิตได้ตามข้อกำหนดของโครงการฯ จะสามารถยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ตั้งแต่ผลิตจนถึงตลาด สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ พัฒนาระบบการซื้อขายโคใหม่ มีมาตรฐาน บริหารระบบโลจิสติกส์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และส่งเสริมผู้ทำตลาดให้สามารถแข่งขันจากต่างประเทศได้” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว

ทั้งนี้ กองทุน FTA มุ่งหวังให้เกษตรกรมีการพัฒนาขีดความสามารถ และมีศักยภาพในการแข่งขันทั้งการผลิตและการตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรได้มีความมั่นคงในอาชีพทางการเกษตร โดยยินดีให้คำแนะนำปรึกษาแก่กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีข้อเสนอโครงการต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล fta.oae@gmail.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: