กพช.ไฟเขียวเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ม.ค. 2564 | อ่านแล้ว 1920 ครั้ง

กพช.ไฟเขียวเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย

กพช. อนุมัติเพิ่มราคาซื้อไฟโซลาร์บนหลังคา เป็น 2.20 บาทต่อหน่วยจากราคารับซื้อเดิม 1.68 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการมากขึ้นพร้อมขยายผลการรับซื้อสู่โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นโครงการนำร่อง ที่ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 1 บาทต่อหน่วย เข้าระบบในปี 2564 คาดสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท | ที่มาภาพประกอบ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 ว่านายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน โดยแบ่งเป็นการดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้

1. ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย (โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน) ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2.20 บาท/kWh* จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาท/kWh เป้าหมายการรับซื้อ 50 MWp** ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สามารถคืนทุนภายใน 8-9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย

2. ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาท/kWh แบ่งเป็น กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 MWp กลุ่มโรงพยาบาล 20 MWp และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 MWp

โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ จะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 kWp แต่น้อยกว่า 200 kWp ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพื้นที่ สำหรับติดตั้งระบบโดยเฉลี่ย และส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย

ในกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล มอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานรับไปหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนและโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล รวมจำนวน 100 MWp จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท

* kWh: หมายถึง หน่วยที่ใช้บอกขนาด หรือปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งาน พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย เท่ากับ 1กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kilo watthour= กำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ใช้งานนาน 1ชั่วโมง)

** MWp: หมายถึง เมกะวัตต์สูงสุดของแผงโฟโตโวลเทอิก (Photovoltaic Panel) ณ สภาวะทดสอบมาตรฐาน (Standard Test Condition)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: