เปิดข้อเสนอ ‘การแก้ไขเพิ่มเติม รธน.’ จากรายงาน กมธ.วิสามัญศึกษาแก้ รธน. 2560

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 5006 ครั้ง

เปิดรายละเอียดการศึกษา ‘การแก้ไขเพิ่มเติม รธน. 2560 (หมวด 15)’ ของ กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม รธน.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่ทำการศึกษาตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2562 - ส.ค. 2563 เสนอให้ ยกเงื่อนไขที่ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบหนึ่งในสามออกเหลือเพียงได้เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา - จัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำหน้าที่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกือบทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 สภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นชอบ 'รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560' ทั้งนี้ในการอภิปราย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 33 คน ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยใช้เวลามากกว่า 7 ชั่วโมง จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม แจ้งว่าแม้จะมีความเห็นแตกต่าง แต่ทุกคนต่างเห็นพ้องให้รับรายงานฉบับดังกล่าวพร้อมกับส่งรายงานข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปให้รัฐบาลพิจารณา

ที่มาของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร

ตามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ 18 ธ.ค. 2562 ได้พิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (นายสุทิน  คลังแสง และนายปิยบุตร  แสงกนกกุล เป็นผู้เสนอ)  ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษากระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (นายสมคิด  เชื้อคง กับคณะ เป็นผู้เสนอ) ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2560 (นายเทพไท เสนพงศ์ เป็นผู้เสนอ) ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (นายนิกร  จำนง และนายณัฐวุฒิ  ประเสริฐสุวรรณ เป็นผู้เสนอ)  ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (นายวิเชียร  ชวลิต เป็นผู้เสนอ)  และญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2560 (นายจตุพร  เจริญเชื้อ เป็นผู้เสนอ)

และลงมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ   49 โดยได้กำหนดระยะเวลาพิจารณาศึกษาไว้ 120 วัน ครบกำหนดวัน พฤหัสบดีที่ 16 เม.ย. 2563 แต่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. 2563 จนมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในเวลาต่อมา ทำให้ไม่อาจประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ตามกำหนดการที่วางไว้เดิม คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงขอขยายระยะเวลาพิจารณาศึกษาต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรออกไปจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 25 มิ.ย. 2563 เนื่องจากขณะนั้นอยู่ระหว่างปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังคงมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) อย่างต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญไม่อาจประชุมได้ จนกระทั่งเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันศุกร์ที่  22 พ.ค. 2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงกลับมาประชุมได้อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิ.ย. 2563  แต่ใกล้ครบกำหนดเวลาที่ขอขยายไว้ถึงวันพฤหัสบดีที่ 25 มิ.ย. 2563 ดังกล่าวแล้วคณะกรรมาธิการวิสามัญจึงขอขยายระยะเวลาพิจารณาศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎรออกไปอีกเป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันศุกร์ที่ 26 มิ.ย. 2563 ครบกำหนดวันพุธที่ 23 ก.ย. 2563 แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญสามารถทำการพิจารณาศึกษาเสร็จก่อนกำหนดเป็นเวลาประมาณ 30 วัน โดยประชุมพิจารณาเสร็จสิ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 21 ส.ค. 2563 และประชุมพิจารณารับรองรายงานของ คณะกรรมาธิการวิสามัญที่จัดทำโดยคณะทำงานจัดทำรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ส.ค. 2563 เพื่อเสนอรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันจันทร์ที่ 31 ส.ค. 2563

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กมธ. นี้


จากนั้นได้มีการเผยแพร่รายงานฉบับนี้ในเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดย TCIJ ขอนำเสนอรายละเอียดการศึกษาเพื่อแก้ไข 'หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

บทบัญญัติในหมวดนี้มี 2 มาตรา คือ มาตรา 255 และมาตรา 256 มีวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์เพื่อกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาบทบัญญัติในหมวดนี้แล้ว มีประเด็นความเห็น ดังนี้

1) มาตรา 255

ผลการพิจารณาศึกษา คณะกรรมาธิการวิสามัญเห็นว่ามาตรา 255 กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ ซึ่งเป็นการบัญญัติในสาระสำคัญของระบอบการปกครองของประเทศ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและรูปแบบของรัฐ

ข้อสังเกต ความเห็น และข้อเสนอแนะคณะกรรมาธิการวิสามัญมีความเห็นร่วมกันว่า บทบัญญัติมาตรา 255 ไม่มีประเด็นปัญหาที่นำไปสู่การแก้ไขใด ๆ

2) มาตรา 256

มาตรา 256 เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ โดยมีส่วนที่เป็นประเด็นอภิปรายกันทั้งสิ้น 3 อนุมาตรา คือ ในมาตรา 251 (3) (6) และ (8) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1) มาตรา 256 (3)

บทบัญญัติในมาตรา 256 (3) ระบุถึงรายละเอียดขององค์ประกอบของการออกเสียงลงคะแนนในวาระหนึ่งขั้นรับหลักการว่า จะต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ผลการพิจารณาศึกษา คณะกรรมาธิการวิสามัญได้อภิปรายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่าเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความยากมากขึ้นกว่าปกติ แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้เพียงต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และในเงื่อนไขที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้วุฒิสภาชุดปัจจุบันเกือบทั้งหมดมาจากการคัดสรรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและมีสถานะเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้ประโยชน์จากการใช้รัฐธรรมนูญ การแก้ไขที่ขัดกับความต้องการของคณะผู้ปกครองประเทศที่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาจะทำไม่ได้เลย

แม้ว่าโดยหลักการการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ควรมีกระบวนการที่ยากกว่าการแก้ไขกฎหมายตามปกติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นเรื่องที่ได้รับฉันทามติร่วมจากฝ่ายต่าง ๆ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้คำนึงถึงประเด็นดังกล่าว จึงสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ต้องได้รับฉันทามติจากสมาชิกวุฒิสภาอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้แตกต่างจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีตที่ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ที่อาศัยเพียงเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา

เนื่องจากที่มาของสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันมาจากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ การกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา จำนวนหนึ่งในสาม จึงเปรียบเสมือนกลไกที่ป้องกันมิให้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาและได้รับเสียงครหาว่าเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองแก่พวกตนไม่ถูกแก้ไขได้โดยง่าย หรือหากมีการเสนอประเด็นแก้ไขในเรื่องใด หากฝ่ายผู้มีอำนาจไม่เห็นชอบก็ไม่สามารถแก้ไขได้

ข้อสังเกต ความเห็น และข้อเสนอแนะ คณะกรรมาธิการเห็นชอบให้มีการแก้ไข โดยแยกออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

แนวทางที่ 1 ยกเงื่อนไขที่ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบหนึ่งในสามออกเหลือเพียงได้เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา ตามหลักการที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

แนวทางที่ 2 กำหนดให้เงื่อนไขที่ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบหนึ่งในสาม ใช้ในกรณีซึ่งวุฒิสภามีที่มาจากบทบัญญัติหลักตามส่วนที่ 3 วุฒิสภา ของหมวด 7 รัฐสภา ไม่ใช้บังคับในกรณีที่วุฒิสภามาจากบทเฉพาะกาล

แนวทางที่ 3 ยกเงื่อนไขที่ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบหนึ่งในสามออก เปลี่ยนเป็นต้องได้รับเสียงเห็นชอบสองในสามของสมาชิกรัฐสภา ในกรณีซึ่งวุฒิสภามีที่มาจากบทบัญญัติหลักตามส่วนที่ 3 วุฒิสภา ของหมวด 7 รัฐสภา

ทั้งนี้ แนวทางที่ 1 เป็นแนวทางที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ

2.2) มาตรา 256 (6)

บทบัญญัติในมาตรา 256 (6) ที่ระบุให้การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกันและมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ผลการพิจารณาศึกษา คณะกรรมาธิการวิสามัญได้อภิปรายปัญหาเงื่อนไขที่กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยหนึ่งในสาม เป็นปัญหาเดียวกันกับการลงมติในวาระหนึ่งตามมาตรา 256 (3) โดยมีประเด็นปัญหาเพิ่มเติมในประเด็นของการต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมเห็นชอบอีกไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ องค์ประกอบดังกล่าวมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้มีฉันทามติแต่อย่างใด เนื่องจากในสัดส่วนดังกล่าวมิได้ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านเท่านั้น เพราะยังมีพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่งที่มิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และไม่มีตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงมิใช่การสร้างฉันทามติจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านแต่อย่างใด

ข้อสังเกต ความเห็น และข้อเสนอแนะ คณะกรรมาธิการวิสามัญเห็นชอบให้มีการแก้ไข ดังนี้

(1) ยกเงื่อนไขที่ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบหนึ่งในสามออกเหลือเพียงเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา ตามหลักการที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

(2) ยกเงื่อนไขที่ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกันออก

2.3) มาตรา 256 (8)

ผลการพิจารณาศึกษา บทบัญญัติมาตรา 256 (8) ในประเด็นการออกเสียงประชามติในกรณีร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป

คณะกรรมาธิการวิสามัญได้อภิปรายถึงปัญหาที่เกิดจากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่าการจัดทำประชามติแต่ละครั้งมีต้นทุนการดำเนินการโดยประมาณถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดินที่ได้จากภาษีอากรของราษฎร หากมีประเด็นการแก้ไขที่ต้องทำประชามติบ่อยครั้งเกินไปจะเป็นภาระและสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ดังนั้น จึงสมควรให้มีการกำหนดให้มีการทำประชามติในประเด็นที่สำคัญจริง ๆ เช่น ในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่น ๆ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการทำประชามติ

ข้อสังเกต ความเห็น และข้อเสนอแนะ คณะกรรมาธิการวิสามัญมีความเห็นร่วมกันว่า สมควรมีการแก้ไขมาตรา มาตรา 256 (8) โดยยกข้อกำหนดที่ต้องทำประชามติ หากแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ออก โดยไม่ต้องทำประชามติในประเด็นดังกล่าว

ข้อเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากการแก้ไขมาตรา 256 แล้ว

ผลการพิจารณาศึกษา เมื่อมีการแก้ไขมาตรา 256 แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งทำได้โดยง่ายขึ้น อาจนำไปสู่การแก้ไขในลักษณะพวกมากลากไปจากฝ่ายที่สามารถยึดกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตามมาก็จะเป็นประเด็นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอีกทั้งเนื้อหาภายในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีจุดที่ต้องแก้ไขเป็นจำนวนมาก และมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันการแก้ไขรายมาตราอาจทำได้ยากกว่าการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นการร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ดังนั้น จึงสมควรให้มีการร่างขึ้นใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม มีกรรมาธิการบางท่านได้ให้ความเห็นแย้งว่า ควรใช้กลไกของรัฐสภาในการแก้ไขในบางมาตราที่เห็นร่วมกันว่าเป็นปัญหา เพราะหากจะดำเนินการร่างใหม่หรือแก้ไขใหม่เกือบทั้งฉบับจะต้องใช้เวลาที่ยาวนาน

ข้อสังเกต ความเห็น และข้อเสนอแนะ คณะกรรมาธิการวิสามัญส่วนใหญ่เห็นชอบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยวิธีการดังนี้

(1) จัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำหน้าที่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกือบทั้งฉบับยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

(2) จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หลังจากรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

(3) เงื่อนไขการดำรงอยู่ขององค์กรทางการเมืองต่าง ๆ เป็นไปตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านประชามติ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: