คณะทำงานศึกษาสัญญาโฮปเวลล์ ค้านรัฐจ่ายค่าเสียหาย เหตุพบพิรุธหลายประเด็น

ทีมข่าว TCIJ | 13 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 4937 ครั้ง

คณะทำงานศึกษาสัญญาโฮปเวลล์ชุดของผู้แทนราษฎร ค้านรัฐจ่ายค่าเสียหายให้  ‘บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด’ เหตุพบพิรุธบ่งชี้ว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน อาทิ ‘การเปลี่ยนแปลงเหตุบอกเลิกสัญญาตามมติ ครม. 20 ม.ค. 2541 เอื้อประโยชน์ให้เกิดการฟ้องร้อง - การดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการมีพิรุธน่าสงสัยสมควรที่จะต้องสืบสวนสอบ - เรียกร้องคืนจากรัฐ 14,700 ล้านบาท อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ชำระคืน 9,000 ล้านบาทนั้น แต่เงินตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องเพียงประมาณ 1,732 ล้านบาท - ข้อพิพาทกรณีโฮปเวลล์นี้ อาจเป็นกระบวนการและแผนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้เงินจากภาครัฐโดยมิชอบ’ | ที่มาภาพประกอบ: ผู้จัดการออนไลน์

ช่วงต้นเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์) โดยคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิ มนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

ในรายงานฉบับนี้ คณะทำงานฯ พบประเด็นพิรุธบ่งชี้ให้น่าเชื่อว่ามีการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบของผู้เกี่ยวข้องกับโครงการมาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน โดย TCIJ ขอนำเสนอบางประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

โครงการไม่เป็นไปตามมติ ครม. - ไม่ใช่บริษัทที่ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการ

ประเด็นการดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 19 ก.ย. 2532 มาแต่ต้น เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2532 รับในหลักการให้กระทรวงคมนาคมไปดำเนินการโครงการโฮปเวลล์โดยให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมิได้กล่าวถึงการสร้างทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ด้วยแต่อย่างใด แต่กระทรวงคมนาคมกลับไปดำเนินการให้มีการสร้างทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์เพิ่มขึ้นในโครงการโฮปเวลล์เองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นมีคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 283/2532 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2532 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว แต่กลับกำหนดชื่อและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดให้มีการดำเนินการต่าง ๆ ในโครงการโฮปเวลล์โดยกำหนดให้มีการสร้างทางด่วนยกระดับสาหรับรถยนต์ด้วย ซึ่งเป็นการนอกเหนือจากหลักการที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2532 โดยไม่ได้เสนอขอรับอนุมัติหรือความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน

อีกทั้งยังกำหนดเส้นทางและระยะทางสำหรับก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้ โดยใช้ชื่อคณะกรรมการดังกล่าวว่า “คณะกรรมการพิจารณาดำเนินโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ โดยได้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์” (คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ)

ประเด็นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ใช่บริษัทที่ได้รับการเลือกจากคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ และจากกระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้ดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ และกระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้ดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลต่างด้าวที่จดทะเบียนที่เมืองฮ่องกง โดยกระทรวงคมนาคมเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีให้บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นผู้ดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ ตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุดที่ คค 0207/7365 ลว 31 พ.ค. 2533 และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2533 ซึ่งขณะนั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังมิได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเลย

บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงไม่ใช่บริษัทที่เข้าเสนอเงื่อนไขดำเนินการโครงการโฮปเวลล์ตามกฎหมายและเป็นคนละนิติบุคคลกันกับ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ดังนั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับโครงการโฮปเวลล์และไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายที่จะเข้ามาดำเนินโครงการโฮปเวลล์แทน บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง)

เป็นนิติบุคคลต่างด้าว ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นข้อเสนอเข้าทำโครงการฯ

ประเด็นบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นนิติบุคคลต่างด้าวและไม่เคยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ประกอบธุรกิจ “ขนส่งทางบก” ตามบัญชี “ข” ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 มาก่อน จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นข้อเสนอเข้าทำโครงการโฮปเวลล์ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 25 พ.ย. 2514 ห้ามมิให้คนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวประกอบกิจการ “ขนส่งทางบก” ซึ่งเป็นกิจการที่กำหนดไว้ในบัญชี “ข” ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะกาลก่อนตามหลักเกณฑ์ในข้อ 2. ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 นั้น โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

ทั้งนี้ปรากฏว่าในขณะที่ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวที่จดทะเบียนที่เมืองฮ่องกงยื่นเงื่อนไขเพื่อดำเนินโครงการโฮปเวลล์ซึ่งเป็นธุรกิจ “ขนส่งทางบก” ตามบัญชี “ข” ท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ต่อคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ของกระทรวงคมนาคมนั้น บริษัทดังกล่าวยังไม่เคยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ประกอบธุรกิจ “ขนส่งทางบก” ในประเทศไทยได้มาก่อน บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะประกอบธุรกิจ “ขนส่งทางบก” ในประเทศไทย ดังนั้น บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะยื่นเสนอเงื่อนไขเพื่อดำเนินโครงการโฮปเวลล์

การเสนอเงื่อนไขขัดต่อระเบียบราชการ การดำเนินการต่อมาจึงเป็นโมฆะทั้งหมด

ประเด็นการเสนอเงื่อนไขดำเนินโครงการโฮปเวลล์ของ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2533 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อระเบียบราชการและเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การกระทำดังกล่าวและการดำเนินการอื่นๆ ต่อมา จึงเป็นโมฆะทั้งหมด นอกจากการยื่นเสนอเงื่อนไขดำเนินโครงการโฮปเวลล์ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2533 จะไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 แล้ว ยังปรากฎด้วยว่า บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นผู้เสนอเงื่อนไขเพียงรายเดียว ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของระเบียบสานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ จะต้องยกเลิกการเสนอเงื่อนไขครั้งนั้นแล้วดำเนินการใหม่ทั้งหมด

แต่คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ กลับไม่ดำเนินการตามหลักการของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 อีกทั้งยังปรากฏด้วยว่า บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ยื่นเสนอหลักประกันการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ผิดระเบียบราชการซึ่งจะต้องถือว่าไม่มีผู้เสนอราคารายใดเลยที่มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน อันส่งผลให้ต้องยกเลิกการประกาศเชิญชวนเอกชนให้เสนอเงื่อนไขดำเนินโครงการโฮปเวลล์ครั้งนั้นแล้วจัดให้มีการเสนอเงื่อนไขใหม่ทั้งหมด แต่คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ กลับเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นอนุญาตให้ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ออกหนังสือส่วนตัวของ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เองเพื่อค้าประกันตัวเองในการเสนอเงื่อนไขคู่กับหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ซึ่งไม่อาจกระทำได้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นกลับอนุมัติให้ดำเนินการเช่นนั้นได้ อันเป็นการผิดระเบียบราชการ ดังนั้นกระบวนการที่คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ เลือกให้ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นผู้ได้รับเลือกให้ดำเนินโครงการโฮปเวลล์ การคัดเลือกให้ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นผู้ดำเนินโครงการโฮปเวลล์จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อระเบียบราชการ

นอกจากนั้น ตามที่ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเสนอเงื่อนไขดำเนินโครงการโฮปเวลล์โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ “ขนส่งทางบก” จากรัฐบาลก่อน อันเป็นการฝ่าฝืนและเป็นการกระทำความผิดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว ยังปรากฎด้วยว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ยังเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองประโยชน์ของคนไทยจากการแข่งขันในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อที่จะคุ้มครองป้องกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประเทศ จึงถือได้ว่า บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) การกระทำการอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การเสนอเงื่อนไขดำเนินโครงการโฮปเวลล์ของ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) จึงเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ตามนัยมาตรา 151 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย ดังนั้นจึงมีผลให้กระบวนการและการเลือกให้ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) เป็นผู้ดำเนินโครงการโฮปเวลล์เป็นโมฆะไปทั้งหมดด้วยเช่นกัน ดังนั้นการเสนอเงื่อนไขดำเนินโครงการโฮปเวลล์ของ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) และการดำเนินการต่อ ๆ มาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวจึงเป็นโมฆะทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงเหตุบอกเลิกสัญญาตามมติ ครม. 20 ม.ค. 2541 เอื้อประโยชน์ให้โฮปเวลล์ฟ้องร้อง

ประเด็นการดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 ม.ค. 2541 เป็นการกระทำที่เป็นพิรุธน่าสงสัย มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องและฟ้องร้อง คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2540 ให้บอกเลิกสัญญาสัมปทาน โครงการโฮปเวลล์กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเหตุที่ว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อสร้างและดำเนินการล่าช้าอย่างมากจนไม่อาจยอมรับได้ โดยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติให้บอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเหตุผลที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติผิดสัญญาตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทานข้อ 27 เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐมากกว่าการบอกเลิกสัญญาตามสิทธิและตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เนื่องจากจะทำให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ต้องรับผิดต่อภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว และจะไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากภาครัฐได้ โดยมอบให้คณะกรรมการตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 311/2540 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2540 ไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน คณะทำงานชุดนี้ได้ประชุมและรายงานผลการดำเนินการเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเรื่อยมา จนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่จะต้องมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาไปยัง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2540 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2540 ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ได้รายงานผลการดำเนินการและเสนอร่างหนังสือบอกเลิกสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเหตุปฎิบัติผิดสัญญาไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ที่เพิ่งจะมารับตำแหน่งในขณะนั้น เพื่อให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเช่นที่เคยปฏิบัติมา

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ในขณะนั้นได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 ให้บอกเลิกสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเหตุที่บริษัทฯ ดังกล่าวปฏิบัติผิดสัญญาตามร่างหนังสือบอกเลิกสัญญาของคณะทำงานชุดดังกล่าวแล้วแต่มีข้อเท็จจริงว่าในช่วงเวลาก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 ธ.ค. 2540 ปรากฎมีข้าราชการระดับสูงตำแหน่งนิติกร 9 ของกระทรวงคมนาคมแจ้งต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่รับผิดชอบการรถไฟแห่งประเทศไทยในขณะนั้นว่าผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านกฎหมายโทรศัพท์แจ้งมาด้วยวาจาว่าขอให้เปลี่ยนแปลงการบอกเลิกสัญญาจากเหตุที่ว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติผิดสัญญา มาให้เป็นเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เคยมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในอดีตมาแล้วว่าไม่เป็นการเหมาะสมเพราะจะทาให้ภาครัฐเสียเปรียบ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้วก็มีข้อสงสัยว่าเหตุใดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นจึงไม่ทักท้วงคณะรัฐมนตรีในการประชุมเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 แต่กลับปล่อยให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้บอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพราะเหตุที่บริษัทฯ ดังกล่าวปฏิบัติผิดสัญญา แล้วต่อมา จึงมีการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เสนอเรื่องกลับไปให้คณะรัฐมนตรีให้พิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอเดิมของกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 จนนำไปสู่การมีมติคณะรัฐมนตรีใหม่เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2541 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 ที่ให้บอกเลิกสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพราะเหตุที่บริษัทฯ ดังกล่าวปฏิบัติผิดสัญญา เป็นให้บอกเลิกสัญญาด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จนเป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคมแก้ไขรายละเอียดในหนังสือบอกเลิกสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใหม่เป็นการบอกเลิกสัญญาตามหลักเกณฑ์ของของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบอกเลิกสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2541 จนเป็นเหตุให้เกิดสิทธิตามกฎหมายแก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด

และมีประเด็นข้อกฎหมายว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม กล่าวคือ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ใช้จ่ายไปในโครงการโฮปเวลล์คืนจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทั้งหมด เพราะมิใช่กรณีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติผิดสัญญาและเป็นเหตุให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องและเป็นข้อ อ้างว่ากระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และใช้เป็นมูลเหตุหรือมูลฐานในการอ้างสิทธิตามกฎหมายเรียกร้องเงินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คืนจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย นำไปสู่การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดในเวลาต่อมาจนเป็นปัญหาที่จะต้องหาทางแก้ไขในปัจจุบัน ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 โดยยังคงบอกเลิกสัญญากับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเหตุว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาเช่นเดิมแล้ว ก็จะทาให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ตามกฎหมายที่จะมาเรียกร้องเงินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คืนจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนั้นการที่มีการดำเนินการให้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเดิมเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2540 จนเป็นเหตุให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้เป็นเหตุอ้างสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายกับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย การดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2541 ดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการที่มีพิรุธน่าสงสัยว่าจะเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ สมควรที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลโดยหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่โดยด่วนต่อไป

การดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการมีพิรุธน่าสงสัยสมควรที่จะต้องสืบสวนสอบ

ประเด็นการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการมีพิรุธน่าสงสัยสมควรที่จะต้องสืบสวนสอบสวนขยายผลโดยหน่วยงานของรัฐที่มีอานาจหน้าที่เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อไปโดยด่วน จากการศึกษาข้อเท็จจริงในขั้นตอนการดำเนินการของคณะอนุญาโตตุลาการพบว่ามีพิรุธน่าสงสัยว่าการดำเนินการของคณะอนุญาโตตุลาการไม่น่าจะสอดคล้องกับข้อกฎหมายและข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2546 ทั้งในเรื่องการพิจารณาชี้ขาดเกี่ยวกับอายุความที่คณะอนุญาโตตุลาการจะมีอำนาจรับคำเสนอข้อพิพาทของ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไว้พิจารณาได้หรือไม่ การไม่กำหนดประเด็นข้อพิพาท รวมทั้งประเด็นเรื่องเงินและค่าใช้จ่ายที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกร้องคืนจากภาครัฐเป็นเงินประมาณ 14,700 ล้านบาท ที่ไม่ปรากฎหลักฐานการพิสูจน์พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่าง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าจำนวนเงินที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกร้องนั้นถูกต้องจริงหรือไม่ โดยไม่ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ไว้เพื่อให้มีการนำสืบพยานหลักฐานของฝ่าย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และไม่ได้ให้โอกาสกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยมีโอกาสคัดค้านพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นเช่นที่พึงจะต้องปฏิบัติในกระบวนการพิจารณาตามปกติ ทำให้ไม่มีการนำสืบและการโต้แย้ง ในกรณีนี้ โดยคณะอนุญาโตตุลาการกลับพิจารณาวินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยชำระดังกล่าวเป็นจานวนเงิน 9,000 ล้านบาท ไปโดยไม่ปรากฎเหตุผลที่มาของการหลักเกณฑ์การคิดคำนวณจำนวนเงินดังกล่าวว่าอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่ถูกต้องหรือไม่อย่างใด เป็นการผิดปกติวิสัยของกระบวนการพิจารณาของระบบอนุญาโตตุลาการสมควรที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลหาเหตุผลและข้อเท็จจริงโดยหน่วยงานของรัฐที่มีอานาจหน้าที่ต่อไปโดยด่วน

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นโมฆะดังที่กล่าวมา บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่จะยื่นคาเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัยได้ ซึ่งต้องถือว่ากระบวนการในชั้นอนุญาโตตุลาการทั้งหมดตั้งแต่การรับคำเสนอข้อพิพาทของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไว้พิจารณาชี้ขาดล้วนเป็นโมฆะหมดทั้งสิ้น

เรียกร้องคืนจากรัฐ 14,700 ล้านบาท อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ชำระคืน 9,000 ล้านบาทนั้น แต่เงินตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องเพียงประมาณ 1,732 ล้านบาท

ประเด็นจำนวนเงินค่าใช้จ่ายการก่อสร้างในโครงการโฮปเวลล์ที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกร้องคืนจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนประมาณ 14,700 ล้านบาท ที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจชี้ขาดให้ชำระคืนเป็นจำนวนเงิน 9,000 ล้านบาทนั้น มีจำนวนเงินตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องเพียงประมาณ 1,732 ล้านบาท เท่านั้น จำนวนเงินค่าใช้จ่ายการก่อสร้างในโครงการโฮปเวลล์ที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกร้องคืนจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเงินประมาณ 14,700 ล้านบาท และคณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชำระให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นจำนวนเงิน 9,000 ล้านบาท โดยไม่มีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ไว้ให้มีการสืบพิสูจน์พยานหลักฐานระหว่างกัน และต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคาพิพากษาให้กระทรวง

คมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยชาระเงินจำนวนดังกล่าวและเงินอื่น ๆ พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการรวมเป็นเงินนับถึงวันที่มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 24,000 ล้านบาท นั้นปรากฏต่อมาว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำการตรวจสอบพยานหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ใช้กล่าวอ้างในประเด็นนี้แล้วพบว่าพยานหลักฐานใบเสร็จรับเงินของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้องและที่เกี่ยวข้องกับโครงการโฮปเวลล์ที่สามารถรับรองได้มีเป็นจำนวนเงินเพียงประมาณ 1,732 ล้านบาท เท่านั้น

ข้อพิพาทกรณีโฮปเวลล์นี้ อาจเป็นกระบวนการและแผนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้เงินจากภาครัฐโดยมิชอบ

ประเด็นข้อพิพาทกรณีโฮปเวลล์อาจเป็นกระบวนการและแผนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้เงินจากภาครัฐโดยมิชอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเดิม บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มีผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยผู้หนึ่งที่มีข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองและเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้กับบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ในโครงการโฮปเวลล์มาแต่ต้น แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงเหตุในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากเหตุที่ว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติผิดสัญญามาเป็นเหตุตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางกฎหมายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อันนำไปสู่การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการและศาลปกครองในเวลาต่อมาแล้ว

บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้ประกาศขายหุ้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถืออยู่ทั้งหมดเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท โดยชี้ชวนว่าผู้ที่จะซื้อหุ้นไปนั้นจะได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินกว่าสองพันล้านบาท ต่อมาปรากฏว่ามีนิติบุคคลต่างด้าวสองรายมาซื้อหุ้นไปจาก บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) ดังนั้น บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงยังคงมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าวตามกฎหมายไทยว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวทั้งตามหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 และตามหลักเกณฑ์ของ พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่เป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยหนึ่งในสองนิติบุคคลต่างด้าวดังกล่าวนั้นจดทะเบียนจัดตั้งที่ประเทศมอริเชียส (Mauritius) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นแหล่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลเพื่อหลบเลี่ยงภาษีและมีการกระทำในลักษณะหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการเงินในลักษณะต่าง ๆ

และหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่จาก บริษัท โฮป เวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) มาเป็นบริษัทที่จดทะเบียนที่ประเทศมอริเชียส เมื่อปี 2548 ก็ปรากฏว่าชื่อผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยดังกล่าวได้หายไปจากรายชื่อผู้ถือหุ้นของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อันเป็นการผิดปกติวิสัยที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทที่คาดว่าจะมีรายได้เป็นเงินไม่ต่ำกว่าสองพันล้านบาทจะขายหุ้นหรือโอนหุ้นของตนให้บุคคลอื่นหรือให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับประโยชน์แทน และยังปรากฏข้อมูลเบื้องต้นที่สมควรได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ด้วยว่าปัจจุบันผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยดังกล่าวยังคงเป็นผู้มีบทบาทติดต่อประสานงานในเรื่องต่าง ๆ ให้ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งการดำเนินการทางกฎหมายกับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงน่าเชื่อว่าผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยดังกล่าวน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลต่างด้าวที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นที่ประเทศมอริเชียสด้วย ยิ่งทำให้เป็นพิรุธน่าสงสัยว่าเหตุใดผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยดังกล่าวจะต้องมีพฤติกรรมหรือการกระทำเช่นว่านั้น

นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่จาก บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง จำกัด (ฮ่องกง) มาเป็นบริษัทที่จดทะเบียนที่ประเทศมอริเชียส เมื่อปี 2548 จนถึงปัจจุบัน กลับไม่ปรากฏว่าบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกอบธุรกิจใด ๆ และไม่ปรากฏว่ามีรายได้จากธุรกิจใดเลย โดยมีการระบุในงบการเงินประจำปีว่าบริษัทจะมีรายได้จากคดีการเรียกร้องเงินจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเท่านั้น อันเป็นการผิดปกติวิสัยของบุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไปที่นำเงินมาลงทุนถึง 500 ล้านบาทจะพึงกระทำ โดยมีข้อน่าสงสัยเพิ่มเติมด้วยว่าบุคคลใดเป็นผู้จัดหาและชำระเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปัจจุบัน รวมทั้งค่าทนายความที่ดำเนินการทางกฎหมายให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตลอดมา นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเบื้องต้นที่น่าเชื่อได้ว่าผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยดังกล่าวมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับนักการเมืองผู้ใหญ่ที่เคยเป็นผู้บริหารในกระทรวงคมนาคมในอดีตหลายคนรวมทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเหตุการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์จากเหตุที่ว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ปฏิบัติผิดสัญญา มาเป็นเหตุตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จนทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้วย

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและข้อมูลเบื้องต้น และข้อพิรุธที่เกิดขึ้นเป็นลำดับเป็นขั้นตอนดังกล่าวจนนาไปสู่การพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยชำระเงินให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จากัด ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นเงินรวมกันทั้งหมดกว่า 24,000 ล้านบาท ทำให้น่าเชื่อว่าน่าจะเป็นแผนการฉ้อฉลที่มีผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังมาแต่ต้น โดยมีการดำเนินการต่าง ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ตลอดมา อันเป็นแผนการฉ้อฉลรัฐที่มีการวางแผนเตรียมการมาเพื่อจะนำไปสู่การที่จะทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางการเงินตามกฎหมายจากภาครัฐ ซึ่งแผนการนี้จะสำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อมีการชำระเงินจากภาครัฐตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่ปัจจุบันแผนการนี้ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นลงเพราะยังไม่มีการชำระเงินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด การกระทำต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงยังไม่ขาดอายุความ สมควรที่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น จะพึงประสานการทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลให้ได้ข้อเท็จจริงและความชัดเจนในกรณีต่าง ๆ ที่กล่าวมาโดยเร่งด่วน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: