จับตาจัดสรรกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 63 ตั้งคำถามเอื้อ 'พ่อค้าโซลาร์สูบน้ำ-ทุนการเมือง' หรือไม่?

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 4971 ครั้ง

สื่อด้านพลังงาน Energy News Center เผยเครือข่ายอาสาสมัครพลังงาน (อสพน.) และวิสาหกิจพลังงานชุมชนที่ผิดหวังไม่ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานปี 2563 วิจารณ์โครงการที่ผ่านการอนุมัติที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการโซลาร์โฮม สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร ล้วนไม่คุ้มค่า นำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ ตั้งงบสูงกว่าราคากลาง ตั้งคำถามเอื้อพ่อค้าและทุนการเมืองหรือไม่? รวมทั้งอาจจะก่อปัญหาขยะพิษในอนาคต ในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันกลายเป็นผู้รับภาระ | ที่มาภาพ: Energy News Center

ตั้งข้อสังเกตโครงการกองทุนอนุรักษ์พลังงานมุ่งตอบสนองทุนการเมือง มากกว่าจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา Energy News Center รายงานว่าเงินกองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน หรือเรียกสั้น ๆ ว่ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน นั้นไม่ใช่เงินจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นรายได้จากผู้ใช้น้ำมัน ที่แต่ลิตรที่ใช้จะถูกหักในอัตรา 10 สตางค์เพื่อส่งเข้ากองทุน จนถึงปัจจุบันมีเงินสะสมอยู่ในหลักหลายหมื่นล้านบาท

การนำเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานมาใช้ ต้องตรงตามวัตถุประสงค์ภายใต้ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 ที่มีคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ให้เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณา และมีทางสำนักงานกองทุนเพื่อการส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน เป็นหน่วยงานเลขานุการ

ในระยะหลังมานี้ การใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานมักถูกตั้งข้อสังเกตว่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติ มุ่งตอบสนองทุนการเมือง มากกว่าจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน หรือการส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมากในแต่ละปีในการนำเข้ามาใช้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าการอนุมัติใช้เงินส่วนนี้ อนุมัติได้ง่ายกว่าและกระบวนการตรวจสอบไม่เข้มข้นเหมือนการใช้งบประมาณแผ่นดิน

พบโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ ยื่นเข้ามามากสุด 2,339 โครงการ วงเงินกว่า 9,172 ล้านบาท

ล่าสุดการจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานปี 2563 ที่กำหนดกรอบวงเงินเอาไว้ 5,600 ล้านบาท ในวันที่ปิดรับข้อเสนอโครงการเมื่อ 27 พ.ค. 2563 นั้นมีผู้ยื่นขอรับการจัดสรรงบมากถึง 5,155 โครงการ รวมวงเงินกว่า 62,616 ล้านบาท หรือเกินกว่างบจัดสรรได้ล้านบาทถึง 11 เท่า โดยโครงการที่ยื่นของบเข้ามามากที่สุดคือการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์ รวมกว่า 2,339 โครงการ เป็นวงเงินกว่า 9,172 ล้านบาท

มีเกณฑ์ 7 ข้อที่ใช้ในการพิจารณากลั่นกรองโครงการคือ 1.ต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 2.เน้นโครงการที่มีข้อมูลทางเทคนิคของอุปกรณ์มาประกอบการพิจารณา โดยแสดงผลประหยัดที่ถูกต้อง มีระยะเวลาการคืนทุน มีข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากโครงการชัดเจน 3.เน้นโครงการที่ผู้ขอยื่นรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอแทนกันในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน

4.กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานแสดงผลการเบิกจ่ายของปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีรายงานผลความก้าวหน้าของโครงการในปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยแสดงข้อมูลดังกล่าว ณ วันที่ยื่นข้อเสนอโครงการ 5.ไม่สนับสนุนโครงการที่ขอดำเนินการในลักษณะเดียวกับโครงการสาธิตริเริ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ หรือมีการดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว 6.กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผลผลิตภาคการเกษตรจะต้องสามารถวัดผลได้ ว่ามีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร และ 7.ทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องบำรุงรักษาต่อไป

วันที่ 26 ส.ค.2563 ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน เป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 1,035 โครงการคิดเป็น วงเงินที่ให้การสนับสนุน 2,066 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 16 โครงการวงเงินสนับสนุน 535 ล้านบาท และแผนพลังงานทดแทน อนุมัติทั้งหมด จำนวน 1,019 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 1,531ล้านบาท โดยวงเงินที่อนุมัติน้อยกว่ากรอบที่อนุมัติได้ เกือบ 3,600 ล้านบาท

ประเด็นการอนุมัติดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามหน้าสื่อ เพราะไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลโครงการที่ได้รับอนุมัติเป็นการทั่วไป แต่ในแวดวงคนพลังงานโดยเฉพาะจากกลุ่มที่ตั้งใจทำโครงการให้ดีตรงตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ แต่สอบตกไม่ผ่านด่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ นั้นวิจารณ์การอนุมัติงบในปีนี้อย่างหนัก

เครือข่ายอาสาสมัครพลังงาน ร้องเรียนโครงการที่อนุมัติ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าอุปกรณ์ต่างประเทศ ไม่มีคุ้มค่าต่อการสนับสนุน

โดยเครือข่ายอาสาสมัครพลังงาน (อสพน.) และวิสาหกิจพลังงานชุมชนทั่วประเทศ, เครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ยื่นขอสนับสนุนโดยตรงโดยไม่รวมกลุ่มกับนักการเมือง, เครือข่ายผู้ด้อยโอกาสด้านพลังงาน และไม่มีไฟฟ้า จังหวัดพังงา นครศรีธรรมราช เพชรบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา หนองบัวลำภู ขอนแก่น เพชรบูรณ์ สระบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี นครราชสีมา ส่งหนังสือถึง Energy News Center-ENCพร้อมรายละเอียดโครงการที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2563 และชี้ให้เห็นว่าโครงการที่ได้รับการพิจารณาอนุมัติส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าอุปกรณ์เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์จากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความคุ้มค่าต่อการสนับสนุน ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด เพื่อนำมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างน้ำมัน หรือก๊าซ อีกทั้งเมื่อคิดต้นทุนต่อหน่วยพลังงานที่ได้ยังแพงกว่า จึงเป็นการซื้อของแพงมาแทนของถูก ในขณะที่โครงการที่เคยได้รับการอนุมัติไปช่วงก่อนหน้านี้ ต่างมีปัญหาความไม่ยั่งยืน มีอายุการใข้งานไม่กี่ปี ก็ต้องทิ้งเป็นซากไว้ เพราะผู้ขอโครงการมีได้มีการจัดสรรเงินค่าซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์เอาไว้ ผลที่ตามมาคือปัญหาขยะพิษโซล่าเซลล์ในอนาคต

นอกจากนี้โครงการที่ได้รับอนุมัติยังมีวงเงินที่สูงกว่าที่ราคากลางที่กำหนดหลายเท่า สะท้อนถึงส่วนต่างที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งชุดโซลาร์โฮมให้ชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมวงเงินที่ขอรับจัดสรร รวม 424 ล้านบาท ในขณะที่ราคากลางกำหนดไว้เพียง 106 ล้านบาท หรือโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดนครนายก เป็นการขอระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้โครงการสถานีพลังงานชุมชน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 15แห่ง วงเงินที่ขอรับจัดสรรรวม 28 ล้านบาท แต่วงเงินตามราคากลาง 9.6 ล้านบาท เป็นต้น

เครือข่ายชุมชนดังกล่าวยังระบุในหนังสือที่จะขอตรวจสอบการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานซึ่งเป็นเงินของผู้ใช้น้ำมันอย่างใกล้ชิด

ตั้งคำถามเอื้อ 'พ่อค้าโซลาร์สูบน้ำ-ทุนการเมือง' หรือไม่?

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนประเมินภาพรวมการใช้จัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานปี 2563 ซึ่งตั้งต้นมาในช่วงที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการพลังงาน ผู้ผลักดันนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน หรือ Energy for all เริ่มต้นเหมือนเป็นความหวัง ที่จัดสรรเงินจากกองทุนฯไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างคุ้มค่า และตอบโจทย์วัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนฯอย่างแท้จริง แต่พอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี มาเป็น นายสุพัฒนพงษ์ กลายเป็นว่าโครงการที่ได้รับจัดสรรส่วนใหญ่ หากนำไปปฏิบัติจริงก็น่าจะได้ผลเป็นคนละเรื่องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนด เข้าอีหรอบโครงการเดิมๆที่เคยจัดสรรที่ผ่านมาแล้วสร้างปัญหา

คำตอบสุดท้ายที่ถูกตั้งประเด็นไว้ คือพ่อค้าขายระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พ่อค้าระบบโซลาร์โฮมและทุนการเมืองกลายจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด ส่วนประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรงบ อาจจะได้ประโยชน์บ้างในช่วงเริ่มต้นโครงการที่ระบบติดตั้งยังไม่พัง และคนที่เสียประโยชน์ในเกมนี้ คือบรรดาผู้ใช้น้ำมันทั้งหลายที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: