นักกิจกรรมทั่วโลกร่วมออกเคลื่อนไหวใน 'วันต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์'

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3255 ครั้ง

นักกิจกรรมทั่วโลกร่วมออกเคลื่อนไหวใน 'วันต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์'

นักกิจกรรมทั่วโลกร่วมออกเคลื่อนไหวใน 'วันต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์' (World Day for the End of Speciesism) ชวนมารู้จักแนวคิดที่เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วในหมูคนหนุ่มสาวในประเทศไทยและทั่วโลก

เมื่อวันที่ 27-29 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ 6 แล้วที่นักกิจกรรมทั่วโลกต่างมารวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้านสายพันธุ์ เนื่องในโอกาส The World Day for The End of Speciesism และนี่ก็เป็นปีแรกที่นักกิจกรรมชาวไทยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวระดับโลกนี้ และออกมาแสดงจุดยืนต่อต้าน "speciesism" หรืออาจจะแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ ซึ่งอาจจะเป็นแนวคิดที่หลายๆ คนไม่เคยได้ยินมาก่อน

วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ นักเคลื่อนไหวต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ และผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ของซิเนอร์เจีย แอนิมอลอธิบายว่า “การต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์หรือ ‘anti-speciesism’ อาจจะฟังดูแปลกใหม่ ดูเป็นไอเดียจากต่างประเทศ แต่จริงๆ แล้ว มันก็คือการเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจและความเคารพในชีวิตของสายพันธุ์อื่นนอกเหนือไปจากสายพันธุ์มนุษย์ ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นแนวคิดที่ใครหลายๆ คนก็มีอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นแก่นของหลักคำสอนทางพุทธศาสนาอยู่แล้วด้วย เราก็แค่ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนปฏิบัติตนให้ตรงกับแนวคิดนี้ กระแสการเคลื่อนไหวนี้ เรียกร้องให้คนเลิกบริโภคสัตว์ และเลิกอุดหนุนผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่นเสื้อผ้า หรือเครื่องสำอางค์ ที่มีกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดการฆ่า หรือใช้ประโยชน์จากสัตว์”

ในประเทศไทย องค์กรเอกชนซิเนอร์เจีย แอนิมอลได้ริเริ่มโครงการชื่อว่าท้าลอง 22 วัน (www.thaichallenge22.org) ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างล้นหลาม วิชญะภัทร์กล่าวว่า “เราเชิญชวนให้ คนไทยมาลองบริโภคอาหารแบบแพลนต์เบส 100% เป็นเวลา 22 วัน เราเชื่อว่าการไม่บริโภคเนื้อ นม และไข่ของสัตว์นั้นเป็นก้าวแรกในการปฏิบัติตนให้ตรงกับความเชื่อที่เรามีกันอยู่แล้ว ซึ่งก็คือความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์ และการเคารพในชีวิตของสายพันธุ์อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากสายพันธุ์มนุษย์ โครงการท้าลอง 22 วัน ประสบความสำเร็จอย่างมาก ผู้คนมากมายลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และหลังจากจบโครงการไปแล้ว ก็ตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตแบบแพลนต์เบสต่อไป เดือนที่แล้วแค่เดือนเดียวมีคนลงทะเบียนร่วมโครงการเราเกือบ 3,000 คน”

การต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้านสายพันธุ์ หรือ anti-speciesism ยังเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลก ผู้สนับสนุนแนวคิด anti-speciesism นี่เอง อยู่เบื้องหลังการเติบโตอย่างรวดเร็วของ ‘vegan movement’ หรือการเติบโตของผู้มีไลฟ์สไตล์แบบวีแกน ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตแบบไม่เกี่ยวข้องหรือการบริโภคหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มาจากสัตว์ เมื่อปีที่แล้ว นิตยสารชื่อดังระดับโลกอย่าง Forbes ก็ประกาศว่าปี 2019 “ปีของชาววีแกน” (The Year of Vegan) ซึ่งเป็นปีที่ไลฟ์สไตล์แบบวีแกนกลายเป็นกระแสหลัก เนื่องด้วยอิทธิพลจากกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวรุ่นมิลเลนเนียลส์

หนึ่งในนักคิดซึ่งนำเสนอแนวคิดนี้คือ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ นักปรัชญาด้านจริยศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ปีเตอร์ ซิงเกอร์ ให้นิยามการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์หรือ speciesism ว่า คือการเห็นว่าสายพันธุ์ของตนเหนือกว่า ซึ่งในกรณนี้นี้คือสายพันธุ์มนุษย์ และมีอคติต่อสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งในกรณนี้นี้คือสายพันธุ์สัตว์อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากมนุษย์ speciesism ถือว่าสายพันธุ์มนุษย์พิเศษกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งปีเตอร์ ซิงเกอร์กล่าวว่าเป็นความหลงเชื่อแบบผิดๆ นักปรัชญาท่านนี้กล่าวว่า “ข้ออ้างต่างๆ ที่พยายามจะพิสูจน์ความเหนือกว่าของสายพันธุ์มนุษย์มากมายหลายข้อนั้น อย่างไรเสียก็มาต้านข้อเท็จจริงข้อหนึ่งไม่ได้ ซึ่งก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า สัตว์ทุกสายพันธุ์ล้วนเจ็บปวดได้ในระดับที่เท่าเทียมกันทั้งสิ้น

แนวคิดต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้านสายพันธุ์ หรือ anti-speciesism อธิบายว่า เนื่องจากสัตว์ถูกถือว่าด้อยกว่ามนุษย์ สัตว์นับล้านชีวิตจึงถูกใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตอาหาร เสื้อผ้า ความบันเทิงและกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้สัตว์ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส

วิทยาศาสตร์และแนวคิดต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้านสายพันธุ์

วิชญะภัทร์กล่าวเสริมว่า “สังคมทำให้เรามองข้ามงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ นั้นก็มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกัน รู้สึกเจ็บปวดเป็น มีอารมณ์ความรู้สึก อยากจะใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องทนเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และอยากจะสร้างสายสัมพันธ์กับเพื่อนๆ สายพันธุ์เดียวกันหรือต่างสายพันธุ์”

ผลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ ในงานวิจัยต่อเนื่องโดยมหาวิทยาลัยบริสทอล นักวิจัยพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจแม่ไก่สูงขึ้น และร้องเรียกหาลูกบ่อยขึ้น เมื่อเห็นว่าลูกถูกลมเป่าใส่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไก่เรียนรู้ได้จากประสบการณ์ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ไม่สบายตัวเท่าไรนัก งานวิจัยอีกหลายฉบับยังพิสูจน์ว่าวัวมี "เพื่อนสนิท" ที่พวกเขาอยากใช้เวลาอยู่ด้วย พวกเขายังแสดงความรักใคร่เอ็นดูแก่กันและกันโดยการกินอาหารด้วยกัน และเลียเนื้อตัวกันและกัน เมื่อพวกเขาอยู่ด้วยกันเป็นฝูงใหญ่ พวกเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับ"เพื่อนสนิท"

มีงานวิจัยที่ระบุว่าหมูก็เล่นเป็น นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าหมูเล่นเกมได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับหมูตัวอื่นๆ หรือสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ หรือเล่นของเล่นต่างๆ หมูจะวิ่ง กระโดดโลดเต้น หมุนตัว กลิ้งไปมาบนพื้น เอาเท้าเขี่ยและส่ายหัวไปมาเวลาเล่นสนุก เหมือนกับเวลาเด็กเล่นหรือบางครั้งผู้ใหญ่ก็เล่นในลักษณะนี้เช่นกัน

อาณาจักรสัตว์ยังซับซ้อนกว่านี้อีกมาก และแม้จะมีงานวิจัยมากมายหลายฉบับ แต่ก็ยังมีสัตว์อีกมากมายหลายสายพันธุ์ที่เรายังไม่เข้าใจถ่องแท้ อย่างไรก็ดี มิคกี้ ธีรธร กล่อมเกลาผู้จัดการโครงการท้าลอง 22 วันและนักเคลื่อนไหวต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ชาวไทยแย้งว่า สัตว์สายพันธุ์อื่นไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์อะไรให้มนุษย์เราได้เห็น เพื่อให้พวกเขาได้มีสิทธิ์ใช้ชีวิตต่อไปอย่างอิสระ "สัตว์ที่ไม่ใช่สายพันธุ์มนุษย์ เช่นสัตว์น้ำต่างๆ ไม่ได้สื่อสารหรือมีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์เรา แต่เราต้องไม่ประเมินพวกเขาโดยใช้ลักษณะต่างๆ ของมนุษย์เป็นมาตรฐาน และต้องเข้าใจว่า เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่ได้สื่อสารหรือมีพฤติกรรมคล้ายกับสายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเจ็บปวดไม่เป็น"

มิคกี้เชิญชวนให้คนไทยมาเข้าร่วมโครงการท้าลอง 22 วัน (www.thaichallenge22.org) “การเปลี่ยนไปใช้ชีวิตแบบวีแกน ถือเป็นก้าวแรกของการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางสายพันธุ์ มันง่ายกว่าที่คิดนะครับ และยังจะได้พบว่ามีรสชาติใหม่ๆ มากมาย และรู้สึกสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย”

เกี่ยวกับซิเนอร์เจีย แอนิมอล

ซิเนอร์เจียแอนิมอลเป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับสากล ปฏิบัติงานในลาตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่เห็นอกเห็นใจและยั่งยืนกว่าเดิม ใน ค.ศ. 2018 และ 2019 ซิเนอร์เจีย แอนิมอล ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกโดย Animal Charity Evaluators (ACE)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: