สหภาพแรงงานครูมาเลเซีย ชี้ปัญหาสถานการณ์ใหม่ที่เกิดจากวิกฤต COVID-19

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 31 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2156 ครั้ง

สหภาพแรงงานครูมาเลเซีย ชี้ปัญหาสถานการณ์ใหม่ที่เกิดจากวิกฤต COVID-19

สหภาพแรงงานครูแห่งรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ชี้ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจากการการปิดโรงเรียนในช่วงระหว่างการระบาดของ COVID-19 เช่น การเรียนการสอนทางไกล สุขภาพจิตของนักเรียน การสอบ และความไม่เท่าเทียมทางเพศ | ที่มาภาพประกอบ: Malay Mail

ในมาเลเซีย สหภาพแรงงานครูแห่งรัฐซาราวักชี้ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจากการการปิดโรงเรียนในช่วงระหว่างการระบาดของ COVID-19 เช่น การเรียนการสอนทางไกล สุขภาพจิตของนักเรียน การสอบและความไม่เท่าเทียมทางเพศ

นับตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2020 รัฐบาลกลางมาเลเซียออกคำสั่งให้มีการควบคุมความเคลื่อนไหวของประชาชน (Movement Control Order) ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และได้ขยายเวลาออกไปอีกหลายครั้งจนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 2020

ในคำสั่งควบคุมการเคลื่อนไหวได้มีมาตรการปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั้งหมด คำสั่งดังกล่าวระบุว่า “โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนรัฐบาลและเอกชนทุกแห่ง รวมถึงโรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์ฝึกอบรม - โรงเรียนมุสลิมในเขตเมืองและชนบท ตลอดจนสถาบันการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนและศูนย์ฝึกอาชีพจะต้องปิดทำการเรียนการสอนตลอดระยะเวลาของคำสั่งนี้”
ปรับเปลี่ยนไปสู่การเรียนการสอนทางไกล

นายกรัฐมนตรีเสนอแนะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการการเรียนการสอนจากที่บ้านตลอดระยะเวลาของการดำเนินการตามมาตรการควบคุมการเคลื่อนไหว เพื่อให้การศึกษาของเด็กไม่ถูกชะงัก

กระทรวงศึกษาธิการได้ออกคู่มือการเรียนการสอน รวมถึงโปรแกรมการเรียนรู้ MPE-DL ซึ่งลิงค์ไปยังแพลตฟอร์มการเรียนรู้เฉพาะ เช่น Google Classroom และ Microsoft Teams ณ ตอนนี้ มาเลเซียกลายเป็นประเทศอันดับสองของโลกที่ใช้ Google Classroom ในการสอนออนไลน์ช่วงนี้

ข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์

อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานครูแห่งสราวักได้ยกประเด็นปัญหาใหญ่และข้อจำกัดในการเรียนการสอนออนไลน์ ดังนี้

• การเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างจำกัด ในพื้นที่ชนบท นักเรียนไม่สามารถรับข้อมูลออนไลน์จากครู ในบางพื้นที่ของซาราวัก การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแย่มาก

• การขาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงศึกษาธิการได้ศึกษาสำรวจผู้ปกครอง 670,000 คนและนักเรียน 900,000 คน ผลการสำรวจ พบว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนการสอนจากที่บ้านนั้นค่อนข้างจำกัด มีนักเรียนเพียงร้อยละ 6 ที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ร้อยละ 5.76 มีแท็บเล็ต ร้อยละ 9 มีแล็ปท็อปและร้อยละ 46 มีสมาร์ทโฟน

• ครูขาดความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ และยังขาดทักษะการฝึกอบรมและเครื่องมือที่จำเป็นในการสอนออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ

การยกเลิกการสอบ

กระทรวงศึกษาธิการประกาศยกเลิกการสอบในระดับชั้นต่าง ๆ ในปีนี้ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 หลังจากที่ดำเนินการตามมาตรการควบคุมความเคลื่อนไหว นักเรียนเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับความจริงที่ว่า ตารางการศึกษาของพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และขาดการศึกษาที่เพียงพอจากที่บ้าน

สุขภาพจิตของนักเรียน

สหภาพแรงงานครูแห่งรัฐซาราวัก เตือนว่า ผลจากการที่กิจวัตรประจำวันของนักเรียนถูกรบกวนและถูกบังคับให้หลีกเลี่ยงการติดต่อทางสังคมอาจกระทบต่อสุขภาพจิต มีรายงานว่า องค์กรที่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต คือ Befrienders ในกรุงกัวลาลัมเปอร์รับโทรศัพท์เพิ่มขึ้น 13% และ 9% ในจำนวนนี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว
การทำงานจากที่บ้านของเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานครู

นับตั้งแต่มีการดำเนินการตามคำสั่งควบคุมความเคลื่อนไหวของประชาชน เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานครูก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ดังนี้

• เจ้าหน้าที่สหภาพต้องทำงานที่บ้าน พร้อมกับปิดสำนักงานของสหภาพชั่วคราว

• เจ้าหน้าที่สหภาพจะต้องแบ่งปันข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการศึกษาในมาเลเซียเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกจะได้รับการอัพเดทข้อมูลปัจจุบัน

กองทุน COVID-19

สหภาพแรงงานครูแห่งรัฐซาราวักและสหภาพแรงงานอื่น ๆ ในสภาแรงงานภาครัฐและภาคบริการสาธารณะแห่งชาติ (CUEPACS) บริจาคเงิน 10,000 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 2,100 ยูโร) ให้แก่กองทุน COVID-19 ในรัฐซาราวัก
Ahmad Malie ประธาน CUEPACS กล่าวว่า การบริจาคเงินครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐซาราวักในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และได้บริจาคให้แก่ตัวแทนรัฐไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย.

ความไม่เท่าเทียมทางเพศ

สหภาพแรงงานครูแห่งรัฐซาราวักวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากครูผู้หญิงหลายคนสอนทางไกลสลับกับเลี้ยงลูก ก่อให้เกิดความตึงเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่คุ้นเคยกับการทำงานออนไลน์ มีคุณแม่หลายคนที่ทำงานจากที่บ้านออกมาร้องทุกข์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาภายใต้ COVID-19 การบังคับใช้มาตรการควบคุมความเคลื่อนไหว และการเล่นกลไปมาระหว่างการทำตามความต้องการของนายจ้างและครอบครัว

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
https://www.ei-ie.org/en/detail/16801/malaysia-education-union-pivots-to-address-new-situations-caused-by-covid-19-crisis

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: