ในสถานการณ์โควิด 19 สิทธิและเสรีภาพไม่ควรหายไปจากการพัฒนา

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ | 15 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3514 ครั้ง


องค์ประกอบของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย เพราะมีเงื่อนไข หลักเกณฑ์ คุณสมบัติของผู้ลงทุน ตามกฎหมายใหม่ๆ เข้ามาร่วมเป็นองค์ประกอบอยู่เสมอ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการ ความปรารถนา ที่เป็นไปในแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตส่วนบุคคลและสังคมให้ดีขึ้น         

ในโลกสมัยใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ รัฐบาลส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นที่ใช้อำนาจรัฐแทนประชาชนไม่สามารถดำริและผลักดันการพัฒนาเพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป  กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อนำเสนอ แสดงความเห็น ตรวจสอบและคัดค้านการพัฒนาต่างๆ มีความสำคัญในแง่ที่จะทำให้บ้านเมืองตั้งอยู่บนครรลองของการใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับการตั้งอยู่บนครรลองของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมที่ขัดต่อหลักนิติธรรม

อย่างน้อยที่สุด  หลักนิติธรรมก็ได้สร้างพันธะสัญญาต่อกัน ระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งประกันซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมบริหารจัดการและพัฒนาบ้านเมือง  จึงเป็นความเหมาะสมที่หลักนิติธรรมจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการพัฒนาในโลกสมัยใหม่  หากปราศจากหลักนี้แล้วก็เป็นการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องเหมาะสม ไม่ถูกทำนองคลองธรรม  เท่าที่ควร

การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.​ 2548  หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโรคโควิด 19  มีอำนาจที่ล้นเกินไปกว่าการควบคุมโรคปรากฎออกมาให้เห็น  นั่นคือ  มาตรการต่าง ๆ ที่จะทำให้ประชาชนไม่รวมตัวกันและเว้นระยะห่างทางสังคม  ไม่ว่าจะเป็นการขอให้กักตัวอยู่กับบ้านหรือที่พักอาศัยในเวลาปกติ  และบังคับให้อยู่กับบ้านหรือที่พักอาศัยเวลาเคอร์ฟิว การกักกัน การหยุดบริการรถขนส่งมวลชนทั้งในและระหว่างเมือง  การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด  การหยุดประกอบอาชีพการงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภท การงดเว้นจัดประชุม  สัมมนา  หรือกิจกรรมต่าง ๆ  ฯลฯ  ในด้านการควบคุมโรคก็ส่งผลดีพอสมควรต่อการระงับยับยั้งการแพร่กระจายโรคไม่ให้ลุกลามออกไปจนควบคุมไม่อยู่  แต่อีกด้านหนึ่งกลับสร้างผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพโดยชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของประชาชน  เพื่อแสดงความคิดเห็น และชุมนุมเรียกร้อง ประท้วง ขัดขืน คัดค้าน หรือการแสดงออกอื่นใดก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนา นโยบาย กฎหมายหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา

ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และโดยชอบธรรม  อันเป็นเครื่องมือ  กลไกและวิธีการสำคัญในการสร้าง ‘พลังพลเมือง’ ให้กับประชาชน เพื่อเข้าไปลดอำนาจ ตรวจสอบ  กำกับ  ควบคุม  มีส่วนร่วมกับรัฐและเอกชนที่ผลักดันการพัฒนา นโยบาย กฎหมายหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ที่ก่อผลกระทบและไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ให้เกิดการระงับ ยับยั้ง ชะลอ ยกเลิก ปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น 

ในขณะที่เครื่องมือ  กลไกและวิธีการของพลังพลเมืองต้องหยุดชะงักภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่กลไกรัฐกลับผลักดันการพัฒนา นโยบาย กฎหมายหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาออกมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการผลักดันการพัฒนาที่สวนทางกับคุณค่าของโลกสมัยใหม่ที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่เสมอ

มีการนำวิกฤติการณ์จากโรคโควิด 19 มาผสมโรง ฉวยโอกาสและเป็นข้ออ้างในการผลักดันการพัฒนา นโยบาย กฎหมายหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลายเรื่อง  เพื่อหวังจะอนุมัติงบประมาณได้ง่ายขึ้น หรือลด ลัด ตัดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป 

บางเรื่องเป็นโครงการที่มีอยู่ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่กลับเอาโรคโควิด 19 มาผสมโรง เช่น การเร่งรัด ‘โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก’ ของกระทรวงพลังงาน  ที่เปิดช่องให้เอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบก่อน  โดยให้รับฟังความเห็นจากชุมชนหลังมีการอนุมัติโครงการได้  โดยอ้างว่าเป็นแผนการที่สอดรับกับการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ของรัฐบาล  ที่ผ่อนผันให้ไม่ต้องรับฟังความเห็นจากชุมชนก่อน  เมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติแล้วจึงค่อยไปดำเนินการภายหลัง 

บางเรื่องแม้ไม่ได้เอาโรคโควิด 19 มาอ้าง แต่ก็ปล่อยให้การพัฒนาเดินหน้าต่อไปอย่างเอาเปรียบประชาชน โดยปิดตายช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน และขาดซึ่งสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนไหว เช่น การปล่อยให้มีการทำเหมืองหินปูนบนภูผาฮวก ในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ต่อไป และการทำเหมืองชนิดอื่น ๆ ต่อไปในหลายๆ พื้นที่ที่มีประชาชนคัดค้าน แต่ไม่สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการนั้นได้  เพราะเกรงความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือถึงออกมาเคลื่อนไหวได้บ้าง ก็ไม่สามารถสร้างพลังต่อรองได้มากนัก  เพราะไม่สามารถปฏิบัติการให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องที่ต้องรวมตัวกันอย่างมีพลังได้มากนัก เพราะติดเงื่อนไขการเว้นระยะห่างทางสังคมตามสำนึกรับผิดชอบของประชาชนเอง  และตามความผิดของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

จนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ได้ทำการรณรงค์ออนไลน์ ‘ล็อคดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง’ และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หยุดการให้สัมปทานเหมืองต่างๆ เอาไว้ก่อน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์โควิด 19 เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกับรัฐและเอกชน และมีสิทธิและเสรีภาพเพื่อแสดงความคิดเห็นและชุมนุมสาธารณะในการสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐและเอกชน ได้ดีกว่านี้ แต่พื้นที่โครงการทำเหมืองแร่โปแตชและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน พื้นที่หนึ่งของการรณรงค์นี้ ก็ยังมิวายโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรหัวทะเล ต.หัวทะเล  อ.บำเหน็จณรงค์  จ.ชัยภูมิ  ข่มขู่บังคับโดยพาตัวไปกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ที่สถานีตำรวจ และบังคับให้รับสารภาพว่าได้อ่านแถลงการณ์ล็อคดาวน์เหมืองแร่ฯบนพื้นที่สาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายก่อน รวมถึงข่มขู่ว่าจะดำเนินการเอาผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โทษฐานฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ตามสองกฎหมายนี้ด้วย  

บางเรื่องก็ตั้งใจฉวยโอกาสกลั่นแกล้งประชาชนให้ได้รับทุกข์สาหัสทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้นไปอีก  ท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19 ที่ห้ามกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากเสียจนประชาชนหลายล้านคนต้องตกงาน ถูกหยุดงาน ถูกชะลองาน ถูกพักงาน ขายของไม่ได้  ฯลฯ ทำให้ขาดแคลนกำลังซื้อหาอาหาร  ของกินของใช้  สิ่งอำนวยความสะดวก  และปัจจัยยังชีพในชีวิตประจำวัน  ต้องปากกัดตีนถีบเพื่อให้ชีวิตตัวเองและครอบครัวอยู่รอดให้ได้  เช่น  การระดมพลจากเจ้าหน้าที่ กทม. และบริษัทรับเหมาเตรียมเข้าไล่รื้อถอนแผงลอยที่ตลาดลาว คลองเตย  ทั้ง ๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจามาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา (สุดท้าย  ตัวแทนผู้ค้าขายได้พากันยื่นจดหมายอุทธรณ์  จน กทม. ได้ประกาศชะลอการรื้อย้ายในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ออกไปก่อน)    

‘โครงการกำแพงกันคลื่น’ ความยาว 710 เมตร  ของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่เร่งดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา  เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและปรับปรุงภูมิทัศน์ริมชายหาดม่วงงาม  ก็เริ่มมีการตอกเสาเข็มลงไปบนชายหาด โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วย  เนื่องจากชายหาดม่วงงามไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด  ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ฉวยโอกาสจากสถานการณ์โควิด 19  เพื่อเร่งรัดงบประมาณ  และตัดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป

‘โครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ’ ภายใต้โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต  ที่ทะเล อ.จะนะ จ.สงขลา ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เร่งดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่  ระหว่างวันที่ 14 – 20 พฤษภาคมนี้  ซึ่งเป็นช่วงเวลาการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  ก็เพื่อตัดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาโครงการนี้ออกไป  เหตุเพราะว่ามีกลุ่มทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อรองรับโครงการนี้ไว้เกือบหมดแล้ว  จึงต้องทำให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปโดยไร้อุปสรรคขัดขวางจากประชาชนในพื้นที่ให้ได้ 

ล่าสุด  การเร่งรัดโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563  โดยมีสาระหลัก  คือ  ให้หน่วยงานราชการต่างๆ เร่งจัดทำแผนงานหรือโครงการเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้  โดยแบ่งเป็นแผนงาน/โครงการต่าง ๆ สามด้าน  สองด้านแรกเกี่ยวกับโรคโควิด 19 โดยตรง ค่อนข้างพลิกแพลงยาก  คือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข  และด้านช่วยเหลือเยียวยา  แต่ด้านที่สามน่าจะมีปัญหาสุด  คือ  ด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ เพราะกินความกว้างขวาง  จึงคาดได้ว่ากระทรวงต่าง ๆ น่าจะไปเก็บเอาโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 มาเสนอเต็มไปหมด  ไม่เว้นแม้กระทั่งโครงการต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้ว  เช่น  ‘โครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ’  ภายใต้โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต  ที่ทะเล อ.จะนะ จ.สงขลา  เป็นต้น   

หรืออาจจะมีโครงการหน้าตาแปลก ๆ เชื่อมโยงเข้าหากันระหว่าง  ‘ภัยแล้ง - โควิด 19’  และ  ฝุ่นพิษจาก ‘ฝุ่น PM 2.5 - โควิด 19’  เพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลวของการบริหารกิจการบ้านเมืองของรัฐในสองเรื่องดังกล่าว  ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา  ที่ซ้อนทับกับช่วงเวลาของการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 พอดิบพอดี  ที่รัฐปล่อยปละละเลยเสียจนทำให้หลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคในบ้านเมืองต้องประสบวิกฤติรุนแรงจากภาวะภัยแล้งและฝุ่นพิษจากฝุ่น PM 2.5    

นี่คือสิ่งเลวร้ายจากการพัฒนาที่เกี่ยวพันกับชีวิตประชาชน  ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถ้าไม่ใช่เรื่องผลกระทบด้านลบที่คนในพื้นที่ต้องแบกรับด้วยการแลกกับสุขภาพ  คุณภาพชีวิต  สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่เสื่อมโทรมลง ก็เป็นเรื่องภาระผูกพันด้านงบประมาณแห่งรัฐที่ใช้ประชาชนเป็นตัวประกันในการกู้เงิน  และประชาชนอย่างเราๆ ต้องรับผิดชอบใช้หนี้เงินกู้ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ด้วยการที่รัฐต้องผลักดันนโยบาย  กฎหมายและโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ควบคุม  รวมศูนย์และผูกขาดทรัพยากรประเภทต่างๆ,  ลดการช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ, และลิดรอนสิทธิ  เสรีภาพและรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชนมากยิ่ง ๆ ขึ้น  เพื่อเป็นพันธะสัญญาหรือหลักประกันต่อเจ้าหนี้ว่าทรัพยากรประเภทต่าง ๆ ที่ผูกขาดไว้  สามารถนำไปส่งเสริมและสนับสนุนให้สัมปทานแก่เอกชน  หรือนำไปแปรรูปให้เอกชนเข้ามาครอบครองกิจการแทนรัฐวิสาหกิจ  ได้อย่างกว้างขวางและเต็มกำลัง (ดังเช่น  เงื่อนไขหนึ่งของการกู้เงินจากธนาคารโลกในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540  คือการเร่งรัดผลักดันให้เกิดการแปรรูปน้ำจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ  และเร่งรัดออกกฎหมายน้ำ เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาค้าขายทำกำไรในกิจการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคให้มากขึ้น),  เงินที่ดึงมาจากการเก็บไว้ใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการทั้งหลายของประชาชน  จะถูกนำมาชดใช้หนี้ให้อย่างแน่นอน,  และสิทธิ  เสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่ถูกจำกัดหรือรุกล้ำมากขึ้นโดยรัฐ  จะไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาใด ๆ เพื่อนำเงินและสินทรัพย์มาชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างแน่นอน 

สุดท้ายนี้  สิ่งที่รัฐต้องทำในสถานการณ์โควิด 19  คือ  ‘รักษาชีวิตกับสิทธิและเสรีภาพ’ ควบคู่ไปด้วยกัน  โดยที่มาตรการล็อคดาวน์  การกักกัน รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เพื่อควบคุมและต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ควรดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มงวด  ดังนั้นแล้ว การพัฒนาไม่ควรมาพร้อมกับข้ออ้างความเจริญทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  หรือไม่ควรมาพร้อมกับข้ออ้างการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด 19 เพียงอย่างเดียว แต่ควรมาพร้อมกับปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย  เพราะสิทธิและเสรีภาพอยู่เป็นเนื้อเดียวกับการพัฒนามาเนิ่นนานแล้ว

หากปฏิบัติไม่ได้  ก็ควรหยุด ระงับ ยับยั้ง ชะลอ การพัฒนา นโยบาย กฎหมายหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเอาไว้ก่อน อย่างน้อยที่สุด (แม้ไม่อยู่ในสถานการณ์ของโรคโควิด 19  ธรรมชาติของรัฐ  ไม่ว่ารัฐแบบใด  ก็พยายามใช้อำนาจเพื่อทำลายหรือลดทอนสิทธิและเสรีภาพในการพัฒนามาโดยตลอด  เช่น  ในยุครัฐประหาร 2557  ที่ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  และกฎหมายชุมนุมสาธารณะ  เพื่อปิดกั้นและกดปราบสิทธิและเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไปจากกระบวนการพัฒนา)  ก็จนกว่าสถานการณ์โรคโควิด 19 จะคลี่คลาย  ควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างชัดเจนแล้ว  และจนกว่าจะยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไปเสียก่อน


 

 

ที่มาภาพ: Facebook สื่อเถื่อน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: