ส่องมาตรการญี่ปุ่น ช่วยลูกจ้างอย่างไรในวิกฤตโควิด-19

ดร. สุดปรารถนา ดวงแก้ว | ผศ.ดร. รัตติยา ภูละออ | วิทยาลัยประชากรศาสตร์ และศูนย์ประสานงานวิจัยแรงงาน ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | 30 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5296 ครั้ง

ส่องมาตรการญี่ปุ่น ช่วยลูกจ้างอย่างไรในวิกฤตโควิด-19

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าให้คุณค่าต่อการพัฒนา “คน” มากที่สุดแห่งหนึ่งเพราะให้ความสำคัญกับการ Kyoikukunren (教育訓練: business education and training) (Morikawa, 2018)[1]  และมีการ Reskill (เรียนรู้ทักษะใหม่) หรือ/และ Upskill (พัฒนาทักษะเดิมให้สูงขึ้น) โดยตลอด

เมื่อโลกค่อยๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้หุ่นยนต์เข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน แต่แล้ววิกฤตโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งให้มีการนำเทคโนโลยีและระบบหุ่นยนต์และอัตโนมัติมาเร็วขึ้น เร่งให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการดึงเทคโนโลยีและหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานยิ่งขึ้น 

มาตรการของญี่ปุ่นในภาวะวิกฤตโควิด-19  

ในภาวะวิกฤตโควิด-19  กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้ออกมาตราการช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการรักษาการจ้างงานภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการ รักษาสถานภาพการจ้างงาน รวมถึงบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานจากการถูกลดค่าจ้าง การปลด การเลิกจ้าง และการไม่ต่อสัญญา

มาตรการที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจัดให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจและแรงงาน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2563  (Ministry of Health, 2020 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 )[2]  สรุปได้เป็น 2 ส่วนคือ สนับสนุนเงินชดเชยและสนับสนุนเพิ่มเติมกรณีมีการอบรมพัฒนาทักษะ โดยจะได้รับเงินอุดหนุนไม่เกิน 100 วันในรอบ 1 ปี หรือไม่เกิน 150 วันในรอบ 3 ปี ดังนี้

  1. สนับสนุนเงินชดเชยให้กับธุรกิจเพื่อส่งต่อไปยังแรงงาน

    กรณีที่ธุรกิจจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว จ่ายเงินชดเชยแก่แรงงานในช่วงวิกฤตนี้ จะออกเงินช่วยบริษัทขนาดกลางและเล็กในสัดส่วน 80% ของค่าแรงทั้งหมด และบริษัทขนาดใหญ่ในสัดส่วน 2/3 ของค่าแรงทั้งหมด (แต่วงเงินไม่เกิน 8,330 เยน (ราว 2,500 บาท) ต่อคนต่อวัน) 

    กรณีที่ธุรกิจมีพนักงานติดเชื้อไวรัสและไม่เลิกจ้าง จ่ายเงินชดเชยแก่แรงงานในช่วงวิกฤตนี้ จะให้เงินช่วยเหลือบริษัทขนาดกลางและเล็ก 90% ของค่าแรงทั้งหมด (อาจสนับสนุนทั้งหมด โดยมีเพดานที่ 8,330 เยนต่อคนต่อวัน) และบริษัทขนาดใหญ่ในสัดส่วน 75% ของค่าแรงทั้งหมด
  1. สนับสนุนเงินให้มีการพัฒนาทักษะแรงงานในทุกระดับ รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มมาตรการพัฒนาทักษะแรงงานโดยส่งเสริมให้บริษัทที่ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานหรือการ Reskill/Upskill ซึ่งสามารถฝึกอบรมผ่านระบบ Online จากที่บ้านได้ โดยประกาศให้เงินช่วยเหลือพิเศษแก่บริษัทที่จัดฝึกอบรมแก่พนักงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทุกสาขาธุรกิจและครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการที่มีแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมจ้างงาน เช่น ผู้ที่ทำงานpart-time งานพิเศษ (รวมถึงนักศึกษา) จะให้เงินสนับสนุนบริษัทขนาดกลางและเล็ก 2,400 เยน (ราว 720 บาท) ต่อคนต่อวัน และบริษัทขนาดใหญ่ 1,800 เยน (ราว 540 บาท) ต่อคนต่อวัน

การสนับสนุนการ Reskill/Upskill ของภาครัฐนี้มีเงื่อนไขคือต้องเป็นการฝึกอบรมที่ต้องส่งเสริมให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น บริษัทสามารถตัดสินใจและจัดหัวข้อการฝึกอบรมให้แก่พนักงานตามความเหมาะสมของบริษัทได้ เช่น การพัฒนาเทคนิค ปรัชญาการบริหาร กลยุทธ์การตลาด การพัฒนาคุณภาพชิ้นงาน ภาษา ISO การโค้ชชิ่ง การจูงใจทำงาน ทักษะการเป็นผู้นำ การวิเคราะห์การเงิน เป็นต้น แต่ยกเว้นการอบรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลผลิตในการทำงาน เช่น มารยาททางธุรกิจ การฝึกพูดที่ดี การฝึกฟังที่ดี กรณีที่ฝึกอบรมครึ่งวันก็เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือจำนวนครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ปกติที่จำเป็นต้องใช้วิทยากรจากภายนอกแล้วก็ยังสามารถให้พนักงานที่เชี่ยวชาญเป็นวิทยากรจัดอบรมภายในบริษัทก็สามารถยื่นขอรับเงินสนับสนุนได้เช่นกัน 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตราการในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

ช่องทางการสนับสนุน Reskill/Upskill โดยภาครัฐ รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่จัดฝึกอบรมโดยตรง ซึ่งเป็นการเน้นส่งเสริมให้พนักงานบริษัทของตนทั้งในระบบและนอกระบบทำงานได้อย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามความเหมาะสม ในขณะที่รัฐบาลไทยจัดอบรมผ่านกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในลักษณะการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เน้นให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน และแรงงานที่ต้องหยุดงานจากสถานประกอบกิจการหยุดกิจการชั่วคราว แม้ว่าบริษัทต่างๆ จะยังสามารถได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานพ.ศ. 2545 แต่ไม่ได้มีมาตราการเพิ่มเติมพิเศษในช่วงโควิด -19

การออกแบบเนื้อหาการฝึกอบรม Reskill/Upskill รัฐบาลญี่ปุ่นให้ภาคเอกชนจัดหลักสูตรด้วยตนเองแก่พนักงานโดยภาครัฐทำหน้าที่เพียงสนับสนุนทางการเงินแก่สถานประกอบการที่จัดหลักสูตร ส่วนรัฐบาลไทย กำหนดแผนการฝึกอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมการจัดหางานโดยตรง

ระยะเวลาในการฝึกอบรมในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนที่ไม่เกิน 100 วันในหนึ่งปี ในขณะที่รัฐบาลไทยจัดการฝึกอบรมระยะเวลา 15 วัน

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจะได้เงินชดเชยสัดส่วนร้อยละ 60-80 แก่บริษัทที่ปิดกิจการชั่วคราว แต่ทว่าบริษัทที่จัดให้พนักงานเข้ารับการฝึกอบรมจะสามารถยื่นขอรับเงินชดเชยได้ร้อยละ 100 ตัวพนักงานเองหากได้รับเงินเดือนเต็มที่ก็จะทำให้รู้สึกมั่นคงและป้องกันไม่ให้พนักงานลาออกงานกลางคัน การจัดอบรมออนไลน์ และจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญในทักษะสูงขึ้นและให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในบริษัทโดยจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

ส่วนในประเทศไทยเน้นให้แรงงานมีงานทำ สร้างทักษะอาชีพ และนำมาซึ่งการสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ส่วนหัวข้อการอบรมของไทย เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ บาริสต้ามืออาชีพ การใช้สมาร์ทโฟนสร้างยอดขาย การทำขนม การประกอบอาหาร การประกอบธุรกิจกาแฟ โดยมีระยะการฝึก 15 วันและมีรายได้ระหว่างการฝึกอบรมวันละ 150 บาทเพื่อ Reskill/Upskill แรงงานอิสระหรือนอกระบบเพื่อประกอบอาชีพอิสระและมีรายได้สำหรับใช้จ่ายในครอบครัวทั้งระยะสั้นและระยะยาว (มติชนออนไลน์, 2020)[3]  

พัฒนาแรงงานไทยกับก้าวต่อไปหลังโควิด 19

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเร่งให้ความช่วยเหลือการ Reskill และ Upskill โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ การสร้างงาน สร้างอาชีพอิสระ สนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการเน้น Reskill โดยเฉพาะสาขาการบริการ และสาขาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่มีแรงงานจำนวนมากและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาก อย่างไรก็ตามรัฐบาลควรส่งเสริมการ Reskill/Upskill แรงงานในระบบด้วย เช่น การเพิ่มทักษะภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ทักษะเทคนิคให้มีความเชี่ยวชาญระดับสูงขึ้น ทักษะการเป็นผู้นำระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเป็นระบบ Online มากขึ้น ทำให้แรงงานหลายภาคส่วนได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จึงอาจเป็นโอกาสให้รัฐบาลไทยสามารถสนับสนุนและกระตุ้นให้บริษัทมีการพัฒนาแรงงานไทยให้มากขึ้นทั้งด้าน Reskill และ Upskill โดยใช้มาตรการด้านการสนับสนุนด้านการเงิน หรือสนับสนุนเครื่องมือ online รวมถึงวางแผนการพัฒนาทักษะที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตจากการทำงานได้เหมาะสม และเป็นแรงงานที่สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในยุคดิจิทัลได้

คงไม่ดีแน่ ถ้าขณะที่เจอโควิด-19 เราหยุดอยู่กับที่และไม่พัฒนาศักยภาพ แต่ประเทศอื่นๆ กำลังพัฒนาแรงงานและผลิตภาพแรงงานไม่หยุดยั้ง และน่าจะเป็นความท้าทายในการฟื้นคืนหลังจากเจอโควิด-19

 


 

[1] Morikawa, M. (2018). Corporate Education and training investment and productivity. Retrieved from https://www.rieti.go.jp/jp/publications/dp/18j021.pdf

[2] Ministry of Health, L. a. W. (2020b). (Employment adjustment subsidy. Retrieved from https://www.mhlw.go.jp/stf/seisakunitsuite/bunya/koyou_roudou/koyou/kyufukin/pageL07.html

[3] มติชนออนไลน์. (2020). กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเคาะมาตรการช่วยเหลือแรงงานอิสระรับผลกระทบ ‘โควิด-19’ ฝึกอาชีพฟรี! 7,800 คน เบี้ยเลี้ยง 150/วัน. Retrieved from https://www.matichon.co.th/covid19/news_2152827

 

ที่มาภาพประกอบ: Khaosod

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: