จับตา: คดีความรุนแรงในครอบครัวปี 2561 ชั้นตำรวจมีแค่ 198 คดี ฟ้องศาลแค่ 48 คดี

กองบรรณาธิการ TCIJ 26 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1459 ครั้ง


ข้อมูลจากรายงานตาม ม.17 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2561 พบผู้ถูกกระทำความรุนแรง เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล จำนวน 440 แห่ง จำนวนถึง 14,237 ราย แต่เมื่อถึงชั้นแจ้งความมีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเพียง 198 คดี สำนักงานอัยการสูงสุด มีจำนวนคดีสั่งฟ้อง 150 เรื่อง และสำนักงานศาลยุติธรรม มีคดีฟ้องต่อศาล 48 คดี | ที่มาภาพประกอบ: DianaERios (Pixabay License)

ข้อมูลจาก สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 24 มี.ค. 2563 ระบุว่าคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2561 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 17 บัญญัติให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีแสดงจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ และจำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลและจำนวนการยอมความ และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบปีละครั้ง ดังนั้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว พม. จึงได้จัดทำรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ ประจำปี 2561 ประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วน ดังนี้

1. ส่วนที่ 1 ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวปี 2561 ที่รวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 3) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 4) ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ 5) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 6) บ้านพักเด็กและครอบครัว กรมกิจการเด็กและเยาวชน 7) สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยฯ 8) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 9) ศูนย์บริการปรึกษา สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย 10) สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ฯ 11) มูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์)  12) มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 13) มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย 14) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว 15) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ พม. ใช้อ้างอิงในการดำเนินงานมาจาก 2 หน่วยงาน ได้แก่
 

หน่วยงาน รายละเอียด
1. กระทรวงสาธารณสุข - ผู้ถูกกระทำความรุนแรง เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล จำนวน 440 แห่ง หรือจำนวน 14,237 ราย ในจำนวนนี้ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิง จำนวน 13,248 ราย รองลงมาเป็นเพศชาย จำนวน 972 ราย และเพศทางเลือก จำนวน 17 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 39 รายต่อวัน ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงจากหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ข้อมูลจากสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร แสดงประเภทความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว สำหรับจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่ ความรุนแรงทางร่างกาย จำนวน 1,290 ราย รองลงมา คือ ความรุนแรงทางจิตใจ 91 ราย และความรุนแรงทางเพศ จำนวน 85 ราย ของจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งหมด
2. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. - ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เว็บไซต์ www.violence.in.th แสดงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติฯ โดยจำแนกตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ช่วงอายุ ประเภท สาเหตุ และสถานที่เกิดเหตุการณ์ ความรุนแรงในครอบครัวที่บันทึกในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,299 เหตุการณ์ ซึ่งจังหวัดที่มีการบันทึกในระบบมากที่สุด 5 จังหวัดแรก ได้แก่ ราชบุรี กรุงเทพมหานคร น่าน กาญจนบุรี และเชียงใหม่ ทั้งนี้ จังหวัดที่มีการรายงานจำนวนรายกรณีเข้ามามาก เนื่องจากในจังหวัดมีทีมสหวิชาชีพที่เข้มแข็งหรือมีเครือข่ายที่ร่วมให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง บางจังหวัดมีการรายงานข้อมูลน้อย เนื่องจากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นจำนวนน้อยหรือมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากแต่ไม่มีการรายงานเข้าสู่ระบบ

 

2. ส่วนที่ 2 ข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้แก่ จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลและจำนวนการยอมความ โดยเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
 

ข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงาน
และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียด
1. หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน     - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว 198 คดี คำสั่งกำหนดมาตรการฯ 27 คำสั่ง มีการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการ 19 คำสั่ง การยอมความชั้นสอบสวน 30 คำสั่ง
   - สำนักงานอัยการสูงสุด มีจำนวนคดีสั่งฟ้อง 150 เรื่อง ไม่ฟ้อง 4 เรื่อง ยุติคดี 9 เรื่อง และใช้มาตรการ 2 เรื่อง
   - สำนักงานศาลยุติธรรม มีคดีฟ้องต่อศาล 48 คดี
2. ข้อมูลคดีตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เว็บไซต์ www.violence.in.th    ในปี 2561 จำนวน 461 คดี ในจำนวนนี้ มีคดีอยู่ในชั้นไกล่เกลี่ยของตำรวจมากที่สุด จำนวน 146 คดี และที่อยู่ระหว่างกระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ 91 คดี และคดีที่ศาลสั่งลงโทษ จำนวน 72 คดี และที่ร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ จำนวน 93 คดี
3. ข้อมูลตามบันทึกการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตามแบบรายงานการดำเนินการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว    ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2561 มีการให้ความช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น 1,804 ความช่วยเหลือ ได้แก่ การระงับเหตุและสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว / ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 540 ราย รองลงมา คือ การจัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์มากที่สุด คือ จำนวน 468 ราย และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ จำนวน 284 ราย เช่น การไกล่เกลี่ยทำบันทึกข้อตกลงระหว่างทั้งสองฝ่าย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ/ดำเนินการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัว และให้คำแนะนำเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550

 

3. ส่วนที่ 3 บทวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและต่อการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในปี 2561 สำหรับข้อเสนอแนะ   เชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่

3.1 การพัฒนาระบบงานต้นแบบในพื้นที่ ดำเนินการเกี่ยวกับหน่วยงานส่วนภูมิภาคและเครือข่ายชุมชนในการสร้างต้นแบบระบบงานป้องกัน เฝ้าระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

3.2 การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรเครือข่ายในกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

3.3 การพัฒนาระบบงานการคุ้มครองช่วยเหลือ พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสหวิชาชีพ องค์กรเครือข่ายทั้งภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับระบบการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวในการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครอง กรณีความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างเป็นระบบ

3.4 การดำเนินการเสริมสร้างความตระหนักในปัญหาความรุนแรง การขับเคลื่อนกระบวนการรณรงค์ลดความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งร่วมกับองค์กรเครือข่ายในการจัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวตามวาระที่เหมาะสม และผลิตสื่อและเอกสารวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันแก้ไขความรุนแรงในครอบครัวแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป

3.5 การพัฒนากฎหมายฉบับใหม่ ๆ ในการคุ้มครองบุคคลในครอบครัว โดยส่งเสริมให้มีกลไกส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งและคุ้มครองสถาบันครอบครัวจากความรุนแรง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: