แรงงานใน ‘กัมพูชา-พม่า’ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 14 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3456 ครั้ง

แรงงานใน ‘กัมพูชา-พม่า’ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19

การระบาดทั่วโลกของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและทำลายตำแหน่งงานนับพันตำแหน่งในระบบห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กัมพูชาและพม่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในภูมิภาคนี้  | ที่มาภาพประกอบ: IndustriALL

เนื่องจากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศจีน และจากการที่จีนลดการผลิต เจ้าของโรงงานในกัมพูชาและพม่าจึงเริ่มหยุดผลิตชั่วคราวและลดต้นทุนแรงงาน

โรงงานนับสิบแห่งในกัมพูชาแจ้งรัฐบาลว่าจะระงับการผลิต และคาดว่าจะมีโรงงาน 200 แห่งในภาคอุตสาหกรรมนี้ที่จะระงับหรือลดกำลังการผลิต แหล่งข่าวแห่งหนึ่งรายงานว่า แรงงานกัมพูชาจำนวน 5,000 คนตกงานไปแล้ว

โรงงานที่หยุดการผลิตจะต้องจ่ายค่าจ้าง 60% ของค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่รัฐบาลกัมพูชาได้เสนอให้นายจ้างที่ได้รับผลกระทบจ่ายเพียง 20%

ในช่วงหยุดผลิตชั่วคราว พนักงานจะต้องรับการฝึกอบรมของกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพในสถานที่ทำงาน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในพม่าก็รุนแรงเช่นกัน สมาพันธ์แรงงานแห่งพม่าส่งสัญญาณเตือนภัยแล้ว จากการที่วัตถุดิบขาดแคลน ทำให้โรงงานปิดไป 16 แห่งและปลดพนักงาน 7,000 คน

ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานแห่งพม่าจะประชุมกับนายจ้างและรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งพม่า (IWFM) สมาชิกของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลก จะเข้าพบกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่จ้างโรงงานพม่าผลิต เพื่อหารือเรื่องผลกระทบต่อแรงงาน

“ยังมีมาตรการเชิงนโยบายที่สามารถดำเนินการได้” Khaing Zar ประธาน IWFM กล่าว

“รัฐบาลสามารถตั้งกองทุนพิเศษเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาลดภาษีค่าไฟฟ้าและให้สินเชื่อแก่นายจ้าง”

Annie Adviento เลขาธิการสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาระมัดระวังเรื่องการอนุมัติปรับลดค่าจ้างขั้นต่ำ

"มันเป็นมาตรการฉุกเฉินที่นายจ้างสามารถหาประโยชน์ได้ง่ายๆ จากการไม่จ่ายค่าจ่ายขั้นต่ำให้คนงาน รัฐจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการฉ้อโกงคนงาน“

"รัฐบาลจะต้องรักษางานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรแทรกแซงเมื่อคนงานขาดรายได้ และทั้งกัมพูชาและพม่าก็เข้าร่วมโครงการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าของ ILO ซึ่งมุ่งสร้างงานและคุ้มครองทางสังคมให้แก่แรงงาน”

 

ที่มาเรียบเรียงจาก

http://www.industriall-union.org/workers-in-cambodia-and-myanmar-hit-hard-by-coronavirus-fall-out

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: