‘สมัชชาอนามัยโลก’ ปรับตัวรับ COVID-19 ถอดบทเรียนออนไลน์ครั้งแรก-ร่นเวลาประชุมเหลือ 2 วัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1684 ครั้ง

‘สมัชชาอนามัยโลก’ ปรับตัวรับ COVID-19 ถอดบทเรียนออนไลน์ครั้งแรก-ร่นเวลาประชุมเหลือ 2 วัน

รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ถอดบทเรียน 'สมัชชาอนามัยโลก' สู่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 มีการปรับตัวรับโควิด-19 ครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดวงถกออนไลน์เป็นครั้งแรก ร่นระยะเวลาจาก 2 สัปดาห์เหลือเพียง 2 วัน แต่ยังมีข้อจำกัด-อภิปรายไม่ครบถ้วน คาดจะเปิดประชุมอีกครั้งปลายปีนี้

29 พ.ค. 2563 ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดประชุมสมัชชาอนามัยโลก ผ่านรายการ THE STANDARD Daily เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ทุกปีๆ องค์การอนามัยโลก (WHO) จะมีการจัดสมัชชาอนามัยโลก ซึ่งจะมีผู้ตัวแทนจากประเทศสมาชิกรวมทั้งหมด 194 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือแสวงหาฉันทมติในบางเรื่องร่วมกัน

ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว การจัดสมัชชาอนามัยโลกจะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยใช้ระยะเวลาราว 15-18 วัน พูดคุยทั้งในด้านการบริหารจัดการ เช่น การเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ แผนและรายงานการเงินต่างๆ รวมถึงการระดมสมองเพื่อทำงานสาธารณสุขในแต่ละด้าน ทว่าในปีนี้มีความแตกต่างออกไป เนื่องจากไม่สามารถจัดประชุมแบบปกติได้ จึงเป็นการประชุมออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน ซึ่งจัดประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ 18 -19 พ.ค.ที่ผ่านมา

“เมื่อเวลาในการพูดคุยมีน้อยลง ประเด็นการพูดคุยก็จำกัด และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดออนไลน์เต็มรูปแบบ ฉะนั้นจึงอาจไม่สะดวกและเต็มที่ในด้านการแสดงความคิดเห็น เรื่อง time zone แต่ละประเทศที่แตกต่างกัน รวมทั้งเรื่องความพร้อมของเทคโนโลยีแต่ละประเทศสมาชิกด้วย จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการจัดอีกรอบในช่วงปลายปีนี้ เพราะยังมีประเด็นที่รอคอยการอภิปรายร่วมกันค่อนข้างมาก” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้การพูดคุยจะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการตัดสินใจ หรือการบริหารจัดการในช่วงโควิด-19 เป็นหลัก แต่สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งละประเทศก็มักใช้โอกาสแสดงตัวตนหรือจุดยืนเมื่ออยู่ในเวทีระดับนานาชาติ ตัวอย่างที่เกิดทุกปีก็เช่นกรณีบาทบาทไต้หวันกับความเป็นประเทศสมาชิกของจีนครั้งนี้ยังมีกรณีของสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งในช่วงโควิด-19 ตามข่าวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามักกล่าวโทษจีนบ่อยครั้งว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามในขณะที่อเมริกาพยายามขู่ลดบทบาทการสนับสนุนในด้านต่างๆลง แต่จีนกลับแสดงบทบาทมากขึ้น เช่น การประกาศว่าหากวัคซีนผลิตได้สำเร็จจะเป็นสมบัติของมนุษยชาติ ที่สามารถเข้าถึงได้ หรือการสนับสนุนเงินกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการช่วยประเทศอื่นสู้โควิด-19 ดังนั้นแล้วในเชิงสัญลักษณ์จีนจึงได้ใจเยอะมากขึ้น และเป็นบทบาทที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบสุขภาพของโลก

“ส่วนประเทศไทยเองได้รับการยอมรับและมีบทบาทสูงในเวที ซึ่งเวลาประเทศไทยมีการเสนอหรือแสดงอะไรออกไป มักจะไม่ได้พูดให้กับประเทศ แต่เป็นการพูดให้กับสังคมโลก จากประสบการณ์การทำงานของไทยเป็นเครดิตที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเยอะพอสมควร บางครั้งเราสามารถใช้ประโยชน์จากเวทีระดับโลกย้อนกลับมาดำเนินงานภายในประเทศได้ เช่น อาจบางเรื่องที่ยังผลักดันในระดับประเทศยังไม่สำเร็จ แต่เมื่อถูกนำไปพูดและนำเสนอขึ้นมาในเวทีโลก ก็อาจได้ผลในการกระตุ้นกลับมากลายเป็นทิศทางของการทำงานได้” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ สรุปว่า การประชุมผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ แม้จะมีข้อดี เช่น ลดการเดินทาง ลดมลพิษ ไม่ต้องเสียเวลา แต่ก็มีข้อจำกัด เช่น time zone หรือเนื้อหาประเด็นที่ไม่สามารถพูดได้ยาวเหมือนเดิม เป็นต้น จึงมองว่า ในบางครั้งยังต้องการบรรยากาศการพบปะ การเจอหน้าพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งเทคโนโลยีทดแทนไม่ได้ แต่ขณะเดียวก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกันที่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม ผสมผสานเพื่อเติมเต็มซึ่งกันและกัน

"เช่นเดียวกับการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ปี 2563 ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแน่ๆ แต่จะเป็นการใช้เต็มรูปแบบ หรือนำมาผสมผสานอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องว่ากันต่อไป" ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ด้าน ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงประเด็น Electronic democracy ที่กำลังจะเป็นส่วนเข้ามาเสริมการเมืองในระบบปกติ หรือระบบนักการเมืองในสภา โดยภาพที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ การประชุมรัฐสภาเสมือน หรือ Virtual Parliament ที่เป็นการประชุมออนไลน์ โดยยังมีสัดส่วนของผู้ที่เดินทางเข้ามานั่งประชุมในบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ที่เหลือจะประชุมผ่านออนไลน์

“ตอนนี้ที่แคนาดาและอังกฤษมีการนำมาใช้ เป็นระบบที่ทดลองในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่บรรยากาศของรัฐสภาที่ไม่เหมือนเดิม รวมถึงประเด็นการคัดเลือกสัดส่วนผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมที่เหมาะสม ก็ยังเป็นข้อถกเถียง ทำให้มีทั้งเสียงที่อยากให้แบบนี้ทำต่อไป กับเสียงที่อยากให้ยกเลิก จึงยังต้องพัฒนาต่อว่าระบบนี้จะใช้ไปได้ขนาดไหน” ดร.ชลัท ระบุ

ดร.ชลัท กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้นอาจยังไม่จำเป็นมากนัก เนื่องจากรัฐสภามีสถานที่กว้างขวางกว่า รวมถึงสถานการณ์โรคระบาดไม่รุนแรงเท่าในฝั่งยุโรป แต่ Virtual Parliament อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งต้องดูข้อจำกัดว่าใช้ได้ในเรื่องอะไรบ้าง โดยอาจเป็นเรื่องที่ไม่ใหญ่ ไม่เกิดผลกระทบกับสาธารณะมากนัก หรืออาจนำไปใช้ในการประชุมคณะกรรมาธิการบางชุด เป็นต้น แต่ไม่สามารถนำมาใช้การโหวตเพื่อลงมติเรื่องสำคัญ ที่ยังจำเป็นต้องใช้การประชุมแบบเดิม ฉะนั้นจำเป็นต้องดูเป็นกรณีไป

นอกจากนี้ ในส่วนของการพิจารณาคดีออนไลน์ หรือ E-court ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มมีการพัฒนาขึ้นมาบ้างแล้วเพื่อใช้ในบางกระบวนการ เช่น การยื่นคำร้อง การไต่สวนข้อพิพาท หรือแม้แต่การรับฟังคำพิพากษา เป็นต้น ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังศาล โดยสามารถนำมาใช้กับคดีเล็กน้อย เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาคดีจำนวนมากที่ยังค้างท่ออยู่ แต่ไม่ใช่ในโทษคดีใหญ่หรือคดีที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งยังต้องอาศัยรูปแบบปกติอยู่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: