เผยคนไทยชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนมากกว่าการใช้เงินสด สัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1561 ครั้ง

เผยคนไทยชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนมากกว่าการใช้เงินสด สัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

บริษัท วีซ่า ประจำประเทศไทย เผยผลสำรวจ พบว่า 3 ใน 5 ของคนไทยกำลังพัฒนานิสัยในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด โดยเลือกที่จะใช้จ่ายด้วยบัตรชำระเงินหรือผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมากกว่าการใช้เงินสด นอกจากนี้ เกือบ 7 ใน 10 มีแนวโน้มที่จะผูกติดกับการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลแทนการกลับไปใช้เงินสดแบบเดิมหลังสถานการณ์ปัจจุบันสิ้นสุดลง | ที่มาภาพประกอบ: mohamed_hassan (Pixabay License)

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่ารายงานผลการสำรวจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนด้านอุปนิสัยและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวไทย ในยุคที่สังคมทั่วโลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ “นิวนอร์มอล” หรือ“วิถีชีวิตใหม่” โดยผลการศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างใน 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยจากการสำรวจพบว่า 3 ใน 5 ของคนไทย ร้อยละ 61 กำลังพัฒนานิสัยในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด โดยเลือกที่จะใช้จ่ายด้วยบัตรชำระเงินหรือผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมากกว่าการใช้เงินสด นอกจากนี้ เกือบ 7 ใน 10 ของคนไทย หรือร้อยละ 69 โดยกลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะผูกติดกับการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลแทนการกลับไปใช้เงินสดแบบเดิมหลังสถานการณ์ปัจจุบันสิ้นสุดลง

นายสุริพงษ์ กล่าวอีกว่าแม้ว่าประชากรทั่วโลกมีความกังวลในเรื่องสุขภาพร่างกาย กระนั้นก็ยังพบว่าผู้บริโภคชาวไทยและทั่วโลกกลับมีความกังวลด้านสุขภาพทางการเงินมากกว่า โดย 4 ใน 5 หรือร้อยละ 79 ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเห็นพ้องว่าสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีการปฏิบัติตัวในเชิงรุกมากขึ้นกับการวางแผนด้านกรเงิน เปรียบเทียบกับอีกครึ่งหนึ่งโดยประมาณร้อยละ 53 ที่มีความกังวลในเรื่องการเจ็บป่วย ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากเริ่มจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นครั้งแรก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้นในอนาคต จากผลการสำรวจร้อยละ 67 ของผู้บริโภคชาวไทย กล่าวว่า พวกเขาน่าจะมีการซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยเป็นจำนวนเกือบเท่าตัวของนักช้อปทั่วโลก ร้อยละ 35 และค่อนข้างจะมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 47 สำหรับนักช้อปในแถบเอเชียแปซิฟิกเมื่อพูดถึงประสบการณ์การช้อปปิ้ง มากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 54 ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทยกล่าวว่า การช้อปปิ้งออนไลน์ให้ประสบการณ์ที่ดีมากกว่าการช้อปปิ้ง ณ ร้านค้าแบบเดิม เปรียบเทียบกับข้อมูลร้อยละ46 ของกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก และร้อยละ 37 ของกลุ่มตัวอย่างทั่วโลก

การศึกษาครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าการเสริมสร้างนิสัยการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดกำลังก่อตัวขึ้นทั่วโลก โดยร้อยละ 61 ของกลุ่มตัวอย่างชาวไทย กล่าวว่า พวกเขาชอบที่จะชำระด้วยวิธีที่ไม่ใช้เงินสดมากกว่า ในทำนองเดียวกันร้อยละ 58 ของกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก และ ร้อยละ 64 ของ กลุ่มตัวอย่างทั่วโลก กล่าวว่า พวกเขาก็ชอบวิธีการชำระแบบไร้เงินสดมากกว่า แนวโน้มด้านการชำระเงินของผู้คนทั่วโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตดูจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยผู้บริโภคชาวไทยร้อยละ 69 เอเชียแปซิฟิก ร้อยละ 75 และทั่วโลก ร้อยละ 66 เลือกที่จะใช้วิธีการชำระแบบไร้เงินสดหลังจากสถานการณ์ในปัจจุบันสิ้นสุดลง

ในทางตรงข้ามมีเพียง 1 ใน 4 หรือร้อยละ 24 ของผู้บริโภคชาวไทย กลับไปชำระด้วยเงินสดอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก ร้อยละ 17 และทั่วโลก ร้อยละ 20 โดยผู้บริโภคที่เหลือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยังคงเลือกชำระเงินด้วยวิธีแบบใหม่นี้หรือกลับไปใช้วิธีการแบบเดิม นั่นคือร้อยละ 14 ของผู้บริโภคทั่วโลก ตามมาด้วยผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก ร้อยละ 8 และประเทศไทย ร้อยละ 7 โดยผู้บริโภคมีความคำนึงในเรื่องของราคามากขึ้นด้วย โดยเกือบ 4 ใน 5 ร้อยละ 78 ของคนไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องราคามากยิ่งขึ้น เทียบกับผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก ร้อยละ 59 และทั่วโลก ร้อยละ 53 นอกจากนั้นผู้บริโภคชาวไทยยังให้ความสนใจกับสินค้าลดราคา โดยร้อยละ 65 จะพุ่งความสนใจไปที่สินค้าปรับราคาลง เปรียบเทียบกับผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก

ส่วนการวางแผนทางด้านการเงินก็เป็นอีกประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในอันดับต้นโดยร้อยละ 79 ของคนไทยเชื่อว่ายามนี้พวกเขาจำเป็นต้องปรับตัวและให้ความสำคัญด้านการบริหารจัดการด้านการเงินของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างในเอเชียแปซิฟิก ร้อยละ 74 และทั่วโลก ร้อยละ 70

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: