เตรียมศึกษาความเหมาะสมโอนย้ายสนามบินกรมท่าอากาศยานให้ ทอท.

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2421 ครั้ง

เตรียมศึกษาความเหมาะสมโอนย้ายสนามบินกรมท่าอากาศยานให้ ทอท.

รมช.คมนาคม สั่งเบรคแผนโอนย้าย 4 สนามบิน อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ของกรมท่าอากาศยานให้ ทอท. หลังมีประเด็นส่อขัดกฎหมายทำไม่ได้ พร้อมสั่งจ้างหน่วยงานวิชาการเป็นกลางศึกษารายละเอียดให้เสร็จปี 2563 นี้ แง้มแนวทางให้ ทอท.เช่าบริหาร-ลงทุนดีสุด

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 ว่านายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการหารือกับผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน หรือ ทย. ว่าตามที่ก่อนหน้านี้ ครม.ได้มีมติให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาการโอนย้าย 4 สนามบิน ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.รับผิดชอบ หลังจากนั้นบอร์ด ทอท.ได้มีมติพร้อมที่จะรับการโอนย้าย 4 สนามบิน คือ สนามบิน อุดรธานี ตาก กระบี่ และบุรีรัมย์ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้การการโอนย้ายสนามบินต้องดำเนินการให้ถูกต้องระเบียบ กฎหมาย และเสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ซึ่งแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1.การโอนสนามบินให้ ทอท. 2.การจ้างให้ ทอท.มาเป็นผู้บริหารสนามบิน และ 3.แนวทางที่จะให้ ทอท.เช่าบริหาร และลงทุนในการพัฒนาในอนาคต

สำหรับแนวทางการโอนสนามบินไปให้ ทอท.ทันทีนั้น คงทำไม่ได้ เนื่องจากอาจมีประเด็นที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากท่าอากาศยานเป็นทรัพย์สินของ ทย. ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ หากมีการโอนไปให้ ทอท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผู้ลงทุนอื่นถือหุ้นอยู่ด้วยจะกลายเป็นลักษณะการโอนทรัพย์สินของราชการไปให้เอกชนหรือประชาชน ผู้ดำเนินการอาจกระทำผิดกฎหมายได้ ส่วนประเด็นที่จะจ้าง ทอท.บริหารท่าอากาศยานนั้น หาก ทอท.เข้ามาในพื้นที่และมีการใช้ทรัพยากรหรือ พนักงานข้าราชการ ของ ทย. ก็มีประเด็นที่สุ่มเสี่ยงจะขัดต่อกฎหมายอีก ดังนั้น แนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ แนวทางที่ 3 การให้ ทอท.เช่าบริหารพื้นที่และมีการลงทุนเพิ่ม เมื่อครบอายุสัญญาเช่าทรัพย์สินสนามบินก็ยังเป็นของราชการ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประเด็นดังกล่าวได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จะมีการนำเสนอคณะกรรมการที่มีการศึกษาดำเนินการเรื่องการโอนย้ายที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานอีกครั้งสัปดาห์นี้ รวมทั้งได้มอบให้ ทย.มีการว่าจ้างองค์กรวิชาการที่น่าเชื่อถือ เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มาทำการศึกษา เพื่อให้ได้รูปแบบที่มีความเหมาะสมและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน กระทรวงคมนาคมจะนำประเด็นข้อสรุปทั้งหมดรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ ขณะที่การศึกษาของหน่วยงานด้านวิชาการก็จะขอให้มีการเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: