กรมสุขภาพจิต ชี้แจงข้อสังเกตกรณีบทความคนฆ่าตัวตายช่วง COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 3547 ครั้ง

กรมสุขภาพจิต ชี้แจงข้อสังเกตกรณีบทความคนฆ่าตัวตายช่วง COVID-19

กรมสุขภาพจิต ชี้แจงข้อสังเกต กรณีบทความการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย โดยคณะผู้วิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลง ระบุนำเสนอและวิเคราะห์เลือกแสดงข้อมูลเพียงเดือน เม.ย. 2563 เท่านั้น โดยขาดการเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชากรในเดือนก่อนหน้านี้ และการนำข้อมูลเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 นั้น ก่อให้เกิดการตีความและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน | ที่มาภาพประกอบ: Emmanouil Noctifer (CC BY-SA 3.0)

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2563 เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต รายงานว่านายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีบทความที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2563 ซึ่งจัดทำโดยคณะผู้วิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลง ในหัวข้อ “การรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ” ซึ่งมีลักษณะคล้ายการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์วิจัย

กรมสุขภาพจิตได้นำบทความวิจัยนี้มาประเมินอีกครั้งโดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการวิจัยด้านสุขภาพจิต และพบข้อสังเกตจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิธีวิจัยและความถูกต้องของเนื้อหา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนได้ จึงขอชี้แจงข้อสังเกตดังนี้

1. งานวิจัยนี้เป็นเพียงบทวิเคราะห์สื่อและการนำเสนอปัจจัยสาเหตุจากมุมมองของสื่อมวลชน ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นตัวแทนหรือใช้เป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทยได้ เนื่องจากโดยปกติแล้วงานวิจัยด้านสุขภาพจิตต้องใช้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในการเก็บข้อมูลปัจจัยด้านสุขภาพจิต

2. การนำเสนอและวิเคราะห์เลือกแสดงข้อมูลเพียงเดือนเมษายนเท่านั้น โดยขาดการเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายของประชากรในเดือนก่อนหน้านี้ และการนำข้อมูลเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก่อให้เกิดการตีความและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

3. การอภิปรายผลการวิจัยโดยขาดการทบทวนวรรณกรรมหรืองานวิจัยสุขภาพจิตที่มีมาก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่อยู่บนพื้นฐานทฤษฎีด้านสุขภาพจิต อาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมากให้ประชาชน

โดยการกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาการฆ่าตัวตายกับปัจจัยใดเพียงปัจจัยเดียวนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปี 2561-2562 พบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้นมีความสลับซับซ้อนและเกิดจากกลุ่มปัจจัยที่มีการซ้อนทับกัน โดยปัญหาที่เป็นปัจจัยร่วมที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ปัญหาความสัมพันธ์ รองลงมาเป็น การใช้สุรา โรคทางกาย โรคจิตเวช และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงปี 2563 นั้น กรมสุขภาพจิตได้ทำการคาดการณ์ว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอาจสูงมากขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปีตามกลไกทางจิตวิทยาสังคมที่อยู่ในภาวะวิกฤต และปัจจัยด้านเศรษฐกิจจะมีบทบาทมากขึ้นและอัตราส่วนที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว โดยกลุ่มปัญหาความสัมพันธ์ (เช่น การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ความน้อยใจ ความหึงหวง) มักเป็นปัจจัยที่พบร่วมด้วยมากที่สุด อาจกล่าวได้ว่า หากบุคคลใดต้องเผชิญกับปัญหาส่วนตัวอย่างรุนแรง แต่มีทักษะการปรับตัว มีความยืดหยุ่น และมีคนที่เข้าใจอยู่รอบข้าง ก็จะเป็นปัจจัยปกป้องช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้อย่างดี ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาระบุว่าปัจจัยใดเพียงปัจจัยหนึ่ง เช่น เศรษฐกิจหรือนโยบาย เป็นเหตุแห่งการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายนั้น อาจก่อให้เกิดการมองข้ามความสำคัญในการจัดการกับปัจจัยอื่นๆที่มีร่วม หรือมองข้ามการใช้ปัจจัยความเข้มแข็งอื่นเป็นเครื่องป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมไทย

ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่นักวิจัยจากหลากหลายสาขาให้ความสนใจในการทำงานวิจัยด้านสุขภาพจิต ตรงกับเป้าหมายของกรมสุขภาพจิตที่ดำเนินงานผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพมาโดยตลอด ซึ่งหากข้อมูลมีความถูกต้องตามหลักวิชาการและเกิดจากการทำวิจัยบนระเบียบวิธีวิจัยที่ได้มาตรฐานแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก กรมสุขภาพจิตจะยังคงดำเนินการติดตามปัญหาเรื่องการฆ่าตัวตายในสังคมไทยอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง และทำงานเชิงรุกประสานกับภาคประชาสังคมในการจัดการปัญหาในทุกมิติที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในสังคมไทยต่อไป

แถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2563 มีการเผยแพร่ "การแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ" ในสื่อต่างๆ โดยคณะนักวิจัย โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง (ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดังนี้

ภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสังคมไทย รัฐบาลได้เลือกใช้มาตรการอย่างเข้มงวดและรุนแรงในการควบคุมโรค เช่น นโยบายการปิดห้างสรรพสินค้า, การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”, การปิดเมือง หรือ lockdown ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนได้อย่างเสรี, การปิดสถานบันเทิง การปิดตลาดนัด ไม่อนุญาตให้นั่งในร้านขายอาหาร ฯลฯ ในด้านหนึ่ง ดูราวกับว่าสังคมไทยจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุของไวรัสโควิด-19 มีจำนวนที่น้อยลงเป็นอย่างมากในช่วงเดือนเมษายน 2563 แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับพวกเราทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายของประชาชนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน และมีข้อมูลที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากมาตรการของรัฐมุ่งเน้นการจัดการด้านสาธารณสุข แต่ละเลยการจัดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โครงการวิจัยฯ มีสมมติฐานว่าผลกระทบต่อประชาชนจะเกิดติดตามมาอย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มาจนถึงวันที่ 21 เมษายน 2563 เป็นต้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ด้วยการรวบรวมข้อมูลของสื่อมวลชนที่มีการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายและมีข้อมูลรายละเอียดที่ยืนยันหรือแสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐ เช่น เวปไซต์มติชน, ไทยรัฐ, ผู้จัดการ, อัมรินทร์, one ช่อง 31 เป็นต้น

จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า นับแต่วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563) พบว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 38 ราย ดังกราฟเปรียบเทียบข้างล่างนี้

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง ดังที่มีการแถลงข่าวรายวัน, การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด, การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฎกรรมที่สามารถป้องกันได้หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรงจนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ หลายกรณีปรากฏอย่างชัดเจนว่าความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท คือสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของผู้ที่ทำการฆ่าตัวตายจะพบว่า
- เป็น เพศชาย จำนวน 27 ราย เพศหญิง จำนวน 11 ราย
- เป็น ลูกจ้าง/ผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เช่น พ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม เป็นต้น
เป็นผู้ประกอบการ/เจ้าของธุรกิจรายย่อย จำนวน 3 ราย
- อายุเฉลี่ย 40 ปี

ข้อเท็จจริงข้างต้น สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนเมืองซึ่งต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที และผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสาหลักหรือรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับการตกงานหรือไม่มีงานทำอย่างเฉียบพลันก็นำมาซึ่งแรงกดดันอันไพศาลทั้งต่อตนเองและครอบครัว

จากข้อมูลที่ได้รวบรวมและนำเสนอเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจากไวรัสโควิด-19 คณะนักวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ดังนี้

ประการแรก รัฐบาลควรตระหนักให้มากกว่านี้ว่า การฆ่าตัวตายของประชาชนเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่กลับไม่มีมาตรการในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม เราหวังว่า รัฐบาลจะมีมโนธรรมสำนึกและพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้นอีก อย่างน้อยต้องมีการจัดเตรียมสายด่วนให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสได้แจ้งปัญหาและมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจฆ่าตัวตายไปมากกว่านี้ ข่าวประชาชนฆ่าตัวตายจากพิษโควิด-19 ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกนับแต่นี้เป็นต้นไป

ประการที่สอง รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้กว้างขวางและรวดเร็ว บนฐานคิด “ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า” ไม่ใช่ “สงเคราะห์เพียงบางคน” การเรียกร้องให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพียงด้านเดียว แต่การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที จะทำให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังและข้างทางเป็นจำนวนอันไพศาล มาตรการเยียวยาจึงต้องชัดเจนและฉับไวมากขึ้น รวมทั้งการกระจายปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นระบบ มิใช่รอให้เป็นการแจกจ่ายในหมู่ประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว

ประการที่สาม ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูง จำเป็นต้องมีการ “เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ” เช่น ตลาด ร้านค้ารายย่อย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าหากมีการจัดการที่มีระบบและด้วยความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งประชาชน องค์กรเอกชน และหน่วยงานรัฐ ก็จะสามารถมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ไปพร้อมกัน

ประการที่สี่ รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน, การข่มขู่ว่าจะมีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉินต่อผู้ประสงค์จะแจกอาหาร, การจับกุมคนไร้บ้านด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, , การจับกุมและลงโทษบุคคลด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันในการกระทำเดียวกัน เป็นต้น

แน่นอนว่าการรับมือกับไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันการใช้มาตรการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ก็ควรต้องเป็นไปเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถก้าวพ้นจากปัญหาไปได้ รัฐบาลไม่ควรใช้นโยบาย กฎหมายหรือมาตรการอย่างเข้มข้น จนสร้างภาระและความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในระดับที่ไม่สามารถประกอบอาชีพ หารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

การดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นแต่การควบคุมโรคโดยปราศจากความรู้และความเข้าใจถึงชีวิตของประชาชนคนธรรมดา อาจทำให้เราได้สังคมที่หลุดพ้นไปจากไวรัสโควิด-19 หากแต่จะดาษดื่นไปด้วยซากศพของประชาชนในระหว่างทาง กรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจนับว่าสังคมไทยประสบความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับการรับมือกับโรคร้ายครั้งนี้แต่อย่างใด

สกสว. เผยแพร่คำชี้แจง กรณีการแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายฯ ของคณะนักวิจัย โครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ต่อมาในวันที่ 27 เม.ย. 2563 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยแพร่คำชี้แจง กรณีการแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายฯ ของคณะนักวิจัย โครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ดังนี้

คำชี้แจง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กรณีการแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายฯ ของคณะนักวิจัย โครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง”

กรณีการแถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายฯ ของคณะนักวิจัย โครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ซึ่งได้รับความความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมเป็นวงกว้างนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ขอชี้แจง ข้อเท็จจริง ดังนี้

1. นักวิจัยคณะดังกล่าว เป็นคณะนักวิจัยในโครงการ “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง : การสังเคราะห์ภาพรวม” (Dynamics of Urban Poor in the Changing Urban Society) ซึ่งรับทุนสนับสนุนการวิจัยไว้เมื่อปี พ.ศ. 2562 และยังดำเนินการวิจัยอยู่ จึงยังไม่มีรายงานฉบับสมบูรณ์ของการวิจัยดังกล่าว แต่คณะนักวิจัยได้มีข้อค้นพบระหว่างการวิจัยที่คณะนักวิจัยเห็นว่ามีความสำคัญ จึงจัดการแถลงข่าวดังที่ปรากฏ แต่มิใช่ขั้นตอนที่ สกสว. กำหนดให้ดำเนินการ

2. หลักปฏิบัติซึ่งใช้กับทุกโครงการวิจัย และเป็นข้อความที่กำหนดอยู่ในสัญญารับทุนวิจัยด้วย คือ ความเห็นที่เผยแพร่นั้นเป็นของผู้วิจัย สกสว. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป ทั้งนี้เพราะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. เดิม ซึ่งเปลี่ยนมาเป็น สกสว. โดยผลของกฎหมาย) ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยใน ทุกสาขาวิชาการอย่างกว้างขวาง ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในทางวิชาการของนักวิจัย และการเผยแพร่เพื่อให้ข้อมูลหรือเพิ่มการตระหนักรู้ของสังคมย่อมเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่นั้น นักวิจัยย่อมต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดถึงการตรวจสอบจากวงวิชาการและสังคมด้วย

สกสว. ขอยืนยันว่า ในฐานะผู้ส่งเสริมระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและประชาชน มีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ด้วยองค์ความรู้ และผลงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

คณะนักวิจัยฯ ชี้แจงเป็นงานเสริม ของคณะนักวิจัยที่ได้ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว มิได้เสนอโครงการขอรับงบประมาณเพิ่มจากงานเดิมแต่อย่างใด เป็นการทำงานด้วยความห่วงใยสังคม และตระหนักถึงพันธกิจที่นักวิชาการพึงมีต่อสังคม

ทั้งนี้เพจคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 ได้ชี้แจงความเป็นมาของการนำเสนอผลการสำรวจและการรวบรวมข้อมูลของคณะนักวิจัยฯ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2563 ดังนี้

ขออนุญาต เล่าถึงความเป็นมาของการนำเสนอผลการสำรวจและการรวบรวมข้อมูลของคณะนักวิจัยที่ผ่านทางช่องทางเพจนี้นะครับ คณะนักวิจัยที่ปรากฎชื่อเป็นทีมวิจัยเรื่อง "คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง" เป็นคณะนักวิจัยที่ได้เริ่มงานวิจัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2562 งานวิจัยภาพรวมยังดำเนินการอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 การลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำวิจัย ไม่อาจทำได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อคนจนเมืองที่เรากำลังศึกษาเรียนรู้อยู่ (ถ้าเราจะเลือกที่จะอยู่เฉย ๆ ด้วยเหตุผลว่า ช่วงนี้ไม่เหมาะที่จะทำอะไร เพราะสถานการณ์โควิด-19 ก็อาจจะอ้างได้ แต่เราไม่เลือกเช่นนั้น) ทีมวิจัยเห็นว่า เราจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่คนจนเมืองกำลังประสบจากมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรคโควิด-19 ทีมวิจัยจึงทำงานเสริมงานวิจัยที่มีอยู่เดิม ด้วยการสำรวจเพื่อรวบรวมข้อมูลที่สะท้อนถึงสถานการณ์ที่คนจนเมืองกำลังเผชิญ ดังที่ได้มีการรายงานการสำรวจไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 และก็ได้เปิดเพจนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ

ส่วนการแถลงกรณีผู้เสียชีวิตและผู้ฆ่าตัวตายจากโควิด-19 ดังที่เอกสารได้ชี้แจงว่า "มาจากการรวบรวมข้อมูล" ที่ปรากฎในสื่อมวลชน "เฉพาะ" การฆ่าตัวตายหรือการพยายามฆ่าตัวตายที่มีการระบุว่าสัมพันธ์กับโควิด -19 เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้นักหนาเพียงใด จึงทำให้คนหลายคนเลือกที่จะจบชีวิตเช่นนั้น ประเด็นที่ ทีมวิจัยพยายามจะสือ่ก็คือ รัฐบาลจำเป็นต้องตระหนักถึงความหนักหนาของสถานการณ์ขณะนี้ และช่วยกันหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที หากผู้อ่าน เห็นว่า ข้อมูลและประเด็นที่ทีมวิจัยนำเสนอ มีเหตุผลน่ารับฟัง ทีมงานก็ยินดี ท่านที่เห็นประเด็นที่ทีมวิจัยนำเสนอ แต่ท้วงติงในเชิงข้อมูลที่นำมาใช้ คณะนักวิจัยยินดีรับฟัง ส่วนท่านที่มีทัศนะที่ต่างกับทีมวิจัยตั้งแต่ต้น เราก็เคารพความคิดเห็นและทัศนะที่ต่างกันเช่นกัน

กล่าวโดยสรุป งานสำรวจและการรวบรวมข้อมูล ที่ได้เผยแพร่ผ่านเพจนี้ สองครั้ง เป็นงานเสริม ของคณะนักวิจัยที่ได้ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว คณะนักวิจัยมิได้เสนอโครงการขอรับงบประมาณเพิ่มจากงานเดิมแต่อย่างใด เป็นการทำงานด้วยความห่วงใยสังคม และตระหนักถึงพันธกิจที่นักวิชาการพึงมีต่อสังคม

อย่างไรก็ดี การนำเสนอผลการสำรวจและการรวบรวมข้อมูล ณ ที่นี้ เป็นผลการศึกษาและการวิเคราะห์ของคณะนักวิจัยเท่านั้น
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และการนำเสนอ ณ ที่นี้ มิได้มีเจตนาวิพากษ์การทำงานของบุคลากรทางด้านสาธารณสุข แต่ประการใด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: